Tuesday, May 31, 2005

 

คำอุทธรณ์จากดาร์คลอร์ด...

เกิดเป็นซิธมันผิดตรงไหน??

มันอาจจะใช่ว่าเราไม่ได้เกิดเป็นซิธแต่ทีแรก...แต่จักรวาลก็ให้สิทธิ์แก่เราในการเลือกที่ว่าเราจะวางวิญญาณ(วิน-ยา-นะ)สภาวะทั้งปวงแห่งตนไว้ยังฟากฝั่งใดของสมดุลแห่งพลัง
เจ้าจะว่าเราทำการล่อลวงเจได?
เราไม่เห็นว่าสิ่งที่เราทำจะต่างจากที่เจ้าทำตรงไหน...
พวกเจ้าเองก็หาเด็กที่มีแววไปฝึกเป็นเจได
แล้วเราผิดตรงไหนที่จะหาคนที่มีแววมาฝึกเป็นซิธ??พวกเจ้าเพียงได้เปรียบเพราะมีพวกมากกว่า และยืนอยู่ในฟากที่ถูกเรียกว่าเป็นความดี...หากทั่วทั้งจักรวาลมีเพียงเรา...คำว่าเลวที่พวกเจ้าใช้เรียกเราก็จะมีค่าไม่ต่างอะไรไปจากคำว่าดีที่พวกเจ้าใช้เรียกตัวเอง
เช่นนี้แล้วมันก็เป็นเพียงประชาธิปไตยฉบับบูดเบี้ยว
พวกมากลากไป...
เหล่าเจ้าล้วนถูกยัดเยียดรสนิยมความชอบมาจากคนอื่น...แล้วเหล่าเจ้ายังคิดจะยัดเยียดรสนิยมความชอบนั่นมาสู่เราด้วย
ใยเราต้องยอมรับ??
แอนนี่น้อยผู้ศิษย์คนล่าสุดของเรา...เขาต้องกลายเป็นปิศาจเพราะความอ่อนโยนแท้ๆ
กลายเป็นปิศาจเพราะความรักที่มีต่อแม่...เพราะความรักที่มีต่อภริยาอันเป็นที่รัก
Jedi shall not know anger, nor hatred, nor love...
กฎไร้ใจของพวกเจ้า กฎแห่งวิญญาณสภาวะอันแสนกระด้างของพวกเจ้า หากเจ้าต้องการเช่นนั้นใยเจ้าไม่สร้างหุ่นยนต์เยี่ยงนายพลกรีวัสแล้วใส่โปรแกรมการต่อสู้แบบเจไดลงไปในหัวหุ่นนั่นดังเช่นข้าทำ...
เช่นนั้นแล้วเจ้าคงได้ทุกอย่างดังต้องการ

Friday, May 27, 2005

 

UTOPIA

เป็นตอนหนึ่งจากนิยายที่ผมกำลังเขียนอยู่...เป็นบทสนทนาระหว่างเจ้านายสาวกับหุ่นรับใช้ที่มีความปรารถนาเหมือนกับหุ่นยนต์ในนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วไปคืออยากเป็นคน

