Wednesday, July 27, 2005

 

เรื่องสั้นของผม...ลงหนังสือ


ในที่สุด...ก้าวแรกแห่งการเป็นนักเขียนของผมก็มาถึง
ปลายปีที่แล้วผมได้ส่งเรื่องสั้นของตัวเองเข้าร่วมประกวดในโครงการนายอินทร์อวอร์ด...
สองเดือนก่อนคณะกรรมการแจ้งว่าเรื่องของผมเข้ารอบ และจะได้รับการตีพิมพ์อย่างแน่นอน
บัดนี้...มันออกมาแล้ว
เรื่องที่ชนะคือ "บุหลันแรม"
โดยผู้เขียนคือ "เงาจันทร์"
ส่วนเรื่องของผมอยู่ในรูปทางขวา...ที่ไฮไลท์ไว้
Inevitable Instinct เขาและเธอ
...มันอาจจะไม่ใช่ผลงานที่ดีนัก กว่าครึ่งของงานกรุ่นกลิ่นบทรัก และผมอาจจะไม่ชนะเลิศ...
...แต่ประตูสู่การเป็นนักเขียนของผมเปิดออกแล้ว...
อาจจะฟังแปลกๆ...แต่ผมดีใจกับตัวเองจริงๆครับ
จากจุดเริ่มนี้...วันหนึ่งผมจะพิสูจน์ให้ทุกคนได้รู้ว่าไม่ได้มีแต่ปริญญาที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ
ตอนนี้ก็ขอตัวไปอ่านเรื่องสั้นของผู้เข้ารอบท่านอื่นๆก่อนครับ

Sunday, July 24, 2005

 

โศกนาฏกรรมเมื่อปลายตีสอง

ผมเชื่ออยู่เสมอว่า..
"มนุษย์มักจะเย็นชากับสิ่งที่เป็นปรกติ เย็นชาอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งมันทนไม่ไหวและหนีจากไป"

บัดนั้นแหละจึงรู้สึก...

ผมกำลังซาบซึ้งกับคำพูดของตัวเอง สามนาทีก่อน อยู่ดีๆคอมพิวเตอร์ของผมก็รีสตาร์ทตัวเอง ระหว่างรอเครื่องบูธและดิสก์เช็คกิ้ง ผมตัดสินใจลงไปข้างล่างเพื่อดับกระหายด้วยเป๊ปซี่ที่ซื้อมาเมื่อตอนหัวค่ำ

สะดุด...ผมสะดุด

พอหันไปมองสิ่งที่สะดุด ผมมองเห็นสายไฟพัดลม แรงสะเทือนจากการสะดุดรุนแรงพอจะทำให้ผมต้องรีบหันไปมองพัดลมคู่ชีพทันที

โอ้แม่เจ้า!! ล้ม!! มันกำลังล้ม!!

มันล้มหน้าคะมำลงมาจากเก้าอี้ที่ผมตั้งมันไว้ หน้ากระแทกพื้น ตะแกรงครอบหลุดกระเด็น

อะไรบางอย่างพุ่งมาหยุดอยู่ตรงปลายตีนผม...

แหม...ยังกะในหนัง หยุดซะปลายตีนพอดิบพอดี ผมก้มลงมอง...โอ้แม่เจ้า!! ใบพัด!! มันคือเศษใบพัด!!

ผมรีบหันไปมองพัดลมที่ตอนนี้กลายเป็นพัดล้มไปแล้ว...

จะด้วยความเจ็บปวดจากการหน้ากระแทกพื้นจนแหกหรือด้วยแรงใบพัดที่ยังหมุนติ้วก็ตาม พัดลม(ล้ม)คู่ชีพของผมนอนก้มหน้าดิ้นพราดๆอยู่บนพื้น

ผมตัดสินใจยุติความทรมานของมันด้วยการดึงปลั๊กออกทันที...

หลังจากทุกอย่างสิ้นสุดลง ผมก้าวเท้าเดินไปหามัน หยิบมันขึ้นมาตั้งอีกครั้ง

อนิจจา...ใบพัดหนึ่งในสามใบมีรอยแหว่งเสียแล้ว

หลังจากโมงยามแห่งความอึ้ง ผมตรวจตราความแน่นของหมุดยึดใบ มันยังแน่นดี ผมหยิบฝาตะแกรงขึ้นมาครอบ ประกอบจนเข้าที่ เดินไปเสียบปลั๊กแล้วลองเปิดมันดู

ใบพัดเริ่มหมุน...ผมยิ้ม
พัดลมเริ่มเต้น...ผมยิ้มไม่ออก
รอยแหว่งสองรอยบนใบพัดใบหนึ่งได้ทำลายสมดุลการหมุนของใบพัดทั้งหมดไปแล้ว...
ตอนนี้ไม่มีมันแล้วผมถึงได้รู้ว่าในยามค่ำคืนแบบนี้ห้องผมร้อนแค่ไหน...

