Tuesday, December 19, 2006

 

หมีมองคน: คิดก่อนใช้ไปกับเศรษฐกิจพอเพียง

(แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 10 ม.ค. 2550 จาก “หมีมองคน: เศรษฐกิจพอเพียง คือ “นโยบาย?” คือ “ศาสนาเกิดใหม่?” คือการหลงลืมไปซึ่ง “ความเท่าเทียม?”)

ถ้าการบริโภคอาหาร ที่มีสารเบต้าแคโรทีนมากเกินไป จะทำให้ผู้บริโภคเริ่มหน้าเหลือง ตัวเหลือง เล็บเหลือง

หรือ...ฟ้าเหลือง??
ไม่ขนาดนั้นหรอก...

บางที กองอาเจียนสีอมเหลืองที่ผมสำรอกออกมานั่น ก็อาจเป็นเพราะผมได้บริโภคอะไรเหลืองๆ (แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเบต้าแคโรทีน) มากเกินไป จนเกินความสามารถในการรองรับของร่างกาย จึงต้องสำรอกออกมา

“เฮ้ย!!” ทาโร่ สุนัขสามัญประจำบ้านของผมดอมดมกองของเก่านั่นแล้วร้อง “มึงบริโภคเศรษฐกิจพอเพียงเยอะไปว่ะ”

.................

หือ??

บริโภค...เศรษฐกิจพอเพียงเยอะไป?

ก็ไม่ปฏิเสธ มันอาจจะเป็นแบบนั้นจริงๆ ร่างกายของผมคงได้รับสารเศรษฐกิจพอเพียงผ่านสื่อต่างๆมากเกินไป ส่วนที่ต้องสำรอกออกมานั้น เพราะแม้รายละเอียดจะขยายความปลีกย่อยออกไปเรื่อยๆ แต่สารดังกล่าวล้วนไม่แตกต่างกันในใจความสำคัญ เลยต้องสำรอกเอาส่วนซ้ำออกมา จะได้เหลือที่ว่างไว้รับสารอย่างอื่นบ้าง

เป็นกลไกการกรอง “สาร” อย่างหนึ่งของร่างกาย...

“กูกินนะ” ทาโร่ร้อง เสียงมันแปลกๆ น้ำลายยืดๆ

“ตามสะดวก” ผมตอบ “เลือกหน่อยแล้วกัน มันซ้ำๆ”

ปรกติ ผมก็เป็นคนเขียนแบบที่ทำให้คนอ่านจับประเด็นไม่ค่อยได้ (โดยไม่ได้เจตนา (T.T)) อยู่แล้ว และวันนี้คงยิ่งจับประเด็นยากมากขึ้นไปอีก เพราะมีประเด็นมากมาย และไม่ได้เรียบเรียงอะไรเท่าไรนัก แต่ผมก็ทนไม่ไหว ถ้าจะต้องอ้วกมันเรี่ยราดลงหูแฟนไปอีก (คงจะเต็มแล้วเหมือนกัน) ไหนๆถ้าจะต้องอ้วก ผมก็ขออ้วกในนี้แล้วกัน

ประเด็นหนึ่ง เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ ทุกวันนี้ ตัวตนของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความเป็น “นโยบาย” และ “ศาสนา” ซึ่งก้ำกึ่งที่ว่าก็คือ ในความไม่ชัดเจนนั้น แนวคิดดังกล่าวสามารถเป็นได้ทั้ง “นโยบาย” และ “ศาสนา” นั่นเอง

และเป็น “ศาสนา” ที่เพิ่ง “เกิดใหม่” เสียด้วย

ความแตกต่างระหว่าง “ศาสนา” ที่มีกันอยู่แล้ว กับ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง (ศาสนาเกิดใหม่)” ก็คือ “ศาสนา” แบบเดิมๆนั้น ในกรณีที่นักบวชในศาสนา (ในที่นี้ใช้พุทธและคริสต์เป็นฐานอธิบาย) เป็นคนเผยแผ่ ตัวคำสอนจะได้รับความนิยมก่อน แล้วศาสดาจึงได้รับความนิยมตาม หรือในกรณีที่ตัวศาสดาเป็นผู้เผยแผ่เอง ตัวคำสอนก็จะได้รับความนิยมไปพร้อมๆกัน หรือไล่เลี่ยกับตัวศาสดา

แต่ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” นั้น ความนิยมชมรักในตัวศาสดาเป็นสิ่งที่มีมาอยู่ก่อน และมีอยู่มาอย่างยาวนาน ด้วยทรงดำรงพระองค์อยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจ ทั้งยังเป็นความนิยม และเป็นจินตนาการร่วมที่ใช้ในการระบุความเป็น “พวกเดียวกัน” (ใครไม่นิยมไม่ใช่ไทย ต้องด่าเป็นอย่างน้อย ต้องฆ่าเป็นอย่างมาก) ดังนั้น ภายใต้กระแสความนิยม ความเป็นศูนย์รวมจิตใจ ความเป็นตัวชี้วัดความเป็นพวกเดียวกัน ผนวกเข้ากับคลื่นความโหยหิวสมานฉันท์ ย่อมเป็นไปได้ ที่คำสอนของ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” จะได้รับความนิยม และพร้อมจะปฏิบัติตามก่อนที่จะมีกระบวนการทำความเข้าใจ

ความที่เป็น “นโยบายเชิงปรัชญา” (หรือจริงๆคือ “ปรัชญาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบาย”) เมื่อรวมเข้ากับความพร้อมจะปฏิบัติตามก่อนทำความเข้าใจ จึงทำให้ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นสิ่งที่ต้องทำการ “ตีความ” ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นปรัชญา ย่อมเป็นไปได้ และเป็นไปแล้ว ที่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ด้วยการอ่าน หรือฟังเพียงครั้งเดียว

และภายในสองปีนี้เป็นอย่างน้อย กระแสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง (ที่ทรงดำริดำรัสมานานกว่า 25 ปี แต่อย่าลืมว่านานกว่าที่ว่านั้น มิจำเป็นว่าต้องตลอด แต่อาจเป็นครั้งคราว และน้อยครั้ง) ยิ่งย่อมร้อนแรง และอาจเป็นรูปธรรมถึงขีดสุดด้วยแรงผลักดันของรัฐ นักวิชาการบางส่วน รวมถึงสื่อต่างๆ (แต่ยังคงเป็นนามธรรมในทางปฏิบัติ เนื่องจากตีความได้หลากหลาย และยังไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้น บอกตามตรงว่า เป็นกระแสนโยบายที่ส่วนเงื่อนไขกินความแห่งพฤติกรรมได้กว้างขวางเป็นอันมาก) และจากแรงศรัทธาของประชาชนเอง ด้วยเหตุผลหลักๆสองประการคือ 1. เป็นช่วงสิ้นสุดกลุ่มทุนเผด็จการประชานิยม และ 2. ช่วงนี้เป็นช่วงมหามงคลทวิศก ว่าด้วยวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และจะทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ตามลำดับ

ลักษณะความเป็นศาสนาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ

1. (ด้วยความเคารพ) มีองค์ศาสดาผู้ประกาศ คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2. มีคำสอน คือตัวแนวนิยามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง อันมีอยู่สามประการ คือ

2.1)ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

2.2)ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆอย่างรอบคอบ และ

2.3)การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตทั้งใกล้และไกล

(ที่มา: “เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร?”, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, www.nesdb.go.th/sufficiency)

โดยคำสอนนั้น เป็นไปเพื่อการละวาง จากการแข่งขันที่มากเกินไป อันนำมาซึ่งความวุ่นวาย และการก่อเกิดของอัตตาที่เป็นพิษต่อตนเอง และสังคม อันหมายถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อเกิดการหลุดพ้น จากการครอบงำของทุนนิยม และสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับทุนนิยม โดยมิต้องหลุดไหลไปตามกระแส ให้ต้องเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจโดยไม่จำเป็น

3. มีรัฐบาลและนักวิชาการ (บางส่วนถึงส่วนใหญ่) เป็นนักบวชคอยเผยแผ่คำสอน และ

4. มีประชาชนเป็นสาวก

หรืออาจจะมี...