Utopia
...ยูโทเปีย...
...เป็นคำจากภาษาหนึ่ง ซึ่งสามารถแปลเป็นคำในอีกภาษาหนึ่งได้ว่า...
Nowhere
...โนแวร์...
…มีความหมายในอีกภาษาหนึ่งว่า...
...ที่ไหนก็ไม่มี...
...แต่ถ้าเราเปลี่ยนการเว้นวรรคสักหน่อยมันก็จะเป็น...
Now here
...นาวเฮียรฺ...
…มีความหมายในอีกภาษาหนึ่งว่า...
...ที่นี่...ตรงนี้...
คงจะเรียกได้ว่ายูโทเปียนั้นคือภาพสะท้อนแห่งความเลวร้ายของสังคมในยุคที่ยูโทเปียนั้นๆได้ถือกำเนิดขึ้น
และถ้ามองในระดับปัจเจก...หากจะบอกว่ายูโทเปียคือภาพฉายของอภิมหาลักษณะแบบแห่งกิเลสมนุษย์ก็คงจะไม่ผิดนัก
“ทำไมเธอถึงคิดอย่างนั้น” คุณหนูถามผมในขณะที่พาหนะต้านแรงโน้มถ่วงรูปทรงลูกปืนสีดำสนิทของเธอพุ่งทะยานไปบนถนน
“เหมือนที่ผมเคยพูด เพราะว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่ผมอยาก ดังนั้นผมจึงอยาก ยูโทเปียก็เช่นกัน เป็นสิ่งสมมติที่เกิดขึ้นเพื่อสนองความอยากของมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นหรืออยู่ในสภาวะอย่างที่ตัวเองอยาก”
“แต่ความอยากของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด”
“ยูโทเปียจึงเป็นโนแวร์ที่สามารถเกิดเป็นนาวเฮียรฺขึ้นมาได้ยังไงล่ะครับ”
“ยังไง?” ท่าทางเธอหงุดหงิด แต่ก็สนใจที่จะรู้
“สมมติว่ามีมนุษย์คนหนึ่งพยายามจะสร้างยูโทเปียขึ้นมาให้เกิดเป็นตัวตนเชิงรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่มนุษย์คนนั้นจะต้องทำก็คือหยิบนามธรรมแห่งความสมบูรณ์แบบของแต่ละปัจเจกมโนปรารถนาภาพในสังคมนั้นๆมารวมกันก่อนแล้วจึงค่อยสร้างยูโทเปียนั้นขึ้นมา”
“แต่ความสมบูรณ์แบบในความคิดของแต่ละคนนั้นสามารถที่จะขัดแย้งกันได้นี่”
“ใช่ครับ...สิ่งที่ตามมาจึงน่าจะเป็นการประนีประนอมทางความคิด และหากใช้การประนีประนอมทางความคิดเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้จากการประนีประนอมนั้นก็อาจจะไปขัดกับความสมบูรณ์แบบในความคิดของคนอื่นๆอีก และถ้าเราใช้การประนีประนอมเข้ามาช่วยอีกมันก็อาจเกิดความขัดแย้งรูปแบบเดียวกันไปเรื่อยๆจนเกิดสภาวะนิรันดรแห่งการประนีประนอม (Oroborous of Conpromisation) และเราก็คงไม่อาจเรียกสิ่งที่ได้รับการสร้างขึ้นมาหลังจากจุดสิ้นสุดของนิรันดรแห่งการประนีประนอมว่าเป็นยูโทเปียได้”
“งั้นเราจะทำอย่างที่เธอว่าได้ยังไง? ทำโนแวร์ให้เป็นนาวเฮียรฺ?”
“ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ยูโทเปียนั้นสามารถตอบสนองความพอใจของมนุษย์เพียงบางกลุ่มที่มีมโนปรารถนาภาพต้องตรงกันเท่านั้น และถ้าจะสร้างกันขึ้นมาให้จับต้องได้จริงๆก็คงจะเกิดเป็นชุมชนยูโทเปียอยู่ทั่วไปหมด หรืออาจจะเป็นเมืองได้ในกรณีที่มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็ใช่ว่าจะมีได้แค่เมืองเดียว มันก็อาจจะมีหลายเมืองอีก”
“แล้วยังไงต่อ? แบบนั้นก็น่าจะใช้ได้นี่ ยูโทเปียใครยูโทเปียมัน”
“ในทางทฤษฎีนั้นอาจจะใช่ครับ แต่ด้วยในทางปฏิบัติแล้วผมไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ ลักษณะหนึ่งที่มนุษย์เป็นนั้นคือชอบที่จะยัดเยียดความชอบของตัวเองให้ตกต้องเป็นความชอบของคนอื่นด้วย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าหากเกิดความหลากหลายของยูโทเปียเชิงรูปธรรมดังกล่าวขึ้นมาแล้วก็จะเริ่มมีการโจมตีกันว่ายูโทเปียของใครกันแน่ที่เป็นยูโทเปียที่แท้จริง ทั้งนี้เพราะมันมีเนื้อแท้แห่งความหมายของยูโทเปียหนึ่งเดียวเป็นตัวตั้ง หากแต่เนื้อแท้นั้นกลับมีความเกี่ยวพันอยู่กับการสนองตอบความต้องการของมนุษย์ ซึ่งสิ่งที่มันเกี่ยวพันด้วยนั้นไม่มีที่สิ้นสุดจึงนำมาซึ่งการตีความเนื้อแท้นั้นให้แตกแขนงไปสู่รูปแบบที่แตกต่างกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน”
