Thursday, November 30, 2006

 

หมีมองคน: สินค้าสี่ชิ้นในรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง

อยู่ดีๆ...ไอ้ทาโร่ก็พูดถึงรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง

“ไอ้รายการตอนแปดโมงครึ่งช่องสามนะเหรอ?”

“อืม”

“ทำไมมึงดูเครียดจังวะ?”

“กูสมเพช...เอ่อ...มนุษย์คงพอใจจะได้รับคำว่าสงสารมากกว่าสินะ กูสงสารพิธีกรสี่คนนั้นว่ะ”

“ทำไมวะ?”

“ที่วันนั้น จริงๆก็นานแล้วนะ ที่คุณมีสุขแกเอาบทความของคนอื่นมาอ่านน่ะ เรื่องที่ว่าเอาผู้หญิงไปทำสินค้าอย่างเรื่องเด็กเชียร์เบียร์อะไรแบบนั้นน่ะ”

“อืมๆ กูจำได้ ทำไมวะ กูว่าดีออก ส่งเสริมผู้หญิงบางส่วน กระตุ้นให้รู้สึกตัว ให้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีคุณค่าของตัวเอง ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือให้คนอื่นเอาไปทำเป็นสินค้า คุณมีสุขเธอก็พูดไปแล้วนี่”

“เป็นสินค้ามันไม่ดีขนาดนั้นเลยเหรอวะ?”

“ถ้าพรุ่งนี้กูขายมึงให้คนอื่น มึงจะชอบมั้ยล่ะ?”

“กูอาจจะชอบว่ะ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่กูจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

“ไอ้...เฮ่อ...กูจะด่าไอ้สัตว์ก็ไม่ได้ เพราะมึงเป็นสัตว์อยู่แล้ว”

“กูก็สัตว์ มึงก็สัตว์ แต่กูเป็นสัตว์ที่กำลังเป็นสัด”

“อย่ามาทำสายตาลามกกับแข้งกู มาคุยให้รู้เรื่องก่อน คือไม่ใช่ว่าเป็นสินค้าแล้วมันไม่ดีเว่ย แต่การที่เอาคนมาทำเป็นสินค้ามันไม่ดี มันไม่ใช่เรื่องที่น่าสนับสนุน ควรกำจัดด้วยซ้ำ”

“...................”

“มึงถอนใจทำไมวะ?”

“กูสม...เอ่อ...สงสารสี่คนนั้นว่ะ”

“สงสารอะไรอีกวะ?”

“พวกเธอคงไม่รู้ตัว ว่าตัวเองก็ตกอยู่ในสถานะสินค้าเหมือนกัน”

“ยังไงวะ?”

“กูว่ากาละแมร์แม่งน่าสม...น่าสงสารที่สุดเลยว่ะ แม่งถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งในสี่เพื่อดึงคนดู เพราะกลายเป็นสินค้าไปตั้งแต่ไอ้หนังสือที่ประณามว่ากูแม่งเลว ถึงจะเลวน้อยกว่าพวกมึงก็เถอะ พอเป็นสินค้าก็เลยขายได้ ก็เลยถูกเอามาเป็นจุดขาย สามคนที่เหลือก็พลอยฟ้าพลอยฝน กอปรกับคุณลักษณะส่วนตัว และคุณลักษณะส่วนรายการ ตอนนี้ไอ้รายการนั่นก็เลยดังไปด้วย พอรายการดัง คนก็ดัง สี่คนนั้นก็พัฒนาตัวเองไปเป็นสินค้าในรูปของดาราจอเงิน สามในสี่ถูกเอาไปขายน้ำผลไม้ เออ แต่น้ำผลไม้นั่นอร่อยดีนะ จากนั้นก็มีเอาคุณมีสุขเธอไปโฆษณาอาหารเสริมอะไรทำนองนั้น แล้วสุดท้ายที่กูเห็นนะ สี่คนนั้นมันเป็นการ์ตูนไปแล้วว่ะ”