5. คุณลักษณะของความบิดเบี้ยวทางคำสอน ซึ่งเป็นกันในหลายๆศาสนา คือการก่อกำเนิดขึ้นของวัฒนธรรมการเคารพรูปวัตถุ หรือสักการะสิ่งของบูชา (พระบรมฉายาลักษณ์ ริสท์แบนด์ เสื้อ ของเหลืองต่างๆ ที่บางชนิดถูกนำมาผลิตขายในฐานะ “ราชพาณิชยสักการะภายใต้พระบรมราชานุญาต” ซึ่งไม่แน่ใจว่าสินค้าในร้าน King Power Duty Free จะได้รับผลกระทบ จนเข้าข่ายลักษณะบิดเบี้ยวนี้ด้วยหรือไม่ เพราะอาจมีคนบางประเภท ที่พอเห็นมีคำว่า King ก็จะรีบวิ่งไปสนับสนุนในทุกที่ โดยมิพักจะต้องคิดคำนึงถึงใจความที่แท้จริง) ยังดีแต่ว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นที่เคารพรักอย่างสุดซึ้ง ผมจึงคาดว่า ยังไม่มีใครกล้าคิดวิตถาร ถึงขั้นบังอาจขูดพระบรมฉายาลักษณ์ หรือสิ่งแทนพระองค์ต่างๆเพื่อหาหวย

แต่เอาเลขพระชนมายุไปแทงหวยนี่ประจำ...

และที่แน่ๆ...คือ

6. มนุษย์นอกกระแสที่คอยตั้งคำถามต่อตัวคำสอน

และมีคุณลักษณะความเป็น “ศาสนาเกิดใหม่” คือยังไม่แพร่หลาย และต้องตีความซ้ำ ย้ำหลายรอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจแบบเดียวกัน

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความย้อนแย้งในความเป็น “ศาสนาเกิดใหม่” คือค่อนข้างจะได้รับความนิยมไปก่อนแล้ว โดยยังไม่มีการปฏิบัติจริงจัง

พร้อมกันนั้น ยังมีคุณลักษณะความเป็นนโยบาย อันตรงกับความหมายของคำว่านโยบาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ฯ คือเป็น “หลักและวิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นแนวดำเนินการ”

และตรงนี้ ผมคิดเอาเอง ว่ามันแสดงให้เห็นว่า ภายใต้ความเคารพรักอย่างมากมายมหาศาล [ทั้งที่มาจากใจ (สมอง) โดยตรง และที่มาจากเพียงแรงสั่นสะเทือนของเส้นเสียงในลำคอ] ที่ปวงชนชาวไทยมีให้องค์พระมหากษัตริย์นั้น เรามีความตื่นตัวกับสิ่งที่เป็น “นโยบาย” มากกว่า “พระบรมราโชบาย”

แต่อาจเพราะนี่เป็นรัฐบาลชุดแรก (เท่าที่ผมระลึกได้ในตลอดช่วงชีวิต 25 ปีของตัวเอง) ที่ได้นำเอา “พระบรมราโชบาย” มาทำเป็น “นโยบาย”

และอาจเป็นจุดตัดสินใจ สำหรับฐานเสียงของกลุ่มอำนาจเก่าในบางพื้นที่ ที่ต่างบอกว่าเคารพรักในองค์พระเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังคงโหยหา “ทักษิโณบาย” ไปในเวลาเดียวกัน ว่าสิ่งไหน ที่พวกเขาจะเลือกกัน

ซึ่งตรงนี้อาจเป็นไปได้ว่า มีคนส่วนหนึ่งในประเทศ ที่เลือกเชื่อ “คำคน” (นโยบายประชานิยม) ที่เชื่อว่าให้ประโยชน์แก่ตัวเอง มากกว่า “ตัวคน” (องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ที่พูดคำที่ยังไม่ชัดว่าจะให้ประโยชน์ใดใดกับตัวเอง และอาจอยากเห็นทางออกเป็นการประนีประนอม โดยการผนวกรวมเอาทุกคำคน และตัวคนนั้นเข้าด้วยกัน

ถ้าคำกล่าวหาข้อหนึ่งในหลายๆข้อ (ในหมวดเรื่องความพยายามที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์) ของฝ่ายพันธมิตรฯเป็นความจริง ผมว่าคุณทักษิณแกก็ทำอะไรสำเร็จไปในบางส่วนแล้ว

ถ้าเป็นผม หากคิดว่า “รัฐประหารบาล” ชุดนี้รังแกนายเหนือหัวคนเก่า ผมจะลองชวนกันร่วมลงนามถวายฎีกาดู ซึ่งน่าจะได้ผลในเชิงปฏิบัติมากกว่าการชุมนุม อันสุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงของมือที่สาม (แพะตลอดศักราช; Always Available Scape-Goat) เป็นไหนๆ

และเราเองก็มีความถนัด ในการถวายอำนาจอธิปไตยคืนสู่กษัตริย์ (โดยผ่านคณะรัฐประหารสักชุด หรือที่ “ทันสมัย” ไม่แพ้กันก็คือมาตรา 7) เพื่อขจัดปัญหาบ้านเมืองอันยากเกินแก้ไข อันเกิดจากการรู้ไม่เท่า เข้าใจไม่ทัน หรือแม้ด้วยการปล่อยปละละเลย ด้วยได้ปิดตามองไปข้างหนึ่ง ภายใต้เหตุผลที่ว่า “ลำพังต้องสร้างความมั่งคั่งแสนมั่นคงให้ชีวิตตัวเอง ก็ไม่เหลือเวลาจะไปทำอย่างอื่นสิ่งใดแล้ว” หรือ “การเมืองเรื่องน้ำเน่า เราไม่ดม” อยู่เสมอ

ในการต่อไปนี้ กับสิ่งที่ผมกำลังจะพูด จะมีคำว่า “อัตภาพ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในหลายๆจุด ซึ่งหากดูตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ฯ คำว่า “อัตภาพ” เป็นคำมาจากภาษาบาลีว่า “อตฺตภาว” (อัด-ตะ-ภา-วะ) อันหมายถึง “ตน” หรือ “ลักษณะความเป็นตัวตนหรือบุคคล” ดังนั้นแล้ว ย่อมสามารถกินความขยายไปถึงทุกสิ่งอันใดก็ตาม อันหมายถึงสิ่งที่บุคคลหนึ่งมี ทั้งสถานะทางการเงิน สภาวะภาพทางสังคม ความรู้ความสามารถในการดำรงชีวิต สิ่งสภาพใดก็ตามที่ประกอบรวมอยู่ในตัวบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม หรือที่เป็นนามธรรม แต่เป็นที่รับรู้ได้ว่ามีอยู่ก็ตาม

จากความหมายของวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับการตีความภายใต้บริบทของเมือง [ซึ่งเป็นการห่างไกลออกจากแนวความคิดตั้งต้น ที่ค่อนข้างเป็นเรื่องของชุมชนเกษตรกรรม ทั้งนี้เข้าใจว่าเพราะได้กลายมาเป็นนโยบายรัฐ และส่วนใหญ่ได้รับการตั้งคำถามจากคนเมือง เนื่องจากได้รับการแถลงว่า สามารถใช้ได้กับทุกภาคส่วน และมักได้รับการตีความ เผยแพร่ (เผยแผ่) ผ่านทางสื่อต่างๆ จากคนที่อยู่ในสภาวะที่ “มี” จนสามารถ “พอ” แต่ยังไม่เคยได้รับฟังแนวความรู้สึกของคนที่อยาก “พอ” แต่ยังอยู่ในสภาพชีวิตที่ไม่อาจเรียกได้ว่า “มี” แม้เพียงในระดับพื้นฐานอันทุกคนควร “มี” แต่คนเหล่านั้นก็ยังไม่อาจได้อยู่ในสภาวะ “มี”] ตามที่ได้ทำความเข้าใจเอง และรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ผมพบว่า วิถีการดำเนินชีวิตดังกล่าว แทบจะไม่มีความแตกต่างอะไรไปจากการดำเนินชีวิตอย่างมีสติเชิงพุทธ คือดำรงตนอยู่บนความไม่ประมาท นอกเหนือจากนั้นคือต้องมีอหิงสา อหิงสาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คือกระทำการใดใดต้องไม่ให้ใครเดือดร้อน

ในเรื่องของการกินใช้ปรกติ ผมคงไม่ต้องไปพูดถึงมาก เพราะส่วนใหญ่คงเข้าใจดีอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะปฏิบัติหรือไม่) ว่าภายใต้วิหิงสาที่มีต่อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาทำอาหาร เราจะกินอย่างไรเพื่อให้เกิดอหิงสา ทั้งต่อตัวเรา ต่อผู้อื่น

และสำคัญที่สุด...ต่อทรัพย์ของเรา
แลดูว่าทรัพย์นั้นน่าจะเป็นประเด็นหลักทีเดียว...

