Tuesday, November 22, 2005

 

คณะละครสัตว์การศึกษา...The Education Circus

โดยส่วนตัวลึกๆแล้ว...ผมไม่ค่อยจะอยากเขียนบทวิพากษ์ถึงเรื่องการศึกษาเท่าไรนัก

เพราะผมเป็นนักศึกษารีไทร์...

ใช่ว่าเป็นเจ็บเป็นแค้นหนักหนากับสถานภาพของตัวเองที่ระบบการศึกษาในบ้านเราได้มอบให้ เพราะย้อนมองความประพฤติของตัวเองแล้ว สิ่งที่ผมได้รับมานั้นก็ถือว่าสาสมอยู่ หากแต่เป็นเพราะด้วยอัตสถานภาพดังกล่าวทำให้ผมกลัว กลัวจะถูกมองว่าทัศนคติเชิงลบใดๆที่ได้แสดงออกไปนั้น ได้ถูกกลั่นกรองออกมาจากอคติอันเกิดจากความคิดแค้นส่วนตัวจากการถูกขับออกจากสถานภาพนักศึกษาของตัวเอง

แต่ครั้นจะเงียบด้วยยอมจำนนต่อใจกลัวก็กระไรอยู่...

เช่นนั้นแล้วก็คงเป็นการดีกว่า หากผมจะลงมือเขียนบทวิพากษ์ เพื่อเปิดโอกาสและเชื้อเชิญให้เกิดวิจารณาภิปรายจากแหล่งความคิดใดๆที่บทวิพากษ์ของผมได้ผ่านไปสู่สายตา

มีเรื่องเล่าอยู่ว่า...สิงโตนั้นจะผลักลูกของตัวเองให้ตกลงไปในเหว

พฤติสัญชาตญาณดังกล่าวนั้นมิได้เป็นไปเพื่อฆ่า หากแต่เป็นไปโดยมีจุดประสงค์ให้ลูกน้อยนั้นได้รู้จักเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง ลับเสี้ยมเหลี่ยมเล็บสัญชาตญาณจนสุดแหลม เพื่อได้เติบโตขึ้นเป็นพญาสิงห์ผู้องอาจสมดั่งพงศ์ตน

มนุษย์ก็เช่นกัน...

เรามีห้วงเหวเชิงอุปมาหุบใหญ่ยักษ์ที่เรียกว่าสังคม แม้จะไม่ใช่หุบเหวเชิงภูมิศาสตรภาพอย่างเช่นเรื่องเล่าของสิงโต แต่หุบเหวสังคมนั้นก็มีความเข้มข้นในการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ อีกทั้งลับเหลี่ยมสัญชาตญาณในการเอาชีวิตรอดที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แต่จากความที่ต้นบท คงพอจะเดากันได้ว่า ที่ผมจะพูดถึงในวันนี้นั้นไม่ใช่หุบเหวหน่วยระดับมหัพภาคอย่างสังคม แต่เป็นหุบเหวหน่วยย่อยที่เรียกว่าการศึกษา หุบเหวหน่วยย่อยที่ใหญ่และสำคัญเพียงพอจะยกให้เป็นเสาหลักหนึ่งของสังคม

ด้วยความสำคัญที่แทบจะทุกคนเยียดย่องยกยัดให้...คงยากจะปฏิเสธได้ว่าทุกวันนี้นั้นการศึกษาได้ขึ้นแท่นเป็นเอกฉันท์แห่งสังคมประการหนึ่งไปแล้ว

การศึกษาจะทำให้คนเต็มคน...
ติดเพียงว่า...การศึกษานั้นคือหุบเหวแห่งการฝึกตนจริงหรือไม่?

สิ่งมีชีวิตชนิดคนนั้นมีทรัพยากรตั้งต้นที่มีค่าเหนือยิ่งกว่าสิ่งสัตว์ใด นั่นคือสมอง สมองของมนุษย์นั้นมีคุณสมบัติเป็น “คณิตกรชีวภาพศักยภาพสูง” (High Potential Bio-computer) สามารถมีกรรมต่อข้อมูลในรูปของการจัดเก็บ ประมวลผล เผยแพร่ ทั้งยังมีคุณสมบัติทางชีวภาพคือสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้สูงยิ่งขึ้นไปได้ด้วยการฝึกฝน

ทั้งนี้ทั้งนั้น...การศึกษาน่าจะเป็นตัวจักรหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของคณิตกรชีวภาพดังกล่าว

คำถามคือ...ระบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคณิตกรชีวภาพดังกล่าวไปในทิศทางใด?