“อืม...สินค้านี่หว่า สี่ชิ้นเลย”

“กูถึงบอกไง ว่าพวกเธอน่าสม...น่าสงสาร คงไม่ได้รู้ตัว ว่าตัวเองก็เป็นสินค้าอยู่เหมือนกัน”

“กูว่า ถึงรู้ก็คงแค่สะอึกนิดๆว่ะ แล้วก็คงมีสักคนในสี่คนนั้น ซึ่งกูคาดว่าคงจะเป็นกาละแมร์ ที่พูดออกมาว่า “ถึงพวกเราจะเป็นสินค้าก็เป็นสินค้าที่ดีนะค้าาาท่านผู้ชม” แล้วคนอื่นๆก็คงรับลูกกันหมด เพราะท่าทางก็ค่อนข้างเชื่อกันเป็นหนักหนา ว่ารายการของตัวเอง ไม่ใช่สิ รายการของช่องที่มีตัวเองเป็นพิธีกรนั้นช่างมีประโยชน์เหลือเกิน”

“มึงว่า...ถ้าพวกเธอรู้ตัวว่าตัวเองกำลังเป็นสินค้าแล้วจะลาออกจากงานมั้ยวะ?”

“กูว่าไม่น่านะ หรือถึงคิดจะออกก็คงออกไม่ได้หรอก เพราะคนดูคงไม่ยอม ทางช่องก็คงไม่ยอม เพราะพวกเธอเป็นสินค้าที่คนดูและสปอนเซอร์เต็มใจซื้อ และทางช่องก็ย่อมยินดีขาย”

“น่าสงสารเนอะ”

“อืม...โคตรพ่อโคตรแม่น่าสงสารเลยว่ะ”

“ถุย...”

“อืม...ถุย”

 

หมีมองคน: ทำบุญกับชักว่าว There’s something in common

ในเมื่อ ไมเคิล ไรท์ ฝรั่งมองไทยแห่งมติชนสุดสัปดาห์ผู้หาญลุกขึ้นตะเบ๊ะธงเซนต์จอร์จรักที่จะพูดกับนางโมหิณี แมวผีชื่อโมหันธ์ของตนแล้ว หากผม ปราชญ์ วิปลาส ผู้ถือกายรูปเพชรทนต์ลักษณะ จะลองใช้เศษกระผีกตรรกะความรู้ที่มี มองคนผ่านจิตใจคับแคบของตน และพูดคุยกับไอ้ทาโร่ หมาฉลาดที่ดูเหมือนโง่ของตัวเองบ้าง ก็ไม่น่าจะเสียหายแต่ประการใด

ทำบุญกับชักว่าว...
มัน...มีอะไรเหมือนกันอยู่จริงๆ

อันที่จริงผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่กลับต้องเผชิญกับ “อัพหายซินโดรม” ซึ่งชาวบล็อกหลายๆท่านที่ใช้บริการของ blogger.com คงเคยประสพมาบ้าง ทิ้งไว้นานได้ที่ ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสอันดี หากจะนำเอาความในใจดังกล่าวมาเรียบเรียงใหม่

เรื่องมันมีอยู่ว่า ในขณะที่ผมเข้าไปอ่านสรุปค่าใช้จ่ายงานเลี้ยงรุ่นในเว็บบอร์ดของคณะนั้น ก็พบว่ามีเงินเหลือส่วนหนึ่ง ซึ่งทางผู้จัดงานแจ้งว่า จะนำเงินดังกล่าวไปทำซีดีภาพวันงาน เพื่อแจกจ่ายให้กับเพื่อนๆทุกคน

มีเพื่อนคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า ถ้าทำซีดีแล้วเงินเหลืออีก ก็ให้เอาไปทำบุญเลี้ยงเด็กกำพร้ากัน

เพื่ออีกคนตอบรับว่าดี จะได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดกันด้วย

ทาโร่แม่งหัวเราะ...