แต่ในเรื่องของการลงทุน มีการตั้งคำถามกันมาก ว่าลงทุนแบบไหน จึงจะเรียกว่าเป็นการพอเพียง

นั่นเพราะคำว่าพอเพียง...ถูกนำไปผูกติดอยู่กับบริบทที่เรียกว่าจำนวนเงิน

จึงเป็นความสงสัยว่า การลงทุนด้วยเม็ดเงินนับล้าน ของเหล่ามหาเศรษฐีเงินล้าน การลงทุนในลักษณะนั้น สามารถเรียกว่าเป็นความพอเพียงหรือไม่ หากไม่ใช่ และนักธุรกิจเหล่านั้นหันมาดำเนินชีวิต ดำเนินการลงทุนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่นนั้นแล้ว จะนำมาซึ่งการหยุดชะงัก จนดำเนินไปถึงการถดถอยของเศรษฐกิจทั้งปวงของประเทศ และนำพาไปถึงการไม่สามารถต่อสู้ กับระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่กำลังสยายปีกครอบคลุมไปทั่วโลก อย่างโหดร้ายกระหายเลือดหรือไม่

คำตอบก็คือ หากการลงทุนเรือนล้านนั้น เป็นไปโดยมิเกิดวิหิงสาแก่ตน มิเกิดวิหิงสาแก่คนอื่น มีความรอบรู้และรู้รอบ ถึงผลดีผลเสียอันจะเกิดแต่การลงทุนนั้น คือในขณะที่คาดหวังถึงผลที่ดีที่สุด ก็ต้องไม่ลืมคำนึงถึงผลเลวร้ายที่สุด อันอาจจะเกิดขึ้นได้จากการลงทุนนั้นด้วย หรือสรุปให้ง่ายเข้าอีกก็คือ ลงแล้วมั่นใจว่าไม่เดือดร้อน เช่นนั้นแล้ว การลงทุนนั้นย่อมเป็นไปตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

ผมไม่ใคร่มีความรู้เรื่องการลงทุนนัก แต่ตามวิสัยผู้หลีกหนีความเสี่ยง (แต่บางครั้งผมก็เข้าสู้??) ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ในเมื่อจะมองอย่างไร หากไม่ใช่การลงทุนแบบหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (ซึ่งแลดูจะเข้ากันได้กับวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่สุด) อย่างเช่นการฝากเงินกับธนาคาร หรือการซื้อประกัน เป็นต้น การลงทุนย่อมมีโอกาสจะพลิกดาว (ในฝัน) สู่ดิน (ในความเป็นจริง) ได้เสมอ เช่นนั้นแล้ว เรายังพึงลงทุนให้มากมายตามอำนวยการแห่งอัตภาพอีกหรือ

เศรษฐกิจพอเพียงก็ยังตอบต่อไปว่า นั่นต้องใช้หลักว่าด้วยความรู้รอบ คือต้องรู้โดยรอบว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง และมีเครื่องมือใดบ้างที่สามารถกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นๆไป เพื่อได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการกำจัด

จึงสรุปได้ว่า การลงทุนมหาศาล โดยอยู่ภายใต้มหาศาลแห่งอัตภาพนั้น ก็สามารถเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ ภายใต้การนำหลักคำสอนของ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” ไปใช้เช่นกัน

นี่คงเป็น “ความย้อนแย้งของความพอเพียงสีอมเหลือง” (Paradox of Yellowish Sufficiency) อีกประการหนึ่ง คือภายใต้คำว่าพอเพียง ที่อนุญาตให้สามารถตอบสนองกิเลสได้ไม่จำกัด หากยังเป็นการใช้กิเลสตามวิถีพอเพียงนี้ ดูจะช่างขัดกับความรู้สึก ที่มีต่อคำว่าพอเพียงในความหมายเดิมๆ ที่หลายๆคนคุ้นเคยอยู่ค่อนข้างมาก

และเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอีกประการหนึ่งว่า แล้วที่ผ่านมา บรรดานักลงทุนทั้งหลายนั้น พวกเขาไม่ได้ดำเนินการลงทุนไปในรูปแบบนั้นที่ตรงไหน

ทีนี้...จะเข้าถึงปัญหาที่ยังไม่มีใครให้ความกระจ่าง

ดังกล่าวมาแล้ว เราก็จะเห็นว่า หลักคำสอนของ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” นั้น เปิดโอกาสให้คนทำการสะสมทรัพย์ ให้เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆได้ตามที่อัตภาพของแต่ละคนจะอำนวย

จึงเกิดความสงสัยแก่ตัวผมเองว่า ในภาวะที่อัตภาพของแต่ละคนมีความมากน้อยแตกต่างกัน และบางคนน้อยนิดจนถึงขั้นติดลบ หากดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” แล้วจะมีสิ่งใดเพิ่มขึ้น สิ่งใดคงอยู่ และสิ่งใดหายไป

แน่นอนว่า หากคิดตามรัฐประหารบาลเน้นอ้าง คงตอบได้ว่า สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มขึ้นก็คือ “ดัชนีความสุขประชาชาติมวลรวม” หรือ “GNH: Gross National Happiness” ซึ่งยอมรับกันเถิดว่า มันเป็นดัชนีที่ยากจะหาตัวแปรใดใด ที่กินความกว้างไกลเพียงพอจะครอบคลุม ว่าตัวแปรเหล่านั้น คือสิ่งที่เป็นความสุขเดียวกันของคนทุกคน เพราะความสุขนั้น เป็นตัวแปรที่มีความเป็นนามธรรมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรามักเน้นย้ำว่า “สุขที่แท้คือทางใจ หาใช่ทางวัตถุ” ก็ยิ่งค้นหาความเป็นรูปธรรมแทบไม่ได้เลย จึงมิต้องคิดหาตัวแปรสากลมาใช้คำนวณ

ผมมีความสุข...คุณมีความสุข
แต่ความสุขของเราไม่จำเป็นจะต้องใช่สิ่งเดียวกัน...

อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้น ก็คงเป็นเรื่องราวของความมั่นคงในชีวิต เขาอาจจะบอกได้ว่า ก็ความมั่นคงในชีวิตนั่นเอง ที่ล้วนเป็นความสุขที่ทุกคนแสวงหา แต่ก็อย่าลืมว่า ภายใต้ความสุขเดียวกันนั้น เราต่างก็อาจมีโครงสร้างของความสุขที่ต่างกัน ซึ่งผู้สนับสนุน “ศาสนาใหม่” นั้นก็คงบอกว่า ก็นำแนวคำสอนไปใช้สิ สุดท้ายแล้วเราก็จะมีความสุขเหมือนกัน

แม้จะแลดู เอียงฟังแล้วเหม็นฉี่ ฉี่ของกัลลิเวอร์ผู้มุ่งดับไฟให้เมืองคนจิ๋วด้วยฉี่ อันส่อแสดงถึงการเน้น Product มากกว่า Process ไม่เกี่ยงวิธีการ ขอเพียงให้บรรลุซึ่งผลลัพธ์ได้เป็นพอ อย่างที่คุณทักษิณชอบทำ (จนเกือบจะชอบธรรม) ก็คงไม่เหม็นมากมายนัก แล้วแต่ว่าใครจะได้กลิ่น แล้วเอามาเป็นนาสิกสาระหรือไม่ ซึ่งผมเองก็พอเข้าใจ เพราะบางครั้งผมก็จำต้องฉี่เพื่อการนั้นเช่นกัน

ทีนี้ ในเรื่องของสิ่งที่คงอยู่ ผมจะขออธิบายเป็นสมการง่ายๆ ตามความสามารถของสมองโง่ๆ

ให้ Xm เป็นอัตภาพของคนๆหนึ่ง และ Yn เป็นอัตภาพของคนอีกคนหนึ่ง

ภายใต้การสะสมทรัพย์แบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” ผมขอสรุปเป็นสูตรง่ายๆ ว่าสูตรจะเป็น Xm + m และ Yn + n โดยที่ m และ n แสดงส่วนเพิ่มการสะสมทรัพย์ให้เพิ่มพูนตามอัตภาพ และกำหนดให้มีค่าเท่ากับ 0, 1, 2, 3,…

และภายใต้แนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง เราย่อมต้อง +0, +1, +2, +3 ไปเรื่อยๆตามลำดับ

ซึ่งเรื่องราวคงจะฟังดูเข้าที และจะเข้าทีต่อไปเรื่อยๆ หากผมไม่บอกก่อนว่า จริงๆแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง Xm และ Yn คือ Xm > Yn

ดังนั้น ภายใต้รูปแบบการสะสมทรัพย์แบบเศรษฐกิจพอเพียง Xm + m ย่อมมากกว่า Yn + n อยู่เสมอ

นั่น...คือสิ่งที่จะยังคงดำรงอยู่
ความไม่เท่าเทียม...

และ...ย่อมนำมาซึ่งสิ่งที่หายไป (หรืออาจไม่เคยมีอยู่จริง??)
ความเท่าเทียม...

ในเชิงหลักการ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ซึ่งเรา (เขา) กล่าวอ้างกันว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ในภาวะที่สถานะสภาพของประชาชนแบ่งออกเป็นหลากหลายรูปแบบ ประชาชนเศรษฐีมหาเศรษฐี ประชาชนยาจก ประชาชนสามัญ ประชาชนแรงงาน ประชาชนมนุษย์เงินเดือน ประชาชนนักธุรกิจ ประชาชนเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนเจ้าหน้าที่เอกชน และประชาชนอีกมากมาย ตามแต่ว่าใครจะสามารถมีโอกาสเข้าถึงได้ในสถานะใด

โดยหากดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว แม้คนรวยจะสามารถรวยขึ้นเรื่อยๆ คนจนก็สามารถรวยขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งหนึ่งที่คงอยู่ และไม่ลดลงก็คือ “ช่องว่างแห่งความยากจน” (Poverty Gap) อันหมายถึงความเหลื่อมล้ำในระดับรายได้ หรือระดับความมากมายของทรัพย์สินสะสมที่แต่ละส่วนบุคคลไม่เท่ากัน

และสุดท้าย เราคงลืมไปไม่ได้ว่า สิ่งที่ส่อแสดงถึงสิทธิอันไม่เท่าเทียมกันในสังคมนี้ได้มากที่สุด ก็คือเงิน หรือสิ่งอื่นใดอันเป็นอัตภาพ อัตภาพที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ว่ามีมากกว่าแล้วเหนือกว่า

เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยตอบปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร...

แล้วไหนจะเรื่องของชาวบ้านห่างไกล คนชายขอบ หรือใครก็ตามที่เปล่าไร้ซึ่งที่ดินทำกิน เพียงคิดประกอบสัมมาอาชีพก็ยังต้องเช่าที่เช่าทางเขาทำ หรือแม้แต่คนสลัมในกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ที่มีรูปลักษณ์ราวพร้อมพังได้ในทุกห้วงลมหายใจสะอึก ในขณะที่คนอีกส่วนหนึ่ง สามารถมีบ้านหลายหลังไว้เปลี่ยนนอน หรือเพื่อรองรับการล่มสลายของระบบครอบครัวขยาย เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวแห่งตน หรือมีที่ดินว่างเปล่าเอาไว้เก็งกำไร

เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยตอบปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร...

ในกระแสลมจากชนชั้นบนของสังคม ที่โหมพัดกระหน่ำเอาความสุขสบายในการใช้ชีวิต อันเป็นผลจากการมีทรัพย์สินมหาศาล ที่แผ่พุ่งลงมาสู่ชนชั้นล่าง เป็นไปได้หรือว่า ภายใต้คำบอกที่ว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ชนชั้นล่างจะไม่อยากมี อยากสุข อยากสบายแบบนั้นบ้าง

นั่นคือความแตกต่างของอัตภาพใช่หรือไม่??

หรือจะบอกว่า นั่นเป็นหน้าที่ของชนชั้นล่าง ที่จะต้องต่อสู้กับกิเลส ตรัสรู้ด้วยตนเองว่า สุขสบายใดที่เกินไปซึ่งสมรรถภาพของอัตภาพตน และละลดซึ่งความกระหายอยากในความสุขสบายนั้น

คนบางคน...แค่อยากอิ่มยังไม่ได้อิ่มเลย
แค่ปัจจัยสี่ยังมีกันไม่ครบทุกคนเลย...

แลดูอย่างนี้แล้ว เศรษฐกิจพอเพียงจึงราวกับเป็นนโยบาย ที่ออกมาเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชนชั้น แต่เป็นการลดโดยให้คนทำใจยอมรับสภาพตน คนรวยก็เชิดหน้ารับชะตากรรมรวยๆของตนต่อไป ในทางเดียวกัน คนจนก็ต้องก้มหน้า แนบหน้ากับพื้นยอมรับชะตากรรมจนๆของตนเอาไว้ด้วยความเต็มใจ

นักวิชาการบางท่านอาจจะแย้งว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แบบนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนจนก็ต้องจนตลอดไป

ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นแบบนั้น แต่ลองคิดดูว่า ภายในสภาพสังคมที่ยังสามารถใช้เงินเป็นตัวแบ่งชนชั้น เราจะปฏิเสธได้หรือว่า ในความเป็นจริง (ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “สัจจะโลกาภิวัฒน์ธรรม” หนึ่ง) ภายใต้ความไม่เท่าเทียมกัน ที่มีระดับรายได้เป็นตัวจำแนก ความจนที่เกิดขึ้นนั้น หาได้ใช่ “ความจนสัมบูรณ์” (Absolute Poverty) ไม่ หากแต่เป็น “ความจนสัมพัทธ์” (Relative Poverty) คือมีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับจน เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น และในทำนองเดียวกัน ก็ย่อมมีคนที่มี “ความรวยสัมพัทธ์” อยู่เช่นกัน

ประโยคดิบๆในทำนองที่ว่า ก็อย่าไปเทียบกับคนอื่น เราก็อยู่อย่างพอเพียงของเรา คงเพียงพอแต่เพียงใช้เป็นตัวหนังสือให้กำลังใจ เพื่อให้คนบางประเภทใช้หลอกตัวเอง หลอกคนอื่นเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ภายใต้สภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานทั่วไป (สินค้าจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน) ที่ผันผวนไปมาโดยเป็นปฏิภาคในทางเดียวกันกับระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก ในสภาวะเงินเฟ้อ (หรือเพื่อให้ถูกต้องตามรูปลักษณาการแล้วควรเรียกว่า “ราคาเฟ้อ”) อันเกิดแต่การเสริมกันตามลำดับของ “การผลักดันของต้นทุน” (Cost-Push) และ “การฉุดดึงของอุปสงค์” (Demand-Pull) โดยเป็นผลจากการเหนี่ยวนำของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้น ย่อมเป็นสภาวการณ์ที่ทำให้ “ความรวย-จนสัมพัทธ์” เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

