Friday, May 27, 2005

 

UTOPIA

เป็นตอนหนึ่งจากนิยายที่ผมกำลังเขียนอยู่...เป็นบทสนทนาระหว่างเจ้านายสาวกับหุ่นรับใช้ที่มีความปรารถนาเหมือนกับหุ่นยนต์ในนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วไปคืออยากเป็นคน

Utopia
...ยูโทเปีย...
...เป็นคำจากภาษาหนึ่ง ซึ่งสามารถแปลเป็นคำในอีกภาษาหนึ่งได้ว่า...
Nowhere
...โนแวร์...
…มีความหมายในอีกภาษาหนึ่งว่า...
...ที่ไหนก็ไม่มี...
...แต่ถ้าเราเปลี่ยนการเว้นวรรคสักหน่อยมันก็จะเป็น...
Now here
...นาวเฮียรฺ...
…มีความหมายในอีกภาษาหนึ่งว่า...
...ที่นี่...ตรงนี้...
คงจะเรียกได้ว่ายูโทเปียนั้นคือภาพสะท้อนแห่งความเลวร้ายของสังคมในยุคที่ยูโทเปียนั้นๆได้ถือกำเนิดขึ้น
และถ้ามองในระดับปัจเจก...หากจะบอกว่ายูโทเปียคือภาพฉายของอภิมหาลักษณะแบบแห่งกิเลสมนุษย์ก็คงจะไม่ผิดนัก
“ทำไมเธอถึงคิดอย่างนั้น” คุณหนูถามผมในขณะที่พาหนะต้านแรงโน้มถ่วงรูปทรงลูกปืนสีดำสนิทของเธอพุ่งทะยานไปบนถนน
“เหมือนที่ผมเคยพูด เพราะว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่ผมอยาก ดังนั้นผมจึงอยาก ยูโทเปียก็เช่นกัน เป็นสิ่งสมมติที่เกิดขึ้นเพื่อสนองความอยากของมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นหรืออยู่ในสภาวะอย่างที่ตัวเองอยาก”
“แต่ความอยากของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด”
“ยูโทเปียจึงเป็นโนแวร์ที่สามารถเกิดเป็นนาวเฮียรฺขึ้นมาได้ยังไงล่ะครับ”
“ยังไง?” ท่าทางเธอหงุดหงิด แต่ก็สนใจที่จะรู้
“สมมติว่ามีมนุษย์คนหนึ่งพยายามจะสร้างยูโทเปียขึ้นมาให้เกิดเป็นตัวตนเชิงรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่มนุษย์คนนั้นจะต้องทำก็คือหยิบนามธรรมแห่งความสมบูรณ์แบบของแต่ละปัจเจกมโนปรารถนาภาพในสังคมนั้นๆมารวมกันก่อนแล้วจึงค่อยสร้างยูโทเปียนั้นขึ้นมา”
“แต่ความสมบูรณ์แบบในความคิดของแต่ละคนนั้นสามารถที่จะขัดแย้งกันได้นี่”
“ใช่ครับ...สิ่งที่ตามมาจึงน่าจะเป็นการประนีประนอมทางความคิด และหากใช้การประนีประนอมทางความคิดเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้จากการประนีประนอมนั้นก็อาจจะไปขัดกับความสมบูรณ์แบบในความคิดของคนอื่นๆอีก และถ้าเราใช้การประนีประนอมเข้ามาช่วยอีกมันก็อาจเกิดความขัดแย้งรูปแบบเดียวกันไปเรื่อยๆจนเกิดสภาวะนิรันดรแห่งการประนีประนอม (Oroborous of Conpromisation) และเราก็คงไม่อาจเรียกสิ่งที่ได้รับการสร้างขึ้นมาหลังจากจุดสิ้นสุดของนิรันดรแห่งการประนีประนอมว่าเป็นยูโทเปียได้”
“งั้นเราจะทำอย่างที่เธอว่าได้ยังไง? ทำโนแวร์ให้เป็นนาวเฮียรฺ?”
“ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ยูโทเปียนั้นสามารถตอบสนองความพอใจของมนุษย์เพียงบางกลุ่มที่มีมโนปรารถนาภาพต้องตรงกันเท่านั้น และถ้าจะสร้างกันขึ้นมาให้จับต้องได้จริงๆก็คงจะเกิดเป็นชุมชนยูโทเปียอยู่ทั่วไปหมด หรืออาจจะเป็นเมืองได้ในกรณีที่มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็ใช่ว่าจะมีได้แค่เมืองเดียว มันก็อาจจะมีหลายเมืองอีก”
“แล้วยังไงต่อ? แบบนั้นก็น่าจะใช้ได้นี่ ยูโทเปียใครยูโทเปียมัน”
“ในทางทฤษฎีนั้นอาจจะใช่ครับ แต่ด้วยในทางปฏิบัติแล้วผมไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ ลักษณะหนึ่งที่มนุษย์เป็นนั้นคือชอบที่จะยัดเยียดความชอบของตัวเองให้ตกต้องเป็นความชอบของคนอื่นด้วย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าหากเกิดความหลากหลายของยูโทเปียเชิงรูปธรรมดังกล่าวขึ้นมาแล้วก็จะเริ่มมีการโจมตีกันว่ายูโทเปียของใครกันแน่ที่เป็นยูโทเปียที่แท้จริง ทั้งนี้เพราะมันมีเนื้อแท้แห่งความหมายของยูโทเปียหนึ่งเดียวเป็นตัวตั้ง หากแต่เนื้อแท้นั้นกลับมีความเกี่ยวพันอยู่กับการสนองตอบความต้องการของมนุษย์ ซึ่งสิ่งที่มันเกี่ยวพันด้วยนั้นไม่มีที่สิ้นสุดจึงนำมาซึ่งการตีความเนื้อแท้นั้นให้แตกแขนงไปสู่รูปแบบที่แตกต่างกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน”
“เดี๋ยวนะ...แล้วตกลงโนแวร์จะกลายเป็นนาวเฮียรฺได้ยังไง?”
“ด้วยการให้ความเคารพในความคิดที่แตกต่างไปจากความคิดของเราครับ ซึ่งนั่นจะต้องเกิดมาจากจุดเริ่มต้นที่ว่าต้องเข้าใจในความเกี่ยวพันกันของความหมายของยูโทเปียที่เกี่ยวพันอยู่กับความต้องการของมนุษย์ดังกล่าวเสียก่อน”
“แล้วอย่างนี้ถ้าเกิดมีชุมชนหนึ่งที่เชื่อว่าอิสระแห่งการก่ออาชญากรรมคือความเป็นยูโทเปียล่ะ?”
“ก็ช่างเขาสิครับ”
“แล้วถ้าชุมชนพวกนั้นมารุกรานยูโทเปียของเราล่ะ?”
“เราก็ป้องกันตัวเองสิครับ เราต้องป้องกันแต่ไม่คุกคาม”
“แล้วถ้ายูโทเปียที่มาคุกคามเรานั้นไม่ใช่แค่ชุมชนแต่เป็นเมืองขนาดใหญ่ล่ะ? ใหญ่ขนาดที่เราไม่อาจจะต่อต้านได้ด้วยกำลังทางทหาร”
“เราก็รวมตัวกับชุมชนหรือเมืองอื่นๆที่มีความคิดต่อต้านอาชญากรรมเหมือนกันเพื่อป้องกันตัวสิครับ”
“แล้วก็ทำสงครามกัน?”
“ครับ”
“แล้วมันเป็นยูโทเปียตรงไหน? ชั้นไม่เห็นว่ามันจะต่างจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตรงไหนเลย หรือแม้แต่กับปัจจุบันนี้ก็เถอะ การแข่งขันกันในรูปแบบต่างๆมันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากการทำสงครามเลยสักนิด อาจจะไม่ใช่การกรีฑาแสนยานุภาพแห่งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าห้ำหั่นกันให้ตายเดี๋ยวนั้น แต่สุดท้ายแล้วผู้แพ้ก็ต้องตายอยู่ดี ยกตัวอย่างง่ายๆด้วยเรื่องของธุรกิจ ความตายที่เกิดแก่ผู้บริหารธุรกิจที่ผิดพลาดอาจจะเป็นเพียงการตายทางธุรกิจ แต่หากยืดเยื้อยาวนานแล้วมันก็สามารถเกิดเป็นความตายทางกายภาพขึ้นมาจริงๆได้เช่นกัน”