ผมเองก็เกือบจะเห็นดีเห็นงามตามความคิดเหล่านั้นไปแล้ว หากเอาบุญมานำหน้า เชื่อว่ามีอยู่ไม่น้อยคนทีเดียวที่จะต้องตาผายหูผึ่ง แต่ก็อย่างที่บอก ทาโร่มันอ่านแล้วหัวเราะ คิกคักขบขันจนผมทนไม่ได้ ต้องถามมันไปอย่างสุภาพ ว่ามึงหัวเราะอะไรครับ?

ทาโร่บอกว่า มนุษย์นี่ตลกดี นอกจากชักว่าวใส่พื้นห้องน้ำ ใส่กระดาษชำระ ใส่หน้าคู่นอน นี่ยังชอบชักใส่เด็กกำพร้าด้วย

ผมถึงกับเบะปากจนบิดเบี้ยว...ทำท่าเกย์แขยง

มันมองผมอย่างเหยียดๆ บอกว่าอย่ามากระแดะกระเดียดกับคำว่าชักว่าว ถ้ายังสามารถพูดมึงกูเหี้ยห่า หรือปฏิบัติลับหลังนินทากรรมได้อย่างสะดวกใจ และมันเชื่อว่า การพูดความจริงด้วยภาษาที่ได้รับการประณามว่าหยาบคาย น่าจะดูจริงใจกว่าการใช้คำสุภาพยามนินทาลับหลัง หรือยิ่งนินทาลับหลังด้วยคำหยาบคายยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ผมจนใจและละอายใจจะต่อปาก จึงได้ถามต่อไป ว่าแล้วมันไปถึงเรื่องชักว่าว (อู้ววววว...พูดแล้วกระดาก) ได้อย่างไร ก็ในเมื่อข้อความในบอร์ดนั้นมีแต่เรื่องทำบุญ

ทาโร่เหมือนจะตอบ แต่ฟังแล้วเหมือนไม่ได้ตอบ เพราะต่อไปนี้คือสิ่งที่มันตอบ “ถ้าเราจะช่วยเหลือคนที่กำลังหิว เราก็น่าที่จะสอนวิธีหาอาหารให้เขา ไม่ใช่หาอาหารไปให้เขา แต่นี่ นอกจากเอาอาหารไปป้อนถึงปากแล้ว อาหารที่ว่ายังเป็นอาหารที่พวกมึงกินเหลือกันอีก” และมันยังพูดต่อไปอีกว่า “พวกมึงช่วยตอกย้ำความคิดของกู ที่ว่าคนบ้านมึงเมืองมึงมันดีแต่เมตตา แต่กรุณาไม่เป็น”

เมตตา? กรุณา? นี่ผมนึกว่าเป็นของชนิดเดียวกันมาตลอดเลยนะนั่น ก็เห็นพูดกันแบบเป็นชุดคำ ว่าเมตตากรุณา

“ลำพังข้อเขียนของอ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหนังสือ "ก่อนยุคพระศรีอาริย์ ว่าด้วย ศาสนา ความเชื่อ และศีลธรรม" ภายใต้หัวเรื่องที่ว่า"เมตตาแต่ไม่กรุณา" ก็ช่วยตอกย้ำความคิดของกูอยู่แล้ว แต่วันนี้กูได้เห็นตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม ว่าพวกมึงอยากเห็นคนอื่นเป็นสุข (เมตตา) แต่พวกมึงไม่ค่อยคิดเรื่องทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ (กรุณา) มึงยินดีจะควักกระเป๋าจ่ายเงินให้คนอื่นเป็นสุข (เมตตา) แต่มึงไม่คิดจะลงแรงทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์อย่างถาวร (Ultimate กรุณา)”

“แล้วการเลี้ยงข้าวของพวกกูมันไม่ได้ทำให้เด็กกำพร้าพ้นทุกข์ที่ตรงไหน?”