[Cost-Push: เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนในการผลิตสินค้าย่อมสูงตาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งระดับกำไรเป้าหมาย ภายใต้ราคาตลาดเท่าเดิม ผู้ผลิตย่อมจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิตลง (สินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิดอยู่ภายใต้การควบคุมราคาของรัฐ ผู้ขายไม่อาจขึ้นราคาเองตามใจชอบได้) เพราะหากยังคงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับเดิม และราคาตลาดเท่าเดิม ผู้ผลิตย่อมต้องประสบกับภาวะขาดทุน (หรืออย่างเบาบางที่สุด คือสูญเสียไปซึ่งกำไรเกินปรกติ และมีกำไรอยู่ที่ระดับกำไรปรกติ) นำมาซึ่งการลดลงของปริมาณการผลิต ยังผลสืบเนื่องเป็นการเกิดขึ้นซึ่งสภาวะเงิน (ราคา) เฟ้อจาก Demand-Pull: อุปทานสินค้าที่ลดลง นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของอุปสงค์ส่วนเกิน เป็นผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน]

ภายใต้สภาวะเงิน (ราคา) เฟ้อ ทุกๆครั้ง กลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดย่อมไม่พ้น “จนสัมพัทธ์ชน” ที่มีกำลังซื้อในระดับปรกติ หรือต่ำกว่าปรกติ แต่กลับต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงผิดปรกติ จนถึงขั้นเรียกได้ว่ามีราคาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง อันเป็นผลมาจากแรงเหนี่ยวนำดึงของปัจจัยเรื่องต้นทุนและอุปสงค์ดังกล่าว

และสิ่งหนึ่ง ที่หลายคนอาจจะไม่เคยคิดถึงก็คือ ในรูปแบบการจับจ่ายใช้ซื้อซึ่งสินค้าต่างๆนั้น มักมีนัยยะแฝงของการแบ่งแยกชนชั้น อันเป็นผลจากความแตกต่างของราคาในสินค้าชนิดเดียวกัน ที่กำเนิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ในการกำหนดราคาเพื่อแบ่งแยกตลาด ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ยาสระผมบางยี่ห้อเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะที่บางยี่ห้อ ใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นสูง หรือบางที ในกรณีชนชั้นสูง ยาสระผมที่ใช้อาจก็เป็นแบรนด์นำเข้าแบบที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านขายของชำ หรือร้านสะดวกซื้อ แต่ซื้อหาได้จากแหล่งสรรพสินค้าเฉพาะ ที่มีการจัดสรรสินค้าขาย โดยกำหนดจำแนกเอาจากระดับรายได้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก

ผมคิดว่า ลักษณะการบริโภคดังกล่าว น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “การบริโภคเชิงสัญญะ” แบบหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะประการหนึ่งของ “บริโภคนิยม” อันเป็นลักษณะที่ไม่น่าเป็นสิ่งพึงประสงค์หนึ่งของรูปแบบชีวิตพอเพียงเช่นกัน เพราะไม่ได้เป็นการบริโภคเพื่อการดำรงชีวิต หรือตามวัตถุประสงค์การใช้ของสิ่งถูกบริโภค หากแต่เป็นการบริโภคเพื่อแสดงอัตลักษณ์บางประการ

สิ่งมีชีวิตชนิดคน ที่ใช้ชีวิตการทำงานอยู่ใต้ร่มตึกเงาแอร์ ตกติดอยู่ภายใต้มายาคติที่ว่า ภาพลักษณ์ภายนอกอันดูดีนั้นเป็นสิ่งดึงดูดหนึ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ ย่อมมีความต้องการใช้ยาสระผม ที่นำมาซึ่งสุขภาพผมที่ดี นำมาซึ่งสภาพผมเงางาม ซึ่งเราปฏิเสธยาก ว่ามันเป็นคุณสมบัติที่สามารถมากับยาสระผมที่มีราคาสูง

หากมองภายใต้ความคิดที่ว่า ความเงางามสละสลวยแห่งสภาพผมนั้น เป็นสุขภาพดีอันพึงมีประการหนึ่งแห่งชีวิต แล้วเหตุใด สิ่งมีชีวิตชนิดคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ทำงานตรากตรำ ติดกรำอยู่กลางแจ้ง จะต้องสิ้นสิทธิ์ในการทำการดูแลอัตสุขภาพในส่วนนั้น ด้วยไม่อาจข้ามผ่านกำแพงราคา ไปสู่สินค้าที่มีความเหมาะสม ในการดูแลตนในส่วนนั้นได้

ด้วยเหตุผลเชิง “สัมบูรณ์-สัมพัทธ์แห่งความรวยจน” ดังกล่าว ผมจึงเชื่อว่า ตราบใดที่อัตภาพตั้งต้นยังไม่เท่าเทียมกัน ความรวยความจนก็จะยังคงอยู่ต่อไป และมีอุปลักษณ์ดั่งน้ำกับน้ำมัน คือย่อมแยกชั้นกันอย่างชัดเจน ไม่มีวันเข้ารวมเป็นเนื้อเดียวกันได้

บอกตรงๆเลยว่า ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาด้วยความเคารพ (แม้จะไม่รัก) เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมสนับสนุนแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ ซึ่งผมพูดมาตั้งแต่ต้นๆแล้ว พูดมาก่อนการรัฐประหาร ว่าผมชอบมัน เพราะมันน่าจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด อันเกิดจากการที่ร่างกายของผม หรือหลายๆคนตกอยู่ในสภาวะ “ร่างกายใต้บงการ” อันเกิดจากการชักเชิดของระบบ ให้ขยับแย่งแข่งขันกันไป จนอาจนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวที่มากเกินพอดีไปของชีวิต จนร่างกายส่งแสดงสัญญาณเตือนออกมาในรูปความตึงเครียด (ในระดับร่างกายอย่าง Tension หรือถึงระดับสมองอย่าง Stress) ผมจึงรู้สึกชอบใจในแนวนโยบายดังกล่าว และทำให้ผมเกิดความยินดี ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ผู้ทรงประกาศ ว่าทรงสมเป็นอัจฉริยะกษัตริย์แห่งสยามประเทศยิ่งนัก

แต่โปรดเถิดใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท...

หรือใครก็ตามที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยตอบผมที เราควรจะมีความเท่าเทียมกันที่มากกว่านี้ ก่อนจะรับใจเชื่อ และปฏิบัติตามศาสนาใหม่ของบ้านเรานี้ใช่หรือไม่

หรือผมต้องถวายบทความนี้เป็นฎีกา??

บางที บทความนี้อาจจะสิ้นสลายคุณค่า หรือสูญสิ้นความหมายใดใดไปสิ้น ถ้าถูกตอบโต้มาด้วยคำบอกกล่าวที่ว่า ก็ไม่ได้บอกให้ต้องทำทุกคน ขอแค่หนึ่งในสี่ของประเทศ หรือใครที่สามารถทำได้ก็ทำ ใครที่ยังทำไม่ได้ ก็ยังไม่ต้องทำ

ถ้าว่าอย่างนั้น...ใครทำอะไรก็คงเรียกได้ว่าพอเพียงไปสิ้น
เพราะต่างก็ปฏิบัติอย่างเหมาะสมแก่อัตภาพตน...

จนอาจหลงลืมกันไปว่าในความเป็นจริงแล้ว...
แค่พอเพียง...อาจจะไม่เพียงพอ

“เฮ้ย!!” ทาโร่ร้อง ผมสะดุ้ง

“อะไรวะ?”

“กูอิ่มแล้ว มึงสนมั้ย?”

“ไม่ล่ะ” ผมปฏิเสธ “กูไม่กินอ้วก”

“ภายใต้กระเป๋าสตางค์ที่โล่งว่างของมึง เพราะหาเงินได้ไม่พอแดก แม้แต่แดกอย่างประหยัดเพื่อพออยู่ก็ยังไม่พอแดก หลังจากอ้วกทุกอย่างออกไปหมด และเริ่มหิว มึงคิดว่ามึงจะทำยังไง?”