“เดี๋ยวนะ...แล้วตกลงโนแวร์จะกลายเป็นนาวเฮียรฺได้ยังไง?”
“ด้วยการให้ความเคารพในความคิดที่แตกต่างไปจากความคิดของเราครับ ซึ่งนั่นจะต้องเกิดมาจากจุดเริ่มต้นที่ว่าต้องเข้าใจในความเกี่ยวพันกันของความหมายของยูโทเปียที่เกี่ยวพันอยู่กับความต้องการของมนุษย์ดังกล่าวเสียก่อน”
“แล้วอย่างนี้ถ้าเกิดมีชุมชนหนึ่งที่เชื่อว่าอิสระแห่งการก่ออาชญากรรมคือความเป็นยูโทเปียล่ะ?”
“ก็ช่างเขาสิครับ”
“แล้วถ้าชุมชนพวกนั้นมารุกรานยูโทเปียของเราล่ะ?”
“เราก็ป้องกันตัวเองสิครับ เราต้องป้องกันแต่ไม่คุกคาม”
“แล้วถ้ายูโทเปียที่มาคุกคามเรานั้นไม่ใช่แค่ชุมชนแต่เป็นเมืองขนาดใหญ่ล่ะ? ใหญ่ขนาดที่เราไม่อาจจะต่อต้านได้ด้วยกำลังทางทหาร”
“เราก็รวมตัวกับชุมชนหรือเมืองอื่นๆที่มีความคิดต่อต้านอาชญากรรมเหมือนกันเพื่อป้องกันตัวสิครับ”
“แล้วก็ทำสงครามกัน?”
“ครับ”
“แล้วมันเป็นยูโทเปียตรงไหน? ชั้นไม่เห็นว่ามันจะต่างจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตรงไหนเลย หรือแม้แต่กับปัจจุบันนี้ก็เถอะ การแข่งขันกันในรูปแบบต่างๆมันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากการทำสงครามเลยสักนิด อาจจะไม่ใช่การกรีฑาแสนยานุภาพแห่งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าห้ำหั่นกันให้ตายเดี๋ยวนั้น แต่สุดท้ายแล้วผู้แพ้ก็ต้องตายอยู่ดี ยกตัวอย่างง่ายๆด้วยเรื่องของธุรกิจ ความตายที่เกิดแก่ผู้บริหารธุรกิจที่ผิดพลาดอาจจะเป็นเพียงการตายทางธุรกิจ แต่หากยืดเยื้อยาวนานแล้วมันก็สามารถเกิดเป็นความตายทางกายภาพขึ้นมาจริงๆได้เช่นกัน”
“นั่นล่ะครับ โนแวร์ที่ว่าได้กลายเป็นนาวเฮียรฺไปแล้ว”
“อะไรของเธอ?”
“ถ้าคิดตามที่ผมบอกไว้แต่ที่แรกว่ายูโทเปียนั้นก็คือภาพฉายของอภิมหาลักษณะแบบแห่งกิเลสมนุษย์แล้วละก็ เราก็จะเห็นว่าปัจเจกปรารถนาหรือกลุ่มของปัจเจกปรารถนาเดียวกันที่พยายามจะสร้างโนแวร์ได้สร้างนาวเฮียรฺแบบที่มีอยู่ทุกวันนี้ขึ้นมายังไงล่ะครับ”
“....................”
“เราอยู่ในยูโทเปียแล้วครับ”
“เธอพูดเรื่องพวกนี้ขึ้นมาทำไม?”
“ผมอยากจะบอกคุณหนูว่า ถ้าเรารู้จักที่จะลดมาตรฐานความสุขของตัวเองลงมาให้อยู่ในระดับที่สามารถจะบันดาลขึ้นได้ด้วยอัตปัจจัยสภาวะทุกประการที่เรามีแล้วยูโทเปียก็จะมาอยู่ตรงหน้าเราเองครับ” ผมล้วงบางอย่างออกมาจากกระเป๋าเสื้อแล้วส่งให้เธอ มันเป็นกล่องกำมะหยี่ใบเล็กๆ “สุขสันต์วันเกิดครับ”
“....................”
ผมเปิดกล่องออก ในนั้นคือขดสายไฟโปร่งใสที่มีของเหลวสีสันต่างๆบรรจุอยู่ภายใน สายไฟนั้นเหล่านั้นพันตัวกันเป็นรูปแหวน
“สายไฟในตัวผมเองครับ เอาจากที่ไม่ใช่แล้วมาทำ ถ้าหาเงินได้เยอะๆเมื่อไหร่ผมจะซื้อของจริงให้”
“ไม่ต้องหรอก” คุณหนูยิ้มน้อยๆ เธอสวมมันเข้าที่นิ้วนางข้างซ้าย “ยูโทเปียของชั้นอยู่ที่นิ้วนางนี่แล้ว”
วันนั้น...
ความทรงจำถึงความนุ่มนิ่มของริมฝีปากอวบอิ่มตรงหน้าได้ประทับอยู่บนริมฝีปากประดิษฐ์ของผมตลอดไป
ลิ้นด้วย...
น่าเสียดายที่ผมไม่มีความรู้สึกอะไรทางกายภาพจากรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวเลยสักนิด
ผมทำให้ความรู้สึกของเธอเสียเปล่าอีกแล้วใช่มั้ย?
ปล : Utopia -ยูโทเปีย- ชื่อเมืองในอุดมคติในหนังสือของ Sir Thomas More ซึ่งเป็นนักปรัชญามนุษยนิยมชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่สิบหก ยูโทเปียเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบในทางอุดมคติและทั้งยังเป็นรูปแบบของสังคมที่สมบูรณ์แบบในจินตนาการ คำว่ายูโทเปียนั้นเป็นคำศัพท์ที่สร้างมาจากคำในภาษากรีกว่า eutopia อันหมายถึงสถานที่ที่ดี (good place) และในขณะเดียวกันคำว่า eutopia นั้นก็ยังไปพ้องเสียงกับคำว่า outopia ในภาษาเดียวกันซึ่งมีความหมายว่าไม่มีที่ใด (no place)