บัดนี้ ผมเอามันไปตั้งไว้ที่มุมห้อง มันนั่งก้มหน้าอยู่ตรงนั้น แลดูเศร้าสร้อย แต่ก็แอบไม่แน่ใจว่ามันหรือผมกันแน่ที่เศร้า?

สิ่งที่ยังค้างคาในใจก็คือ "ที่ไหนมีใบพัดพัดลมขายบ้างฟะ!!... "

Wednesday, July 20, 2005

 

ไม่มีอะไร


ผมชอบรูปนี้มากๆอะ...มันบ่งบอกความเป็นตัวเองดี
หัวกลมดูดบุหรี่...
ว่าแต่ว่า...ในเมื่อบุหรี่มันไม่ดี รัฐก็ออกมารณรงค์ต่อต้าน
แต่ทำไมรัฐก็ยังปล่อยให้มีการขายบุหรี่อีกนะ?
ถามขำๆ...ใครๆก็คงรู้คำตอบดี
เกลียดตัวกินไข่...เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง
เกลียดรัฐ...กินน้ำตา

Saturday, July 16, 2005

 

"Principal-Agent Problem" กับ "บรรษัทสยามประเทศจำกัด(มหาชน)"

ไม่ได้อัพบล็อกมานาน วันนี้เกิดคันๆเลยขุดความรู้กระผีกหางอึ่งของ “นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ เอกรีไทร์” ของตัวเองมาละเลงเสียหน่อย เช่นนั้นแล้ว...ผิดถูกประการใดสับกันได้ตามอัธยาศัยเลยครับ