ผม...มองไปที่กองอ้วกที่เหลืออยู่อย่างครุ่นคิด
หรือจะลองพอเพียงดู??
มัน...จะเพียงพอหรือไม่อย่างไรกัน??


 

หมีมองคน: “Quotation Ethics”; จรรยาการ “Quote” - “ให้เกียรติ”, “หวาดกลัว” หรือ “หาพวก”

บอกกันก่อนเลยว่า “Quotation Ethics” (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “จรรยาการ Quote”) นั้นเป็นคำที่ผมสร้างขึ้นเองเพื่อใช้ในข้อเขียนนี้

ในแวดวงวิชาการ (ทั้งการเขียนและการพูด) นั้น ทุกๆท่านคงคุ้นเคยกับจรรยาการ “Quote” หรือ “Quotation” อันหมายถึงการยกคำกล่าวของผู้อื่นมาอิงอ้าง โดยมีการกล่าวระบุว่า คำกล่าวนั้นเป็นของใคร กันเป็นอย่างดี

ยกมาทั้งดุ้นก็บอกว่า ใครคนนั้น “กล่าวว่า” แต่หากใช้การ “ถ่ายความ” (Paraphrase) ก็จะบอกว่า “ใครคนนั้น” กล่าวไว้ “เป็นความว่า”

หรือแม้ไม่ใช่แวดวงวิชาการ เพียงในรูปแบบการสนทนาทั่วๆไป สนทนาในเรื่องราวต่างๆ หรือในการทำปัญหาภิปราย ก็ยังคงมีจรรยาในการ “Quote” แฝงอยู่ แม้กระทั่งในบางครั้ง ผู้กระทำการ “Quote” ไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่าที่ตัวเองกำลังกระทำนั้น เรียกว่าการ “Quote”

ซึ่งหากเป็นการพูดแล้ว บางครั้งมีการใช้ภาษากายในการ “Quote” โดยใช้สองมือ ชูมือละสองนิ้ว (นิ้วชี้และนิ้วกลาง) ขึ้นประกบข้างขมับ แลไปคล้ายทำท่าเสมือนกระต่าย ผิดแผกตรงที่เราจะผงกนิ้วทั้งสองระริกรัว เร็วช้าต่างกัน มองแล้วเห็นเป็นเสียง “กริ๊กๆ” หรือ “กรึ๊กๆ” (นี่ผมเห็นเองนะ)

ด้วยส่วนตัวแล้วตัวเองเป็นคนใส่ใจใน “แรงจูงใจ” ของการกระทำมากกว่า “ตัวการกระทำ” ที่แสดงออกมา ผมจึงตั้งกังขาขึ้นมาว่า ในกรรมจรรยาว่าด้วยการ “Quote” นั้น แท้จริงแล้ว มีแรงจูงใจใดเป็นตัวขับหลัก

เท่าที่คิดออกได้ในตอนเริ่มเขียนนี้...มีสามแรงจูงใจดังหัวเรื่อง
เดี๋ยวเขียนไปเรื่อยๆอาจงอกมาอีก...

รูปแบบแรกที่หาเจอ คงยากจะเรียกเป็นแรงจูงใจ แต่คงดูเข้าทีกว่าหากจะเรียกว่าเป็น “เหตุผล” ว่า เป็นการ “Quote” เพื่อให้เกียรติแก่ตัวผู้เป็นเจ้าของคำพูด ว่า “ใครคนนั้น” เป็นผู้พูดคำ, วลี หรือประโยคใดใดที่ตัวผู้เขียนยกมากล่าวอ้างนั้นเป็นคนแรก

ผลจากแรงจูงใจรูปแบบแรกที่ผมค้นพบ นำมาซึ่งแรงจูงใจอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการ “Quote” นั้นไม่ได้เป็นเพียง “จรรยา” ในการเขียนอ้าง หากแต่การที่ต้องให้เกียรตินั้น ได้กลายมาเป็น “กฎ” (Rule) หนึ่งในการเขียนอ้าง เรียกว่าเป็น “Quotation Ethics” ภายใต้เงื่อนไข “ความหวาดกลัว”

ด้วยว่า หากไม่ทำการ “Quote” แล้ว อาจต้องตกเป็นเหยื่อของกฎหมายลิขสิทธิ์ ว่าด้วยการนำปัญญา (ในรูปคำพูด) ของคนอื่นมากล่าวอ้างโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งแม้บางครั้งไม่ได้ถึงขั้นเกิดเป็นคดีความตามกฎหมาย แต่อย่างเบาๆเบื้องต้นก็คือ ได้รับผลตรวจเป็นสอบตก จากใครก็ตามที่ตั้งแท่นอยู่บนฐานะเสมือนบรรณาธิการผู้ต้องอ่านความงานนั้นๆ (อาจารย์ผู้อ่านรายงาน รายงานวิชาสัมมนา วิทยานิพนธ์ หรือแม้กระทั่งเพื่อน หรือใครก็ตามที่แวะเวียนมาอ่าน) หรือตกมาตรฐาน ในเรื่องของการมีคุณสมบัติหนึ่งว่าด้วยการเป็น “งานเขียนที่ดี”

ผมเชื่อว่า เมื่อ “จรรยา” กลายเป็น “กฎ” แล้ว ผลบังคับใช้ของมันย่อมสูงกว่า เพราะเมื่อมีการล่วงละเมิดเกิดขึ้น “กฎ” มีผลลงโทษที่เป็นรูปธรรม และสัมผัสเห็นได้ชัดเจนกว่าความน่าละอาย ยามไม่ได้ปฏิบัติในสิ่งซึ่งเป็น “จรรยา”

ในความหวาดกลัวดังกล่าว นอกจากจะมองว่าเป็นความหวาดกลัวเนื่องจาก “กฎ” แล้ว ผมยังมองว่า เป็นความหวาดกลัว (ในบางคน) ว่าตัวเองอาจจะ “พูด” หรือ “เขียน” ผิด จึงต้องอ้างเอาว่าสิ่งที่ “เขียน” หรือ “พูด” นั้น เป็นการสืบทอดความคิดมาจากผู้อื่น หาได้คิดค้นขึ้นเองไม่ ซึ่งลักษณะความกลัวผิดนี้มักพบได้จากท่าทีการพูดอันประนีประนอม ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่ความกลัวที่จะต้องผิด แต่เป็นไปเพื่อความนุ่มนวลของวงสนทนา ซึ่งคงมีแต่ตัวผู้พูด ที่รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่

แต่หากเป็นไปเพราะกลัวผิด ผมขอวิเคราะห์ว่า เป็นไปเพราะหนึ่ง ผู้ Quote กำลังไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเอง Quote อันอาจเป็นผลมาจากความตระหนักแก่ใจ ว่าตนนั้นไม่ได้รู้ลึกรู้จริง หรือสอง เพราะคู่หรือวงสนทนานั้นกำลังมีอิทธิพลทางความคิด และเหตุผลที่หนักแน่นกว่า การ Quote ของผู้ Quote จึงเป็นไปอย่างกลัวๆกล้าๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จิตวิเคราะห์ดังกล่าวก็เป็นไปเพียง “จิตวิทยาประสบการณ์” ของผมที่สั่งสมมา ไม่ใช่ “จิตวิทยาวิชาการ” (เพราะไม่เคยเรียน) ดังนั้น จึงอาจเป็นไปเพียงตามตรรกะ Enneagram คน 6 ของผม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นสัจจะอันเป็นนิรันดร์

แต่อย่างน้อย การ “Quote” ก็อาจจะเป็นหนทางง่ายๆหนทางสุดท้าย ในการเอาตัวรอดจากการ “พูด” หรือ “เขียน” ผิดไปได้ โดยบอกว่าตนก็ไม่รู้ แต่คนๆนั้น (ผู้ถูก “Quote”) พูดอย่างนั้น ซึ่งผลอีกประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ตัว “ผู้ Quote” ย่อมเสียความน่าเชื่อถือไป

และประการหนึ่งซึ่งจะลืมไปมิได้ คือเมื่อการ Quote ถูกโยงเข้ากับความกลัว ย่อมเป็นไปได้ ที่มันจะฝังลงไปในสัญชาตญาณ ทำให้การ Quote นั้นเป็นไปโดยสัญชาตญาณ ซึ่งมิได้ผ่านกระบวนการการคิดใดใดทั้งสิ้น เพราะความกลัวนั้นก็เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์

อีกประการหนี่งที่ลืมไปมิได้ (งอกออกมาพอดี) นั่นคือการ “Quote” เพื่อทำลายหรือล้มล้างคำที่ “ถูก Quote” นั้น ซึ่งในรูปแบบการ “Quote” ดังกล่าว จำต้องใช้ปัญญาในการถอดรื้อสิ่งที่ “ถูก Quote” และผมเชื่อว่าหากใช้ปัญญาและเหตุผลกันจริงๆ การ “Quote เพื่อทำลายสิ่งที่ถูก Quote” นั้น อาจนำมาซึ่งการก่อเติมเสริมสร้างต่อปลายความคิดอื่นๆต่อไปได้

ผมคงเกริ่นนานไปแล้ว...