Tuesday, May 24, 2005

 

Pavlov's Dog

ทันที่พาฟลอฟสั่นกระดิ่ง...สัมผัสอันคุ้นเคยของกลิ่นเนื้อที่ฝังอยู่ในความทรงจำก็ขับให้น้ำลายท่วมปากของเจ้าหมาทดลอง
ทันทีที่เพลงชาติดังขึ้น...สัมผัสอันคุ้นเคยของ "คำว่า" ความรักชาติก็ขับให้ร่างกายของพวกเขาตั้งตรงขึ้น
ทันทีที่ "เสียงกระดิ่ง" ที่เรียกว่า "เพลงชาติ" ดังขึ้น...กลิ่นเนื้ออันหมายถึง "คำว่า" ความรักชาติที่ฝังอยู่ในหัวก็ทำให้ "น้ำลาย" ที่เรียกว่า "การยืนตรงเคารพธงชาติ" ไหลออกมา
เคารพธงชาติกันเหมือนหมาของพาฟลอฟ...
ผมเห็นผู้คนสมัยนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ
อย่างน้อยก็ในสังคมเล็กๆที่ผมฝังตัวอยู่...
สังคมเล็กๆที่เรียกว่าคอมม่อนรูมที่ผมนิยมจะไปฝังตัวอยู่

"เอ้า พี่ ทำไมไม่ยืน"
ประโยคที่ผ่านไปนั้นไม่มีเครื่องหมายคำถาม...
เพราะมันไม่ใช่คำถามแต่เป็นคำสั่งว่า...ยืนขึ้นสิไอ้อ้วน!!
ผมรู้สึกว่าหมาของพาฟลอฟตัวนั้นได้กลับมาเกิดอีกครั้งในร่างของมนุษย์สาววัยกระเตาะตรงหน้าของผม...
และยังแบ่งภาคสู่มนุษย์อีกมากมายที่กำลังแสดงอาการน้ำลายสอออกมาในรูปของการยืนตรงทำในสิ่งที่พวกมัน(พวกเขา)เชื่อว่าคือการเคารพธงชาติ
"ยืนสิ เร็ว กลับตัวกลับใจสังคมยังให้อภัยนะ"
หมาน้อยตรงหน้ายังพยายาม...
และพยายามชวน(ให้ผม)เชื่อว่าสิ่งที่ผมทำอยู่นั้นช่างน่าอับอาย
เธอพูดเสียงดัง...ราวกับหวังให้คนอื่นๆหันมามอง
เธอพูดเสียงดัง...ราวกับหวังว่าผมจะได้อาย
หน้าไม่อาย...
ผมหมายถึงเธอ...หน้าไม่อาย
ผมมองไม่เห็นว่าการยืนตรงเคารพธงชาติของเธอนั้นต่างจากการกล่าวสวัสดีขอบคุณของพนักงานร้านสะดวกซื้อบางคน(ส่วนใหญ่)ตรงไหน
เป็นพฤติกรรมที่ไร้คุณค่าทางจิตสำนึก
มันด้อยค่าเกินกว่าจะเรียกว่าทำไปตามหน้าที่
มีความหมายน้อยกว่าการกระโดดตัวลอยในตอนที่ได้ยินเพลงที่ตัวเองชื่นชอบ
คุณค่าเดียวที่มีคือทำให้ผมหวนระลึกถึงการทดลองของพาฟลอฟเท่านั้น...
และหากมองว่าเป็นพฤติกรรมอันเป็นผลสืบเนื่องจากสัญชาตญาณเช่นกันก็คงพอจะสรุปได้ว่าสิ่งที่มนุษย์(ที่อยู่ในอาณาเขตสายตาของผม)กำลังแสดงออกมานั้นก็คือสัญชาตญาณที่เรียกว่า "ความมักง่าย"
ผมไม่เข้าใจว่าคนที่ยืนเคารพธงชาติไปคุยกันไปหัวเราะคิกคักกันไปนั้นมีสิทธิ์อะไรมามองผมที่นั่งนิ่งอยู่ท่ามกลางกระแสเสียงของเพลงชาติด้วยสายตาที่ยากจะระบุความหมายนั่น...
บางคนคุยโทรศัพท์ไปเคารพธงชาติไป...
ฟังดูเหมือนผมเป็นพวกสุดโต่ง...ก็ไม่เชิงหรอก ผมเองก็เข้าใจว่าทุกอย่างมันมีพลวัตรของมัน และมันสามารถยืดหยุ่นกันได้ด้วยพลานุภาพแห่งพลวัตรของมันแต่ที่ผมอยากจะบอกก็คือเรื่องของการทำตามกันไปอย่างไม่เคยเข้าใจในความหมายหรือจิตวิญญาณในสิ่งที่ตนกำลังกระทำ...
ก็เท่านั้นเอง
ปล. ทฤษฎี Classical Conditioning อันโด่งดังของ "Ivan Pavlov" (นักสรีรศาสตร์ชาวรัสเซีย)อันว่าด้วยการจับคู่เข้าด้วยกัน ระหว่างตัวกระตุ้นเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนองตามธรรมชาติกับตัวกระตุ้นเร้าที่เป็นกลาง ภายหลังที่เกิดการเรียนรู้ความเกี่ยวเนื่องระหว่างสองตัวกระตุ้นเร้าดังกล่าวขึ้น -การตอบสนองต่อตัวกระตุ้นเร้าแรกสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยตัวกระตุ้นเร้าตัวที่สอง- การทดลองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ "สุนัขของพาฟลอฟ" หรือ "Pavlov's Dog" นั้นเป็นตัวอย่างที่พาฟลอฟใช้ในการอธิบายทฤษฎีดังกล่าว ปรกติแล้ว อาหารจะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สุนัขเกิดการหลั่งน้ำลาย ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ ลำพังเสียงกระดิ่งจะไม่ทำให้เกิดการตอบสนองนี้ แต่พาฟลอฟพบว่าด้วยการจับคู่ตัวกระตุ้นทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน นั่นก็คือ สั่นกระดิ่งในขณะที่ให้อาหารแก่สุนัข เขาสามารถสร้างเงื่อนไขให้สุนัขเกิดน้ำลายไหลเพียงได้ยินเสียงกระดิ่ง