“แล้วมึงรู้แล้วหรือว่าพวกเขาทนทุกข์ในเรื่องอันใด? พวกมึงต่างอะไรกับพวกนักการเมือง? ดีแต่ใช้มุมมองแบบวิหคนัยนทัศนา (Birds’ Eyes View) ในการพูดถึงปัญหาของพวกเขา ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่มึงคิดเอาเองว่าพวกเขามี แล้วพวกมึงก็ยัดสิ่งที่มึงคิดว่าดีไปใส่พวกเขา โดยไม่เคยรับรู้ ว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่พวกมึงยัดไปนั้น คือความต้องการแท้จริงของพวกเขาหรือไม่ ทำไมพวกมึงไม่ลองใช้ตะกวดนัยนทัศนา (Monitor Lizards’ Eyes View) ถ่อมตัวลงมาเพื่อได้ศึกษาถึงปัญหาจากระดับระนาบเดียวกับพวกเขา เพื่อศึกษาให้พบว่าปัญหาจริงๆประการใดกันแน่ที่พวกเขาต้องเผชิญ ยิ่งไปกว่านั้น มึงยังไม่เคยได้ศึกษาต่อไปว่า ปัญหาใดกัน อันเป็นสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของพวกเขาเหล่านั้น”

“แบบนั้นมันใช้เวลาเยอะไป และมึงคงต้องแน่มากๆถ้าจะทำอะไรให้ได้แบบนั้น”

“กูถึงได้บอก ว่าพวกมึงมีเมตตา แต่ไม่มีกรุณา”

“แต่กูก็รู้วิธีจะหาอาหารให้หัวใจกูนี่ นี่ไง กูเลี้ยงอาหารพวกเขา กูรู้จักเอื้อเฟื้อ กูรู้จักแบ่งปัน”

“นั่นไม่ใช่เหตุผลแห่งการกระทำ แต่เป็นเหตุผลภายหลังการกระทำ ที่มึงหามาเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การกระทำ”

“แล้วกูทำอะไรผิดวะ?”

“กูได้พูดหรือว่ามึงผิด? มึงเองมิใช่หรือ ที่คิดไปเองว่าตัวเองผิด ผิดเพราะหลักหมุดแห่งศาสนาที่ปักอยู่ในใจมันทำให้รู้สึกว่าการไร้กรุณานั้นเป็นความผิดบาป ผิดเพราะรู้สึกว่ากูกำลังพูดว่าที่มึงเชื่อมึงทำนั้นไม่ดี จึงทำให้คำแสดงความคิดของกูเกิดการผิดเพี้ยน ก่อกลายเป็นคำกล่าวหาในสายตาของมึงได้”

“มึงมันเจ้าเหตุผล”

“อย่างน้อยเหตุผลของกูก็มาก่อนการกระทำ”

“โอเค แล้วแต่มึง ว่าแต่ แล้วมึงจะบอกกูได้รึยังว่ามันเกี่ยวกับการชักว่าวตรงไหน (ผมเริ่มชินกับคำชักแล้ว)

“เพราะมึงก็แค่ทำ ในสิ่งที่มึงอยากทำอย่างไรล่ะ”

“ถ้าอย่างนั้น มึงก็ชักว่าวเหมือนกัน”

“แล้วกูบอกหรือไร ว่ากูไม่ได้ชักว่าว ใช่ กูชัก ชักใส่มึง ชักเสร็จแล้วด้วย แล้วก็ขอบคุณมึงมากๆ ที่กรุณานั่งเป็นเหยื่อให้กูชัก”

“.....................................”