“Principal-Agent Problem” กับ “บรรษัทสยามประเทศจำกัด(มหาชน)”
นายจาบัลย์กำลังนั่งครุ่นคิด...และที่เขากำลังคิดก็คือ
“นักการเมืองเป็นอาชีพที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าใบปริญญานั้นไม่ได้มีค่าความหมายมากเกินไปกว่ากระดาษใบเดียว...”
ไม่ว่าจะมีการกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำของผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นนักการเมืองหรือไม่ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองในสายตาของจาบัลย์และอีกหลายๆคนรอบข้างจาบัลย์ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น กลับกัน นับวันมันยิ่งรังแต่จะแย่ลง คงไม่เป็นการสบประมาทเลยหากจะบอกว่า “นักการเมืองปริญญา” นั้นเป็นพวกที่มีแต่ “วิชา” โดยปราศจาก “ความรู้” หรือถึงมี “ความรู้” ก็ยังคงขาดแคลนหรือถึงขั้นไร้แล้วซึ่ง “ความเข้าใจ”
จาบัลย์เชื่อว่าความคิดของเขาไม่ใช่การสบประมาทหรือดูหมิ่นแต่อย่างไร สิ่งหนึ่งที่นักการเมืองทั้งหลายควรจะได้สำนึกสำเหนียกยามได้รับรู้ถึงความคิดของเขาก็คือ
มันเป็นภาพฉายอันเป็นผลจากพฤติกรรมทั้งปวงที่สัตว์การเมืองทั้งหลายในบ้านเมืองแสดงออกมา...
มันเป็นสิ่งที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Principal-Agent Problem” คือ “ปัญหาอันเกิดจากจุดมุ่งหมายในการทำงานที่ต่างกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง” จุดมุ่งหมายของนายจ้างคือ “ผลประโยชน์” ของบริษัทอันหมายถึงผลกำไรและความเจริญเติบโตใดๆก็ตามที่บริษัทพึงมี ส่วนจุดประสงค์ของลูกจ้างนั้นคือ “ผลประโยชน์ของตัวเอง” อันคงมิใช่อะไรนอกไปเสียจาก “เงินเดือน” หรือ “ผลประโยชน์อันไม่อยู่ในรูปตัวเงิน” ต่างๆ อาทิเช่น ความสบายใจในการทำงานอันเกิดจากการอู้งานในขณะที่ยังได้รับเงินเดือนเท่าเดิม หรืออาจจะเป็นผลประโยชน์นอกลู่ใดๆอันอาจหามาได้จากการซิกแซ็กในการทำงาน
หากสมมติว่ามีบริษัทหนึ่งอันนามว่า “บรรษัทสยามประเทศจำกัด(มหาชน)” ซึ่งมี “นายประชาชน คนสยาม” (ซึ่งต่อไปนี้อาจจะเรียกว่า “นายจ้าง” หรือ “เจ้าของบริษัท” เป็นบางที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลื่นไหลของรูปประโยค) เป็นเจ้าของบริษัท “นายประชาชน คนสยาม” ได้ตกลงว่าจ้าง(เลือก,แต่งตั้ง) “นายนักการเมือง และผองเพื่อน” (ซึ่งต่อไปนี้อาจจะเรียกว่า “ลูกจ้าง” เป็นบางที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลื่นไหลของรูปประโยค) ให้ทำงานให้ “บรรษัทสยามประเทศจำกัด(มหาชน)” โดยตกลง(จำใจ)จะจ่ายค่าจ้าง(ภาษี)ให้เป็นรายเดือน ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการของ “นายประชาชน คนสยาม” ย่อมต้องหมายถึงผลประโยชน์ความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของ “บรรษัทสยามประเทศจำกัด(มหาชน)” ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ตัวเจ้าของบริษัท(นายประชาชน คนสยาม)ย่อมต้องการให้เป็นความต้องการของลูกจ้าง(นายนักการเมือง และผองเพื่อน)ด้วย
และต่อมา “นายนักการเมือง และผองเพื่อน” ได้สถาปนา “นายกอ รอมอตอ” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า “นายว่า ขี้ข้าพลอย” ขึ้นเป็นผู้บริหารและมีอำนาจเหนือตนโดยมีการลงนามยอมรับจากอำนาจที่สูงกว่าตัวนายจ้าง ซึ่งตรงจุดนี้นั้นทั้งนายจ้างและอำนาจที่เหนือกว่ามิอาจทัดทานได้ ทั้งนี้เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยภายในอันจะส่งผลถึงเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท โดยกฎระเบียบของบริษัทแล้ว “นายกอ รอมอตอ” จะเป็นดั่งผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดของบริษัท มีหน้าที่ในการดำเนินนโยบายบริหารต่างๆเพื่อสร้างความก้าวหน้าและผลประโยชน์อันยั่งยืนให้แก่บริษัทอันหมายถึงว่านั่นคือผลประโยชน์ของตัวเจ้าของบริษัทด้วย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ “นายกอ รอมอตอ” กลับเลือกจะบริหารบริษัทเพียงเพื่อสนองความกระหายในผลประโยชน์ส่วนตนของตัวเอง นโยบายบริหารต่างๆล้วนถูกผลักดันออกมาใช้เพื่อสร้างช่องทางหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง กับทั้งยังมีการเผื่อแผ่โอกาสเอื้อเหล่านั้นไปยัง “นายนักการเมือง และผองเพื่อน” ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นไปเพื่อสร้างบุญคุณและรักษาอำนาจการปกครองของตน และสุดท้าย “นายกอ รอมอตอ” ก็กลับกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดโดยใช้ฐานอำนาจที่เหนือกว่ายึด “บรรษัทสยามประเทศจำกัด(มหาชน)” ไปเป็นของตน และฮุบเงินภาษี...เงินเดือนทั้งหมดไปบริหารเองแทน “นายประชาชน คนสยาม”
ซึ่งการยึดบริษัทนี้จะสามารถเป็นไปได้ง่ายขึ้นหาก “นายกอ รอมอตอ” เป็นผู้ร่ำรวยทรัพย์สินล้นฟ้า เพราะ “นายกอ รอมอตอ” อาจใช้กลยุทธ์ควักกระเป๋าตัวเองจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้ “นายนักการเมือง และผองเพื่อน” อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนเพิ่มจากเงินเดือนประจำที่ได้รับจาก “นายประชาชน คนสยาม” ซึ่งการซื้อคนด้วยเงินมหาศาลนั้นง่ายดายกว่าการซื้อคนด้วยใจนัก ด้วยยุทธวิธีดังกล่าวแล้วก็ไม่ยากนักที่ “นายกอ รอมอตอ” จะสามารถขึ้นมาเป็นใหญ่และกุม “บรรษัทสยามประเทศจำกัด(มหาชน)” ไว้ในกำมือได้ สุดท้าย “นายประชาชน คนสยาม” ก็ได้แต่คร่ำครวญในใจ…
“กูจ่ายภาษีจ้างโจรมาปล้นและยึดบริษัท”
พูดง่ายๆก็คือ มันมีความแตกต่างดังยกตัวอย่างไปแล้วอยู่ระหว่าง “จุดประสงค์ของเจ้าของประเทศ” คือ “ประชาชน” กับ “กลุ่มผู้บริหาร” ซึ่งก็คือ “สัตว์การเมือง” นั่นเอง...
พอแล้วดีกว่า...วัยรุ่นเซ็ง
ปล.ดังกล่าวไปแล้ว ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของผมมันเพียงกระผีกหางอึ่ง ผิดถูกประการใดโปรดให้อภัยก่อนสับแหลก...

This page is powered by Blogger. Isn't yours?