Monday, May 23, 2005

 

Finding my way to go back home...


Fiding my way to go back home... Posted by Hello
ความแตกต่างทางจินตภาพอันว่าด้วยปัจเจกตรรกะและทรรศนะที่ผิดแผกจากความเป็นทั่วไป(ความเป็นทั่วไปอันหมายถึงความเป็นส่วนใหญ่ของสังคม...)มักจะทำให้ผมต้องแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้าพลางรำพึงเบาๆในใจว่าเมื่อไหร่กูจะได้กลับบ้าน...กลับดาวของตัวเองสักที

Saturday, May 21, 2005

 

รักเอย...

หลายๆคนเคยถามผมว่าความรักคืออะไร ผมเองก็เคยถามตัวเองอย่างนั้น ผมพยายามคิดถึงการกระทำต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ความรู้สึกต่างๆที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นผลมาจากความรักเพื่อที่จะหาความหมายและคำจำกัดความให้กับคำว่ารัก แต่ที่สุดแล้วผมก็ไม่สามารถหาคำหรือวลีใดมาตอบคำถามนั้นได้เลย เพราะว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างทีเดียวที่สามารถใช้แสดงแทนการพูดคำว่ารัก
รัก...คำอัศจรรย์ มากความหมาย หลากหลายรูปแบบ แต่ไร้ซึ่งคำจำกัดความ
สิ่งที่สำคัญก็คือเราจะต้องแยกให้ออกว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นแท้จริงแล้วมันคือ “ความรัก” หรือเป็นเพียงแค่ “ความลุ่มหลง” กันแน่ ความรักสามารถผลักดันให้ผู้ที่ถือมันอยู่นั้นเป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย ซึ่งจะออกมาในรูปแบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานจิตใจของผู้ที่ถือมันไว้ ในขณะที่ความหลงนั้นจะผลักดันให้ผู้ที่ถือมันโดยเข้าใจว่ามันคือความรักกลายเป็นผู้ทำลาย เขาหรือเธอจะทำลายคนที่เขาหรือเธอคิดว่าตนเองรัก ทำลายคนรอบข้าง และในที่สุดผลทั้งหมดก็จะย้อนกลับมาทำลายตัวของเขาเอง
Love is not blind, lust is…
บางคนถามผมว่าเมื่อไหร่กันที่เราจะได้เจอกับรักแท้? แล้วรักแท้นั้นคืออะไร? เราจะพบกับมันได้ยังไง? ในเวลานี้นั้นผมเองก็ยังหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านั้นไม่ได้ หากแต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อก็คือ
ความรักที่แท้จริงจะเริ่มต้นหลังจากที่ไฟแห่งความตื่นเต้นทั้งหลายได้มอดดับไปหมดแล้ว..
ความรักนั้นสามารถหมดลงได้ในวันหนึ่ง แต่ความเข้าใจนั้นไม่ใช่ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันจะคงอยู่ไปจนตราบชั่วชีวิตสั้นๆของเราที่เหลืออยู่เลยทีเดียว
สำหรับผมแล้ว รักแท้ของคู่รักก็คือความเข้าใจ นั่นเอง...
แต่ถึงไม่มีคู่รัก รักแท้ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ เพื่อนผมคนหนึ่งเชื่อว่าในชีวิตหนึ่งนั้นน่าจะมีใครสักคนที่เราสามารถรักได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในเวลานี้หรือในอนาคต รักแบบที่ว่าเห็นคนๆนี้เมื่อไหร่ก็ยังรัก และต่างก็มีความรักให้กันและกันโดยที่ไม่ต้องเป็นคู่รักกัน แม้ว่าต่างคนต่างก็มีครอบครัว แต่รักแท้ก็จะยังคงอยู่ระหว่างคนสองคนนั้น
นั่นเป็นรักแท้ที่แสนบริสุทธิ์...
มันอยู่เหนือเส้นพรมแดนของคำว่าเพศ เป็นรักแท้ที่มนุษย์สองคนได้มอบให้แก่กัน...