ผมพาตัวเองออกไปที่ระเบียง จุดบุหรี่สูบพลางคิดถึงรอยน้ำคิดของไอ้ทาโร่ ที่ติดเคลือบเป็นคราบเหนอะอยู่ในหัว

บางที ถ้าผมคิด ก่อนที่จะ “เชื่อ” หรือก่อนที่จะ “ทำ” มากกว่านี้ ก็คงไม่มีใครที่ไหน หรือหมาตัวไหนมาชักว่าวใส่หัวผมได้อีก

โดยเฉพาะ...ใครก็ตามที่คิดจะให้ผมเชื่อหรือทำ


Monday, November 13, 2006

 

ประชาธิปไตยในฐานะน้ำหนักของชีวิต (Unbearable Lightness of Being No Democracy)

มันเริ่มจากบทสนทนาง่ายๆ ก่อนที่วงเบียร์ของน้องๆ ที่เปรียบเสมือนเพื่อนของผมจะอุบัติขึ้น

เราคุยกันว่า คิดว่าประเทศไทยในทุกวันนี้ พร้อมแล้วหรือยังกับการที่จะมีประชาธิปไตย

มันคงฟังดูแปลกๆ กับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ ของสิ่งซึ่งหลายๆคนเชื่อว่าได้อุบัติเงาร่างขึ้นตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แต่มันก็สะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า ในสายตาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ประเทศนี้ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรืออาจจะยังไม่เคยได้มีประชาธิปไตยกันอย่างจริงๆจังๆเสียที

ในคำถามนั้น คนถามได้ถามภายใต้กรอบที่ว่า ให้ตอบตามประชาธิปไตยในปัจเจกนิยามใจ ของใครคนใดที่สนใจจะตอบ

แน่นอน ภายใต้กรอบดังกล่าว เราจึงได้คำตอบที่หลากหลาย เพราะความคิดที่มีต่อประชาธิปไตยในใจของแต่ละคน ก็เหมือนความคิดที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดในใจแต่ละคน คือย่อมไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันทั้งหมด หรืออาจจะเหมือนกันที่จุดหมาย แต่แตกต่างกันไปในเชิงโครงสร้าง เช่นทุกคนต้องการความมั่นคง แต่ความมั่นคงในความรู้สึกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น รูปแบบที่ใช้ในการสร้างความมั่นคงจึงต่างกัน แต่ก็เป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงของตนเหมือนกัน

ในความคิดของผม หากเรามองประชาธิปไตยตามแง่แห่งความคำ อันมีรากมาจากคำว่าประชา อันหมายถึง ประชาชน สนธิรวมเข้ากับอธิปไตย ซึ่งหมายความว่าความเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยจึงหมายถึงความเป็นใหญ่ของปวงชน เมื่อเทียบกับสภาพสังคม สภาพจิตใจของคนในปัจจุบันแล้ว ผมเห็นว่าการระบุความนิยามแค่นั้นคงแคบ และดูเป็นเชิงปรัชญาเกินกว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจได้ในวงกว้าง

เพราะภายใต้ความคำดังกล่าว มักจะมีการขยายต่อให้ฟังอีกนิดว่า ก็คือระบอบการปกครองที่ให้สิทธิ์ประชาชนในการส่งเสียง เรียกร้องซึ่งความต้องการ หรือการแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเสรี เพราะเป็นระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่

แนวขยายความดังกล่าวนั้น ได้นำมาซึ่งการใช้ประชาธิปไตยอย่างพร่ำเพื่อ สุรุ่ยสุร่าย และกลายเป็นการบิดผัน ซึ่งความหมายเชิงปฏิบัติของประชาธิปไตย ดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และทำให้หลายๆคน หรือพรรคการเมืองบางพรรค ก่อนิยามง่ายๆ เพื่อใช้เป็น Democratic Gimmick ว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนได้ออกความคิดในรูปเสียงกากบาท เป็นการเปิดโอกาส ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง

ทั้งที่จริงๆแล้วการเลือกตั้งนั้น เป็นแค่เพียงองค์ประกอบหนึ่งของประชาธิปไตย หาได้ใช่ตัวตัดสินความเป็นประชาธิปไตยไม่

เหมือนบอกว่า การที่คุณมีขา ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดคน เพราะสิ่งมีชีวิตชนิดหมาก็มีขาเหมือนกัน

การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย...แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง

ในทรรศนะของผม ประชาธิปไตยเป็นเรื่องราวของการเคารพในสิทธิ์ คือในขณะที่ทุกคนเคารพและเรียกร้องซึ่งสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของตัวเองนั้น พวกเขาก็ต้องไม่ลืมเคารพซึ่งสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้อื่นด้วย เป็นการใส่ใจในเสียงทุกเสียง

การไม่เคารพในเสียงฉันใด...ย่อมหมายถึงการไม่เคารพในความคิดฉันนั้น

เราอาจจะต้องตามเสียงส่วนใหญ่ว่าด้วยกฎของการเลือกตั้ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเสียงส่วนน้อยจึงสมควรจะถูกเพิกเฉยไป เราควรจะต้องทำความเข้าใจในเสียงส่วนน้อย ซึ่งถือเป็นเสียงต่างนั้น ว่ามีที่มาทางความคิดอย่างไร หรือเพื่อได้หยิบเอาข้อดีจากเสียงส่วนน้อยมาใช้ เหมือนเป็นการนำเอาเสียงกระแสรองมาใช้ควบคู่ไปกับเสียงกระแสหลัก ซึ่งนั่นถือเป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง

ดังนั้น ผมจึงคิดว่าแม้กระทั่งการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ก็ยังถูกใช้ไปอย่างผิดๆ เพราะมันกลายเป็นการให้สิทธิ์ขาดแก่ฝ่ายที่ถูกเรียกว่าผู้ชนะ และปฏิบัติต่อเสียงอีกฝ่าย (ซึ่งไม่ได้หมายถึงแต่เพียงพรรคที่ไม่ได้รับเลือก แต่หมายรวมถึงเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆด้วย) โดยเพียงให้สิทธิ์ในการครอบครองคำว่าผู้แพ้ และฐานะของเสียงส่วนน้อยเท่านั้น

ซึ่งทำให้ผมเห็นด้วยกับความคิดของผู้ถามที่ว่า การเลือกตั้งนี่เอง ที่เป็นตัวเบียดบัง จำกัด ขัดขวาง ลิดรอนสิทธิของเสียงส่วนน้อยไปอย่างแนบเนียนที่สุด ซึ่งแบบนั้นย่อมไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นเพียงการเอาชนะกันด้วยกำลังที่มากกว่า ผิดแผกตรงที่ไม่ใช่กำลังทางกาย ไม่ใช่กำลังทางอาวุธ ไม่ใช่กำลังทางเหตุผลหรือหลักฐานพิสูจน์ แต่เป็นกำลังทางจำนวนเสียงตามสิทธิ์

ของแบบนั้นผมเรียกว่าประชาธิปไตยฉบับบูดเบี้ยว...
เป็นประชาธิปไตยแบบ...พวกมากลากไป

และในสังคมไทยปัจจุบันที่ทวีความเป็นปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆนั้น ย่อมยังไม่น่าจะพร้อมกับการมีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีประชาธิปไตยโดยที่ยังไม่มีเกณฑ์พิจารณาร่วมใดใด ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือประชาธิปไตยที่ดีนั้นต้องมีคุณลักษณะอย่างไร เพราะรังแต่จะทำให้เกิดการเรียกร้องแต่เฉพาะเพื่อตัวเอง โดยต่างก็อ้างว่าตนมีสิทธิ์ หรือเป็นการพยายามเอาชนะกันด้วยกำลังเสียงที่มากกว่า อย่างที่เป็นๆกันอยู่

เป็นความเอาแต่ใจแบบปัจเจกเผด็จการ...