“นั่นล่ะครับ โนแวร์ที่ว่าได้กลายเป็นนาวเฮียรฺไปแล้ว”
“อะไรของเธอ?”
“ถ้าคิดตามที่ผมบอกไว้แต่ที่แรกว่ายูโทเปียนั้นก็คือภาพฉายของอภิมหาลักษณะแบบแห่งกิเลสมนุษย์แล้วละก็ เราก็จะเห็นว่าปัจเจกปรารถนาหรือกลุ่มของปัจเจกปรารถนาเดียวกันที่พยายามจะสร้างโนแวร์ได้สร้างนาวเฮียรฺแบบที่มีอยู่ทุกวันนี้ขึ้นมายังไงล่ะครับ”
“....................”
“เราอยู่ในยูโทเปียแล้วครับ”
“เธอพูดเรื่องพวกนี้ขึ้นมาทำไม?”
“ผมอยากจะบอกคุณหนูว่า ถ้าเรารู้จักที่จะลดมาตรฐานความสุขของตัวเองลงมาให้อยู่ในระดับที่สามารถจะบันดาลขึ้นได้ด้วยอัตปัจจัยสภาวะทุกประการที่เรามีแล้วยูโทเปียก็จะมาอยู่ตรงหน้าเราเองครับ” ผมล้วงบางอย่างออกมาจากกระเป๋าเสื้อแล้วส่งให้เธอ มันเป็นกล่องกำมะหยี่ใบเล็กๆ “สุขสันต์วันเกิดครับ”
“....................”
ผมเปิดกล่องออก ในนั้นคือขดสายไฟโปร่งใสที่มีของเหลวสีสันต่างๆบรรจุอยู่ภายใน สายไฟนั้นเหล่านั้นพันตัวกันเป็นรูปแหวน
“สายไฟในตัวผมเองครับ เอาจากที่ไม่ใช่แล้วมาทำ ถ้าหาเงินได้เยอะๆเมื่อไหร่ผมจะซื้อของจริงให้”
“ไม่ต้องหรอก” คุณหนูยิ้มน้อยๆ เธอสวมมันเข้าที่นิ้วนางข้างซ้าย “ยูโทเปียของชั้นอยู่ที่นิ้วนางนี่แล้ว”
วันนั้น...
ความทรงจำถึงความนุ่มนิ่มของริมฝีปากอวบอิ่มตรงหน้าได้ประทับอยู่บนริมฝีปากประดิษฐ์ของผมตลอดไป
ลิ้นด้วย...
น่าเสียดายที่ผมไม่มีความรู้สึกอะไรทางกายภาพจากรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวเลยสักนิด
ผมทำให้ความรู้สึกของเธอเสียเปล่าอีกแล้วใช่มั้ย?
ปล : Utopia -ยูโทเปีย- ชื่อเมืองในอุดมคติในหนังสือของ Sir Thomas More ซึ่งเป็นนักปรัชญามนุษยนิยมชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่สิบหก ยูโทเปียเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบในทางอุดมคติและทั้งยังเป็นรูปแบบของสังคมที่สมบูรณ์แบบในจินตนาการ คำว่ายูโทเปียนั้นเป็นคำศัพท์ที่สร้างมาจากคำในภาษากรีกว่า eutopia อันหมายถึงสถานที่ที่ดี (good place) และในขณะเดียวกันคำว่า eutopia นั้นก็ยังไปพ้องเสียงกับคำว่า outopia ในภาษาเดียวกันซึ่งมีความหมายว่าไม่มีที่ใด (no place)

Comments:
* 0 *

เพิ่งรู้ความหมายก็คราวนี้

ลึกซึ้งมาก ๆ ๆค่ะ
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?