ถึงแม้ว่าชีวิตของผมจะพังทุกครั้งที่มีปัญหาเรื่องความรัก แต่ผมก็ยังกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ความรักคือปัญหาที่เล็กที่สุดในชีวิต” นั่นเพราะผมรู้ดีว่าสิ่งที่ทำให้ผมพังไม่ใช่ความรักที่ไม่สมหวัง แต่มันพังเพราะผมซึ่งไม่สมหวังในความรักต่างหากที่ทำให้ชีวิตของตัวเองพัง แม้จะกินไม่ได้ ไม่ให้สารอาหาร ไม่ทำให้ท้องอิ่ม แต่ความรักก็ยังเป็นที่ปรารถนาและเชื่อว่าทำให้ชีวิตของหลายๆคนดำเนินต่อไปได้ เป็นแรงผลักดันอันน่าอัศจรรย์ให้แก่ชีวิตของหลายๆคน แม้รักไม่ได้เป็นผู้สร้าง แต่มันก็ไม่ได้เป็นผู้ทำลายเช่นกัน ลำพังตัวของความรักเองนั้นไม่สามารถจะไปทำร้ายใครได้เลย ผู้ที่ถือความรักไว้ต่างหากที่นำมันมาทำร้ายตัวเองแล้วก็โยนความผิดให้กับมัน ทั้งๆที่มันก็อยู่ของมันเฉยๆ และถูกเหวี่ยงไปมาตามอารมณ์ของผู้ที่ถือมัน
ความรักก็เหมือนมีด เอามาปักที่อกก็ต้องเจ็บเป็นธรรมดา อยู่ที่ว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง
ระยะห่างที่พอดีและเหมาะสมจะทำให้ชีวิตมีความสุข ไม่เพียงแต่ระหว่างคนสองคน ไม่เพียงระหว่างคุณกับคนรัก มันเป็นความจริงที่ใช้ได้แม้กระทั่งระหว่างคุณกับความรัก ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องนำความรักมาผูกติดไว้กับตัวเรา และเช่นเดียวกัน ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องเอาความรักของเราไปผูกไว้กับใคร เพียงแต่คุณตั้งมันไว้ในที่ที่อยู่ในสายตาคุณ ตั้งไว้ในที่ที่คุณสามารถจะดูแลเอาใจใส่มัน ตั้งไว้ในที่ที่คุณสามารถจะประคับประคองมันไว้ได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่มันจะตกหล่นและแตกสลายไป ผมคิดว่าทุกๆคนย่อมต้องอยากจะเสาะแสวงหาที่ที่สามารถวางความรักไว้ได้อย่างมั่นคง แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่ว่าคุณจะเสาะแสวงหาที่วางอย่างไร ที่ที่คุณพบก็จะมีแต่เพียงหน้าผาสูงชัน และความรักนั้นมักจะตั้งอยู่อย่างหมิ่นเหม่ที่สุดปลายเรียวเล็กของชะง่อนผานั้นเสมอ มันจะตั้งอยู่โดยมีสายลมแห่งอารมณ์ที่เกิดจากการกระทำของคนสองคนที่สร้างมันขึ้นมาพัดอยู่ตลอดเวลาโดยมีมันอยู่ตรงกลาง สายลมที่พัดมาอย่างพอดีจะทำให้มันตั้งอยู่อย่างมั่นคง ถ้าลมทั้งสองสายนั้นพัดมาอย่างไม่สมดุล มันก็จะเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งและมีอันต้องตกลงสู่หุบเหวลึกที่เบื้องล่าง แต่ความรักไม่ใช่วัตถุทั่วไป มันจะไม่ร่วงหล่นสู่พื้นในทันที มันใช้เวลานานมากกว่าที่จะตกถึงพื้น คุณมีเวลามากมาย บางทีอาจจะทั้งชีวิตด้วยซ้ำที่จะคว้าจับมันอย่างระมัดระวังและนำกลับไปวางไว้บนชะง่อนผานั้นตามเดิม นั่นทำให้หลายคนชะล่าใจและรู้สึกว่าจะไปคว้ามันทีหลังก็ยังไม่สาย แต่พึงระวังให้ดี ผมได้บอกไปแล้วว่ามันตั้งอยู่ได้เพราะสมดุลของสายลมแห่งอารมณ์สองสาย เพราะฉะนั้น เมื่อลมสายหนึ่งไม่พัด ลมอีกสายก็สามารถที่จะส่งมันลงสู่หุบเหวเบื้องล่างได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย และเมื่อใดก็ตามที่มันตกถึงพื้น ความเปราะบางของมันจะทำให้มันแหลกสลายราวกับวัตถุที่ถูกทำลายจนถึงระดับอะตอม ความรักของคุณจะสูญสลายไปตลอดกาลและคุณจะไม่มีวันได้พบกับมันอีกเลย
เมื่อเวลานั้นมาถึงจริงๆแล้ว...
แม้เพียงเสียงแตกสลายของมันคุณก็ไม่มีวันได้ยิน...

Thursday, May 19, 2005

 

เด็กแนว...