คงต้องขอแบ่งการศึกษาในบ้านเราออกเป็นสองช่วงดังนี้คือ ช่วงแรก เป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก และช่วงที่สอง คือการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย

Q : ผมใช้อะไรเป็นเกณฑ์แบ่ง?
A : เป้าประสงค์การสร้างที่มองเห็นจากระบบการศึกษา

ผมไม่ทราบว่าเป้าประสงค์ตั้งต้นที่แท้จริงของการศึกษานั้นคืออะไร แต่จากการได้รับและมองดูระบบการศึกษาที่ผ่านๆมา ผมมองเห็นว่าเป้าประสงค์ของการศึกษาทั้งสองช่วงที่น่าจะส่งเสริมกันนั้นกลับไม่สอดคล้องกัน

ด้วยคุณสมบัติความเป็นคณิตกรชีวภาพของสมอง การพัฒนา(Upgrade)ฮาร์ดแวร์ทีละส่วนอย่างในคณิตกรทั้งแบบตั้งโต๊ะและตั้งตักทั่วไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ เพราะอาจทำให้เกิดการรวนจนถึงขั้นล่มสลายของระบบได้ในกรณีที่คณิตกรชีวภาพก้อนนั้นๆไม่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเพียงพอ

จากที่ตัวเองได้สัมผัสมา จะเห็นว่าการศึกษาในช่วงแรกนั้นมุ่งเน้นสร้างและพัฒนาก้อนคณิตกรชีวภาพให้โดดเด่นในเรื่องของการทำซ้ำเพื่อจัดเก็บข้อมูลในรูปสำเนา คือมุ่งเน้นไปในเรื่องการการฝึกทักษะการจำ เน้นเป้าประสงค์ในเรื่องของการสร้างเครื่องถ่ายเอกสารคุณภาพดีแทนที่จะเป็นเครื่องวิเคราะห์ประมวลข้อมูลคุณภาพเยี่ยม

การเรียนการสอนในช่วงระดับดังกล่าวนั้น มุ่งเน้นให้เกิดการจดและจำมากกว่าที่จะเป็นความเข้าใจ ระยะเวลาตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่หกนั้นกินเวลายาวนานถึงสิบสี่หรือสิบห้าปีเต็ม ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานเพียงพอจะขีดกรอบความสามารถของคณิตกรชีวภาพบางก้อน หรือหลายๆก้อนให้พบจุดจบอยู่ที่ความเป็นเครื่องถ่ายเอกสารคุณภาพดี โดดเด่นในเรื่องของการทำสำเนาคุณภาพดีที่คมชัด แต่อ่อน(เกินจะ)หัดในความสามารถของการเป็นตัวประมวลผล

นอกจากรูปแบบการสอนที่เน้นไปในเรื่องของการจดจำแล้ว ตัวชี้วัดประเมินผลของการศึกษาในช่วงแรกยังช่วยสำทับขับดันความเป็นเครื่องถ่ายเอกสารของคณิตกรชีวภาพหลายๆก้อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก เนื้อหาของข้อสอบปรนัยที่เคยผ่านตาและผ่านหูรับรู้มานั้น ผลักดันให้ข้อสอบเป็นได้อย่างดีที่สุดเพียงเครื่องวัดทักษะการท่องจำ

ยิ่งผลการศึกษาหรือเกรดที่อยู่ในระดับสูงสามารถให้ผลรางวัลเป็นความชื่นชม คำสรรเสริญเยินยอ ความนับหน้าถือตา เป็นวัตถุสิ่งของที่เจ้าของเกรดต้องการหรืออยู่ในรูปตัวเงินรางวัลอันเป็นอภินันทนาการจากพ่อแม่ เป็นโอกาสทางการศึกษาต่อที่ดีกว่า เหล่าเจ้าของคณิตกรชีวภาพดังกล่าวก็ยิ่งแห่แหนตะบี้ตะบันฝึกฝนทักษะในการท่องจำกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา

นั่นคงพอจะเอามาเป็นเหตุผลได้ว่า...ทำไมเจ้าของคณิตกรชีวภาพหลายรายจึงพ่ายแพ้ให้กับวิชาคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ขั้นสูงของระดับการศึกษานั้นๆอย่างราบคาบ