การสนทนาเมื่อวานได้ดำเนินไปถึงจุดที่ “ทำให้ผมรู้สึก” ว่าในทุกวันนี้ ประชาธิปไตยตกอยู่ในฐานะของสิ่งที่ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่จะอย่างไรก็จำเป็นจะต้องมี

หลายคนไม่รู้ว่าทำไมจะต้องมีประชาธิปไตย มีแล้วดีอย่างไร แต่คิดว่ามีประชาธิปไตยแล้วดี และที่คิดว่ามีประชาธิปไตยแล้วดี ส่วนหนึ่งคงเกิดจากการเปรียบเทียบ จากการที่ได้รับฟังมาตลอดว่า เผด็จการ คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสม์ การปกครองแบบอื่นๆนั้นไม่ดี และอีกส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ได้รับการเรียกร้องให้เกิดมีมาตลอดเวลา เป็นกระแส เหมือนเด็กแนวต้องเดินตามระเบียบเดียวกันที่เรียกว่าการเป็นอิสระจากระเบียบ

ตกอยู่ในฐานะของน้ำหนักชีวิตอย่างหนึ่ง...

โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่ามนุษย์เกิดมากับวิญญาณที่ว่างเปล่า มีชีวิตที่โหวงเหวงเคว้งคว้างจนต้องหาน้ำหนักต่างๆมายึดถ่วง ความรัก ภาระหน้าที่ อุดมการณ์ ความเชื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ใดใดก็ตามอันจะสามารถทำให้คนๆหนึ่งรู้สึกถึงน้ำหนักของชีวิตตนเองได้

เรา “บางคน” หาความรักมาถ่วง เพื่อเติมเต็มความโหวงเหวงเหว่ว้าตามสัญชาตญาณ สร้างภาระหน้าที่เพื่อกลบฝังความไร้สาระในฐานะของการดำรงชีวิต มีอุดมการณ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์แก่ตน มีความเชื่อเพื่อถมเติมความไร้ที่พึ่งของใจ เชื่อในชาติเพื่อถมที่ว่างความสามัคคี นับถือศาสนาเพื่อถมเติมความว่างเปล่าทางศีลธรรมในใจ เพื่อตนได้รู้สึกว่าตนเป็นคนดี ยกย่องกษัตริย์เพื่อถมเติมความรู้สึกในการรู้สำนึกคุณคน

เชื่อในประชาธิปไตย...เพื่อถมเติมความเคว้งคว้างทางสิทธิ์เสียงของตน
เชื่อในประชาธิปไตย...เพื่อบอกได้ว่าตนคือชนที่มีความเป็นอารยะ

และในความยึดถ่วงในสิ่งใดใดดังกล่าวเพื่อการใดใดดังกล่าว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่ามีคนบางส่วนที่ยึดถ่วงภายใต้ความรวมสั้นๆว่า ยึดไว้แล้วดี ถ่วงไว้แล้วดี หรือไม่ ก็เป็นการยึดถ่วงไว้เพื่อทำตัวเองให้แตกต่าง ใช้การยึดถ่วงนั้นเพื่อยกตัวเองสูงขึ้น เพื่อพูดว่าคนที่ไม่มีการยึดถ่วงเป็นพวกไร้สารพัด ไร้รัก ไร้จุดยืน ไร้ความสามัคคี ฯลฯ

ทั้งที่จริงๆแล้ว คนที่ไร้สารพัดนั้นก็อาจจะกำลังใช้ความไร้สารพัดดังกล่าวเป็นสิ่งยึดถ่วงเหมือนกัน และก็อาจเป็นไปเพื่อแยกตนออกมาจากพวกที่กล่าวหาว่าเขาเป็นพวกไร้สารพัดเช่นกัน

สำคัญที่สุดคือ เพียงยึดถ่วงอย่างมีสติ เพียงยึดถ่วงอย่างพึงรู้ว่า แท้จริงแล้วตนถือเหตุผลใดในการยึดถ่วงนั้น

ไม่ใช่เพียงยึดถ่วง...เพื่อกดถ่วงคนอื่นให้ต่ำลงกว่าตนเอง


This page is powered by Blogger. Isn't yours?