ไม่รู้จะช้าไปรึเปล่า...แต่พอดีเขียนบทความนี้เก็บไว้ในธัมบ์ไดรฟ์ของตัวเองเลยเอามาลงให้อ่านกัน
เด็กแนว...In-dy-pendence or In-da-Dependence

จริงๆแล้วสิ่งแรกที่ควรคำนึงเมื่อคิดจะแสดงทรรศนะถึงอะไรสักอย่างก็คือ...
เราเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังคิดจะแสดงความเห็นถึงนั้นเพียงไหน?
หากจะเพียงพ่นพล่ามไปตามปัจเจกทรรศนะในหัวตัวเองซึ่งไม่ใช่บทบรรเลงของเพลงแห่งตรรกะสากล สิ่งที่ทำไปก็คงไม่ต่างอะไรจากการสำเร็จความใคร่ทางความคิด เป็นการกำรูดปากกาตามจังหวะจินตนาการเพียงเพื่อให้น้ำหมึกแห่งตัณหาเชิงทรรศนะที่ภายในได้ระบายออกมา
และมันจะไปเปื้อนเลอะเหนอะใครที่ไหนก็ช่าง...
จริงๆแล้วผมก็ไม่ได้ชอบการสำเร็จความใคร่(ทางทรรศนะ)ด้วยวิธีดังกล่าว(ใช้ปากกา)นัก ยิ่งหากทำด้วยคีย์บอร์ดแล้วมันคงทุลักทุเลเชิงกายภาพน่าดู
แต่วันนี้ขอสักทีแล้วกัน
ขอสำเร็จความใคร่(ทางทรรศนะ)ด้วยปากกา(คีย์บอร์ด)โดยการเอาเด็กแนวเป็นต้นแบบสักหน่อย...
แต่ถ้าจะทำโดยคิดถึงเด็กแนวทุกคนที่เดินพล่านอยู่ทั่วผืนแผ่นดินไทยผมคงต้องเหนื่อยตายเสียก่อน ดังนั้น คงต้องขอทำโดยคิดถึง “สิ่งที่สามารถจะเรียกได้ว่าคือความเป็นเด็กแนว” แทน
หากเปรียบสังคมเป็นเหมือนร่างกายของมนุษย์แล้วเด็กแนวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในตอนนี้คืออะไร?
อสุจิ...อย่างแน่นอน
หากมองกันอย่างลึกๆในเชิงเปรียบเทียบดังกล่าวแล้วเราจะเห็นว่าเด็กแนวก็คือสำเนาพันธุกรรมของโกดังโครโมโซมที่เรียกว่าสังคม คือรูปแบบของพฤติกรรมการแสดงออกอันเป็นภาพฉายของแนวคิดความต้องการที่ถูกปลูกฝัง...หรืออาจจะถูกผลักดันจากสังคม
ว่ากันว่าบาปนั้นสามารถตกทอดทางดีเอ็นเอ...
ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีตรรกะเชิงวิทยาศาสตร์แขนงใดยืนยันได้ว่าอสุจิมีความนึกคิด แต่ที่แน่ๆคือพวกมันมีสัญชาตญาณ
เด็กแนวก็มีสัญชาตญาณเหมือนกัน...เหมือนอสุจิ
สัญชาตญาณในการเอาตัวรอด...
หากเปรียบความจำเจของสรรพสิ่งในสังคมเป็นดั่งการตายไปบนพื้นห้องน้ำอย่างไร้หลักฐานเชิงประจักษ์ของอสุจิ ถ้าพวกมันมีความนึกคิด สำเนาพันธุกรรมทรงลูกอ๊อดเหล่านั้นคงไม่อยากพบกับจุดจบเช่นนั้น
เด็กแนวก็เช่นกัน...
พลวัตรของวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่มีความกล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้นจนแทบจะก้าวข้ามขอบเขตแห่งความเหมาะสมของวัฒนธรรมดั้งเดิมทำให้เกิดการเสาะแสวงหาสิ่งใหม่ๆเพื่อหลุดพ้นจากความจำเจทางวัฒนธรรมอันเปรียบได้กับการตายอย่างไร้หลักฐานเชิงประจักษ์ดังกล่าว อสุจิวัยรุ่นเริ่มแสวงหาวิถีทางดำเนินชีวิตแบบใหม่ๆ ฟังดนตรีแบบใหม่ๆ อ่านหนังสือแบบใหม่ๆ แต่งตัวแบบใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งการหยิบเอาความน่าจะเป็นทางความคิดดั้งเดิมมาปัดฝุ่นให้เป็นแนวความคิดใหม่
แนวคิดของความเป็นอินดี้...อินดี้ซึ่งย่อมาจากอินดีเพ็นเดนซ์อันหมายถึงความเป็นตัวของตัวเอง
และนั่นคือวิวัฒนาการที่เปลี่ยนอสุจิธรรมดาให้กลายเป็นอสุจิแนว...
แต่อสุจิก็คืออสุจิ มันคือสำเนาพันธุกรรมของมนุษย์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มันมีติดตัวและฝังอยู่ในหัวก็คือความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ในปัจจุบันที่ให้คุณค่ากับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้เหนือยิ่งสิ่งอื่นใด