อาจเพราะเจ้าของคณิตกรชีวภาพเหล่านั้นจำสูตรได้...แต่เอาไปใช้ไม่เป็น

กับทั้งยังไม่มีความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนเพียงพอ เป็นผลทำให้ตีโจทย์ไม่แตก เมื่อตีโจทย์ไม่แตกก็ตอบโจทย์ไม่ได้ พอตอบโจทย์ไม่ได้ก็ไม่รู้จะแก้โจทย์ยังไง เมื่อไม่รู้จะแก้โจทย์ยังไงก็ปูทางไปสู่การใช้สูตรที่จำได้ไม่เป็น
เพียงจำสูตรได้ใช่ว่าจะได้คำตอบ...
จนปัญญาหนักเข้าก็แก้ปัญหาด้วยวิธีลัด เอาตัวเลือกคำตอบไปแทนค่าตัวแปรในโจทย์ ซึ่งก็มีอยู่บ่อยครั้งที่ช่องโหว่ทางการวัดผลดังกล่าวเปิดกว้างอย่างไม่ได้รับการอุด หรือหนักข้อกว่านั้น ก็ทำการเอาตัวรอดโดยใช้ “สารสนเทศกองโจร” หรือก็คือการรวมหัวกันลอกข้อสอบนั่นเอง
อันที่จริง...ข้อสอบปรนัยนั้นไม่ใช่ตัววัดผลที่ไม่ดี
จากที่เคยสัมผัสมา หากมีการออกแบบเนื้อหาที่ดี ข้อสอบปรนัยสามารถสร้างความกดดัน สับสน ขนพองสยองเกล้าราวกับผู้สอบกำลังประจันอยู่กับนายทวารร่างยักษ์ที่แข็งแรงและแกร่งกร้าว ที่หากอาวุธในมือตนมีเพียงหอกแห่งการจดจำแล้วก็คงไม่อาจล้มมันลงได้
หอกหัก...อย่างแน่นอน
เหตุที่ข้อสอบปรนัยที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีสามารถเป็นวงกตมรณะได้ขนาดนั้นก็คือ อย่าลืมว่าการกาผิดคำตอบในข้อสอบปรนัยนั้นสามารถก่อกำเนิดคะแนนศูนย์ในพริบตา อันจะมาอุทธรณ์ขอค่าน้ำหมึกจากการสาดน้ำหา (ด้านเลวของเนื้อหา) วัดดวงอย่างในข้อสอบอัตนัยนั้นเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นแล้ว หากยังไม่มีการออกแบบรูปแบบการประเมินวัดผลที่ดี คณิตกรชีวภาพทั้งหลายก็คงมีอันต้องหยุดการเจริญเติบโตไว้เพียงแค่สถานะของเครื่องถ่ายเอกสารเท่านั้น
มาต่อกันที่การศึกษาช่วงหลัง...อุดมศึกษามหาวิทยาลัย
ดังได้กล่าวมาแล้วความว่า ระยะเวลาสิบสี่หรือสิบห้าปีแห่งวังวนการศึกษาช่วงแรกนั้นยาวนานเพียงพอจะสกัดกั้นความสามารถของคณิตกรชีวภาพหลายๆเครื่องให้หยุดอยู่เพียงความเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร
แล้วทีนี้...ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นมีเป้าประสงค์เป็นอย่างไร?
ผมรู้สึกว่า ในระดับอุดมศึกษานั้น การศึกษาเป็นไปในระบบ Child Center โดยตัวมันเอง (หรือเรียกให้ถูกคงต้องว่าเป็น Juvenile Center เพราะอายุอานามก็ไม่ใช่เด็กๆกันแล้ว) คืออาจารย์ผู้สอนนั้นจะเป็นผู้ให้ความรู้และชี้แนะแนวทางในส่วนหนึ่ง และในส่วนที่เหลือนั้น ตัวนัก (ใฝ่) ศึกษาจะต้องค้นคว้าหาไขว่เอาเอง ทั้งด้วยการศึกษาจากตำราและนำพาความรู้ตั้งต้นที่อาจารย์มอบให้ไปศึกษาต่อยอด
ซึ่งตรงนี้เองที่ต้องใช้คณิตกรชีวภาพในฐานะของโพรเซสเซอร์(ตัวประมวลผลข้อมูล)...
ก็เลยให้ข้องใจว่า แล้วไอ้คณิตกรชีวภาพที่ดำรงตนอยู่ในสถานภาพของเครื่องถ่ายเอกสารมาตลอดสิบสี่สิบห้าปีนั้น จะมีสักกี่ก้อนกันที่สามารถพาตัวเองก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นโพรเซสเซอร์คุณภาพดีได้