ที่อยากพูดจริงๆก็คือ การ “Quote” เพื่อเป็นการ “หาพวก”

โดยมากแล้วผมมักจะพบการ “Quote” ในลักษณะดังกล่าวจากการพูด โดยผู้พูดมักพูดโดยอ้างเอาคำของนักวิชาการ หรือนักคิดต่างๆ หรือแม้แต่คนที่ตนรู้จักมาพูด พระพุทธเจ้ากล่าวว่า พระเยซูกล่าวว่า นิตท์เช่กล่าวว่า มาร์กซ์กล่าวว่า เม่งจื๊อกล่าวว่า เล่าจื๊อกล่าวว่า โมกเจี๊ยว (??) กล่าวว่า ใครก็ไม่รู้กล่าวว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสว่า...
อะไร...ทำนองนั้น

ตลกที่สุดคือบางคนเอาคำของปราชญ์ วิปลาสมาสอนปราชญ์ วิปลาส โดยลืมไปว่าผมเองที่เป็นคนพูดกับเขา แล้วเขาก็เอามันมาพูดกับผมโดยหวังจะสอนผม ด้วยท่าทางที่คิดว่าคำพูดนั้นมันเจ๋ง พูดแล้วหล่อ ประหนึ่งตัวเขาคิดมันได้เองและพูดมันออกมาเอง ผมเองไม่ได้ใส่ใจอะไรที่เขาไม่ Quote และไม่ได้คิดด้วยว่าที่ตัวเองเคยพูดไปนั้นมันหล่อ แต่มันตลกตรงที่พอผมบอกว่า “มึงคิดเหมือนกูเลย!!” แล้วเขาทำหน้าเหมือนกับนึกออก ว่า “โอ๊ะ!! มึงนี่หว่าที่สอนกูไป”

ผมเชื่อว่า ในการยกอ้างนั้น ย่อมเป็นไปได้ที่เขาจะอ้าง เพื่อบอกว่าตัวเองกำลังคิดเชื่ออย่างไร แต่แน่นอนว่ามีอีกไม่น้อย ที่อ้างเพื่อหาพวก หาพวกมาช่วยรุมเพื่อเอาชนะ โดยเชื่อว่าปราชญ์นักคิดเหล่านั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีความคิดที่ถูกต้อง และน่าจะสร้างน้ำหนักให้กับคำพูดของตัวผู้อ้างได้ และโดยไม่ทันได้คิดไปว่า ตัวผู้ถูก Quote นั้น อาจเพียงคิดความนั้นมาเพื่อแสดงทรรศนะส่วนบุคคล ไม่ได้เพื่อฟาดฟันเอาชนะกับใครแต่อย่างไร ซึ่งการอ้างเพื่อเอาชนะนั้น ถือเป็นการใช้เครื่องมือผิดวัตถุประสงค์หลักวิธีหนึ่ง และเป็นการไม่เคารพต่อผู้พูดได้อย่างน่ารังเกียจที่สุด

ผมว่า...พระราชดำรัสคงโดนบ่อยสุด

ก็ไม่ได้บอก ว่าการอ้างในลักษณะดังกล่าวนั้นผิดถูกแต่อย่างใด เพราะมันเป็นความต้องการแย่งชิงพื้นที่การปกครองของตน การที่คนผู้หนึ่งมุ่งมั่น และเชื่อว่าความคิดของตนถูกต้อง และอยากให้ผู้อื่นเชื่อตาม การที่ผู้อื่นไม่เชื่อตาม ย่อมหมายถึงเขาได้สูญเสียพื้นที่การปกครองทางความคิด หรือแม้กระทั่งต้องสูญเสียพื้นที่ของความเคารพ ในความคิดเชื่อของตัวเองไป

แม้ข้อเขียนนี้อาจจะแลดูเลื่อนเจื้อน ล่องลอยในเชิงประเด็นเนื้อหาไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร พึงรู้สักนิด ว่ากำลังทำ “เพราะอะไร” และกำลังทำ “เพื่ออะไร”

เพราะนั่นไม่เพียงจรรยาของการ Quote แต่น่าจะเป็นจรรยาของการกระทำใดใดก็ตาม ที่พึงมีโดยถ้วนทั่วทุกตัวคน

“แล้วมึงล่ะเบิร์ด?” เสียงไอ้ทาโร่ลอยมา “มึ้งโขดถ่ำพรื่อ?”

โดยส่วนตัว ผม Quote ด้วยเหตุผลสองประการ คือหนึ่ง เพื่อบอกว่าผมเห็นด้วยกับความคำดังกล่าวนั้น และสอง เพื่อบอกว่าผมมีความคิดแบบเดียวกับเจ้าของคำความนั้น โดยผมจะลงท้ายคำ Quote ไปเลยว่า ผมคิดเช่นนั้นมาก่อนที่จะเจอความคำดังกล่าว เพื่อไม่ให้ไอ้บ้าที่ไหนมาบอกได้ว่า ผมเอาคำคนอื่นมาพูด ทั้งๆที่จริงๆผมคิดเช่นนั้นมาก่อนจะได้ยินคนอื่นพูด

ถามว่าเพื่ออะไร อะไรคือเหตุผลของเหตุผลประการที่สอง คำตอบก็คือ ผมยังคงมีอัตตา อัตตาที่ต้องการคงไว้ซึ่งพื้นที่ในการปกครองตัวเอง คงไว้ซึ่งพื้นที่ความเชื่อที่ว่า “คิดก่อน” หรือ “คิดหลัง” ย่อมไม่สำคัญเท่า “คิดได้”

“เข้าใจบ่?”

 

หมีมองคน: ความในใจจากรับน้องที่ผ่านมา “ปัญหา” ที่ได้รับการศึกษา ย่อมนำมาซึ่ง “ปัญญา” อันเป็นนิรันดร์

อันที่จริง กิจกรรมรับน้องของกลุ่มผมก็ผ่านมาได้หลายเดือนแล้ว แต่มันยังมีเรื่องค้างคาใจบางอย่างที่ยังคอยกวนใจ และคิดว่าถึงเวลาเสียทีที่จะพูดมันออกมาผ่านตัวหนังสือ

ผมอยากให้ทุกๆคนที่อยู่ในที่ประชุมสรุปงานได้อ่าน ส่วนคนอื่นๆที่แวะเวียนมา หากสนใจจะอ่านก็ไม่น่าใช่เรื่องเสียหายอะไร

มันลึกกว่ารับน้อง...