โดยลืมนึกถึงสิ่งที่มองไม่เห็นอันเป็นแก่นที่แท้จริงของสิ่งที่ทำไป...
เหตุที่พูดถึงเรื่องนี้นั้นก็เพราะหากถามว่าเด็กแนวคืออะไร ส่วนใหญ่แล้วคำตอบที่ได้รับก็จะไม่พ้นคำตอบที่ว่าคือกลุ่มวัยรุ่นที่มีความคิดเป็นของตัวเอง บ้างก็ว่าคือกลุ่มวัยรุ่นที่คิดไม่เหมือนใคร และมีอีกไม่น้อยที่บอกว่าคือกลุ่มวัยรุ่นที่มีความเป็นอินดี้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่พวกเขาแสดงออกจนสังคมให้กำจัดความว่านั่นคือความเป็นเด็กแนวจนทำให้เหล่าอสุจิรุ่นหลังยึดเป็นแบบอย่างในการทำตามโดยหวังว่าจะได้ประดับยศความเป็นแนวบ้างก็ไม่พ้นวิถีการใช้ชีวิตและเสพสื่อดังกล่าวมาแล้ว
ทีนี้เลยต้องมาแยกออกเป็นเด็กแนวดั้งเดิมอันหมายถึงรุ่นแรก(บุกเบิก)กับเด็กแนวรุ่นหลังซึ่งกรุ่นกลิ่นการลอกเลียนจนแทบจะกลายเป็นรุ่นดักดาน
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างถึงนิตยสารอะเดย์และแฟ็ทเรดิโอ(ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นคลิ๊กเรดิโอ)เนื่องจากสื่อทั้งสองนั้นถือได้ว่าเป็นศาสดาสถาปนาของเหล่าเด็กแนวรุ่นหลังๆที่แลดูเป็นตัวตนแห่งความเป็นอินดี้ที่ชัดเจนที่สุดของยุค
เป็นอัตสถาปนาอินดี้ชน...
เด็กแนวรุ่นหลังมองความแปลกใหม่ของนิตยสารและคลื่นวิทยุดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของความแนวโดยลืมมองถึงสิ่งที่ทั้งสองสิ่งนั้นมุ่งเน้นจะนำเสนอไป
ความคิดสร้างสรรค์...
ความมีความคิดเป็นของตัวเองทำให้เด็ก(ที่ถูกเรียกว่า)แนวดั้งเดิมนั้นเสพแนวความคิดของสื่อทั้งสองในขณะที่เด็ก(ที่เรียกตัวเองว่า)แนวในปัจจุบันเสพแนวความคิด(ที่ถูกชักจูงของ)ตัวเองโดยใช้สื่อทั้งสองเป็นข้ออ้างว่าการเสพสื่อดังกล่าวคือความมีความคิดเป็นของตัวเอง
บ้างก็ทำในสิ่งที่เรียกว่าสวนกระแสโดยไม่ได้มองว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่เป็นการตามกระแสที่เรียกว่าการสวนกระแส...
สงครามโลกสมัยก่อนวัยรุ่นอยากเป็นยุวชนทหาร
สงครามโลกสมัยนี้วัยรุ่นอยากเป็นเด็กแนว
ไม่ได้มีอย่างไหนดีไปกว่ากัน เพราะในหมู่ผู้ที่ต้องการของทั้งสองยุคก็ต้องมีผู้ที่ต้องการเพราะคิดว่ามันเท่ห์อยู่บ้าง...
ซึ่งนั่นไม่ใช่แก่นแท้เลย...
สังเกตไหมว่าความแนวนั้นจะถูกจำแนกประเภทจากการแต่งตัว?
ซึ่งจะว่าไปแล้วจะแต่งกันไปขนาดไหนก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรเพราะไม่ได้ไปแต่งบนหัวใคร
แต่มันทำให้เห็นได้ชัดว่าสังคมสมัยนี้ให้อะไรกับอนาคตของชาติบ้าง...
ไม่สิ...ผมว่ามันหมดยุคที่จะเรียกเด็กว่าเป็นอนาคตของชาติไปนานแล้ว
อนาคตของเด็กก็คืออนาคตของเด็กต่างหาก...
น่าจะมีการรวมตัวที่ทำให้สามารถจำแนกเด็กแนวออกด้วยความแตกต่างทางความคิดอย่างสร้างสรรค์บ้าง...
เห็นเด็กที่แสดงออกถึงความแนวด้วยการแต่งตัวแบบที่เรียกว่าแนวแล้วก็เดินอวดความแนวในสถานที่แนวแล้วก็ปวดหัวไปตามแนว
สุดท้ายไม่ว่าจะแต่งตัวมากี่แนววัยรุ่นก็ยังมีชีวิตอยู่แนวเดียว
แนวหายใจรอความตายไปวันๆ...
ถ้ามีสมองแต่ไม่รู้จักคิด ชีวิตก็คงไม่มีอะไรนอกเหนือจากการหายใจรอความตายไปวันๆ
จะรอกันนานแค่ไหนก็คงไม่อาจทราบได้...
แต่ถ้าเป็นอสุจิ...สี่สิบวันก็พอ

 

ลองของ...

ลองโพสต์ดูครับ...เด๋วนึกอะไรออกแล้วจะมาเขียน

This page is powered by Blogger. Isn't yours?