แค่เครื่องถ่ายเอกสารชั้นดี...บางก้อนยังไม่มีปัญญาจะเป็นได้เลย
ทั้งตัวข้อสอบที่ใช้วัดผลนั้นก็เป็นแบบอัตนัย เป็นอัตนัยที่ต้องใช้ความสามารถทั้งส่วนจดจำและส่วนประมวลผลของคณิตกรชีวภาพ คือต้องรู้ว่าโจทย์กำลังถามอะไร รู้ว่าเรื่องอะไรที่ต้องใช้เพื่อการตอบโจทย์แบบนี้ ส่วนจะเขียนตอบออกมาอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของคณิตกรชีวภาพก้อนนั้นๆมีความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองจดจำมาได้มากน้อยเพียงใด และสามารถนำสิ่งที่จดจำมาได้นั้นไปใช้ได้ในระดับไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่มีให้ต่อสิ่งที่จดจำมาได้นั่นเอง
ผมเรียกปรากฏการณ์ความสับสนในการใช้ฮาร์ดแวร์นี้ว่า...ไบโอฮาร์ดแวร์ช็อค (Bio-hardware Shock)
ความคุ้นเคยกับการใช้ฮาร์ดแวร์ส่วนความทรงจำในการตอบปัญหาทางการศึกษาคงทำให้คณิตกรชีวภาพหลายๆก้อนใช้ส่วนความทรงจำไปทำงานในส่วนที่เป็นหน้าที่ของการประมวลผล เหมือนการเอาฮาร์ดดิสก์ไปเสียบไว้ในที่ของโพรเซสเซอร์ ผลคือทันทีที่มีการบูทเครื่องเกิดขึ้น ทุกอย่างก็ฉิบหาย
ตาย…กันถ้วนหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น แม้เจ้าของคณิตกรชีวภาพบางคนจะสามารเรียนรู้และเข้าใจและพยายามใช้ฮาร์ดแวร์ส่วนโพรเซสเซอร์ แต่ไหนเลยที่มือที่เคยชินกับการระบายคาร์บอนลงบนกระดาษคำตอบจะสามารถถ่ายทอดข้อมูลที่โพรเซสเซอร์ของคณิตกรชีวภาพประมวลออกมาได้อย่างดีเพียงพอ
จึงมีเพียงเจ้าของคณิตกรชีวภาพเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถผ่านไปอย่างรุ่งโรจน์...
กับอีกมากมายที่รอดผ่านไป...อย่างร่อแร่
ผมอยู่ในพวกหลัง...ทั้งยังรุนแรงถึงขั้นร่วงโรย
เช่นนั้นแล้วจึงสมควรแก่การตั้งคำถามว่า ระบบการศึกษาที่ต่างได้เผชิญมาแต่วัยเด็กนั้นคือหุบเหวฝึกตน หรือคือสิ่งใดกันแน่?
ผมเห็นมันเป็นคณะละครสัตว์...
พญาสิงห์ผู้หวังให้ลูกเติบโตอย่างสง่างามได้ผลักลูกตัวเองเข้าไปในคณะละครสัตว์ด้วยเข้าใจว่ามันคือหุบเหว ผลคือแทนที่จะได้เหี้ยมหาญชาญสง่าสมลูกพญาสิงห์ เจ้าสิงห์น้อยกลับต้องห่อแหบอยู่แทบสองเท้าด้วยฤทธิ์แส้ที่เรียกว่าการศึกษา มันหวดฟาดจนเสียสิ้นซึ่งลวดลาย ใช้ชีวิตอยู่อย่างน่าอับอายโดยไม่เคยได้รู้ตัว มันจำได้เพียงว่าถ้าเจอบ่วงไฟ มันต้องเสี่ยงหนวดไหม้หางพองเพื่อกระโจนลอดหว่างบ่วง แส้ที่เคยหวดหลังเฆี่ยนพื้นทำให้มันเจ็บหวาดจนตามัว มองไม่เห็นว่าข้างบ่วงมีพื้นที่ว่างมากมายให้สามารถเดินอ้อมผ่านไปโดยไม่ต้องเสี่ยงร้อน ทั้งยังหวาดกลัวฤทธิ์แส้ เจ็บด้วยแส้มาแต่เด็กจนลืมนึกไปว่า หากทนเจ็บต่อแรงหวดฟาดของสิ่งไร้ชีวิตนั่นได้ มันก็สามารถกางเล็บตะปบหัวของสิ่งมีชีวิตที่ถือแส้ได้
เกิดเป็นสิงห์ก็ควรอยู่และดับอย่างสิงห์!!
ไม่ใช่ตายไปเยี่ยงลิงเยี่ยงแมว...
ผมว่า...คณะละครสัตว์ที่ไม่ค่อยโสภานี้ควรจะถูกปิดม่านลงเสียที

This page is powered by Blogger. Isn't yours?