เรื่องน่าเบื่อมันเริ่มขึ้นในตอนประชุมสรุปงาน ซึ่งผมขอยืนยันว่า แม้ในเวลานั้นตัวเองจะมีสารเสพติดในร่างกายถึงสามชนิดเป็นอย่างน้อย แต่ละชนิดมีปริมาณค่อนข้างมาก และไม่ได้นอนมาตลอดหนึ่งวันหนึ่งคืนแห่งกิจกรรมมากมาย แต่สติของผมยังคงครบถ้วน บางทีอาจจะครบถ้วนยิ่งกว่าเวลาปรกติเสียด้วยซ้ำไป

กับทั้งท่วงท่าสุดเกรี้ยวกราดยามแสดงความคิดเห็นนั้น นั่นก็ยังคงเป็นลีลาปรกติยามพูดถึงสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แม้แต่ท่าทีแข็งกระด้างยามพูดถึงสิ่งที่เห็นดีงามด้วย นั่นก็ยังเป็นอิริยาบถสามัญของตัวเอง หาได้เป็นสิ่งที่ได้รับการปรุงแต่งเพิ่มเติมด้วยฤทธิ์ของสารเสพติดแต่อย่างใด

ผมว่าปัญหามันเกิดจากการที่น้องคนหนึ่ง ซึ่งเป็นปีที่มีหน้าที่จัดงาน มีปัญหากับเพื่อนหลายๆคนในปีเดียวกัน น้องคนดังกล่าวสนิทกับผม และสำคัญที่สุดคือ น้องคนนั้นเป็นผู้หญิง

ก็ไม่ปฏิเสธ หากลีลาหม้อสาวที่ผมพ่นพรายไปตลอดเวลารับน้องทุกครั้ง จะทำให้พวกเขาติดภาพ หรือสร้างภาพว่าจริงๆแล้วผมเป็นคนอย่างนั้น และเช่นกันหากพวกเขาจะคิดว่า ผมคงจะเป็นเช่นนั้นกับน้องสาวคนนั้นด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะผมก็ถูกมองว่าเป็นคนอย่างนั้นมาตลอดชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

และผมก็ไม่ว่าอะไร หากไม่มีใครคิดจะใส่ใจถึงความเป็นคนรักจริงของผม เพราะผมไม่เคยแสดงให้พวกเขาเห็น ด้วยคิดว่านั่นเป็นแง่มุมที่ผมคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องแสดงให้คนส่วนใหญ่ได้เห็น ความรักจริงของผมมีค่า และมันควรได้แสดงให้เห็นแต่เฉพาะในคนที่ผมให้ค่า หรืออย่างน้อยที่สุดคือในเวลาที่ผมอยากพูด

และสำคัญกว่านั้นคือ ผมไม่ใช่พวกสร้างภาพ (เหมือนอย่างที่ผมเห็นหลายๆคนพยายามทำ) ไม่คาดหวังว่าจะต้องดูดี แต่แน่นอน ผมยอมรับไม่ได้กับการถูกกล่าวหาในสิ่งที่ผมไม่ได้เป็น

ในท่วงท่าและวาจาการหม้อที่ส่งออกไป เพราะผมรู้ได้ว่ามันสามารถนำมาซึ่งความเฮฮาของคนส่วนใหญ่ ซึ่งคงต้องขอโทษ “เหยื่อ” ไว้ในที่นี้ หากเธอคนใดที่เคยตกเป็น “เหยื่อ” ไม่ได้รู้สึกสนุกไปด้วย เพราะผมอาจจะคิดถึงความสนุกมวลรวมมากเกินไป โดยลืมคำนวณไปซึ่งความสนุกของตัวแปรบางตัว

คงไม่ต้องเอ่ย หรือกล่าวถึงว่าน้องคนที่ผมสนิทด้วยนั้นเป็นใคร และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร เพราะเชื่อว่าคนที่อยู่ในที่นั้นคงรู้กันดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากพูดก็คือ สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในเวลาแห่งการสรุปงานนั้นก็คือ เหตุแห่งปัญหาทั้งหมดในการรับน้องที่ผมพูดถึงนั้นมีประการเดียว คือการที่พวกเขาส่วนหนึ่งที่อยู่ในที่นั้นมีปัญหากับคนๆหนึ่ง จนนำมาซึ่งการไม่สื่อสารกันให้เพียงพออย่างที่ควรจะเป็น และทำให้เกิดปัญหาที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมา

เวลาพูดถึงปัญหารับน้อง ผมไม่ได้พูดถึงปัญหารับน้อง เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในการรับน้อง แม้ดูแล้วคล้ายว่าจะเกิดขึ้นเพราะการรับน้อง แต่เท่าที่สังเกตมา ปัญหามันเกิดจากคนที่ทำกิจกรรมรับน้อง

มันมักจะเกิดจากการไม่พูดจากัน...
หรืออย่างน้อย...ไม่พูดจากันอย่างที่ควรจะเป็น

ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะโยงปัญหาในการรับน้องเข้ากับชีวิตจริง ปัญหาอันเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง “คนกับคน” สองฝ่ายซึ่งครบถ้วนด้วยอารมณ์ความคิดความรู้สึกและอคติ สองฝ่ายที่อย่างไรเสียก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันไปจนตาย ตราบเท่าที่ใครก็ตามนั้นยังคงเรียกตัวเองว่าเป็น “คน” และค้นพบว่าตัวเองยังคงมีชีวิตอยู่ใน “สังคม”

การมีปฏิสัมพันธ์ทั้งเชิงทั่วไปและเชิงปัญหาระหว่าง “คนกับคน” นั้นไม่เคยมีคำว่าสิ้นสุด

ในการประชุมสรุปงานรับน้องทุกครั้ง (ที่ตัวเองเข้าสรุป) ผมพยายามสื่อให้เห็นว่า ปฏิสัมพันธ์เชิงปัญหาระหว่าง “คนกับคน” ที่ “ทำงานร่วมกัน” นั้น สามารถนำมาซึ่งปัญหาของงานได้

สิ่งที่ผมพยายามทำให้พวกคุณ ผู้มีส่วนร่วมกับงานทุกคนได้เห็นก็คือ ในการ “ทำงานร่วมกัน” นั้น เราควรจะจัดการกับปฏิสัมพันธ์เชิงปัญหานั้นอย่างไร เพราะ “ทำงาน” ที่ว่านั้น ผมไม่ได้หมายความเฉพาะแต่การรับน้อง แต่มันคือการทำงานใดใดก็ตาม ที่พวกคุณซึ่งยังคงอยู่ในระบบสังคมนั้นต้องเผชิญไปตลอดชีวิต

ในขณะที่สรุปงานรับน้องนั้น ผมได้พยายามสรุปแก่นสารของการจัดการปัญหาชีวิตไปด้วย แน่นอนว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีคำพูดสวยหรู แต่มันมีแนวทางที่ใช้ได้ และใช้ได้ไปตลอดชีวิตจริงๆ

ผมเพียงต้องการให้ศึกษา “ปัญหา” เพื่อให้เกิด “ปัญญา”

ในการศึกษา “ปัญหา” ในการรับน้องที่ผ่านมา ผมไม่ได้พยายามต่อว่า ก่นด่าให้ผู้ที่อยู่ในที่นั้นชดใช้ในสิ่งที่ทำกับน้องที่ผมมีความสนิทด้วยเป็นพิเศษคนดังกล่าว ผมไม่คิดว่ามีใครต้องชดใช้อะไร เพราะไม่ได้มีใครทำอะไรผิด กับทั้งความสนิทที่มีระหว่างผมกับน้องคนนั้น ไม่ได้ก่อผลอะไรนอกจากการทำให้ผมได้รับรู้ข้อมูลจากสองฝ่ายมากขึ้น อีกทั้งโดยส่วนตัวแล้ว ผมมีทักษะในการมองคนที่สูงพอ และสูงพอจะรู้ว่า แต่ละฝ่ายกำลังคิดอะไร และกำลังจะทำอะไรกับผม

เพราะฉะนั้น ผมย่อมไม่เข้าข้างใคร ข้างเดียวที่ผมเข้าไปคือข้างในของปัญหา เพื่อค้นให้พบปัญญาที่ซ่อนอยู่ในนั้น โดยพาทุกคนเข้าไปด้วย เพื่อได้ค้นพบซึ่งปัญญานั้นด้วยกัน

อย่างที่บอก กิจกรรมรับน้องคือปฏิสัมพันธ์เชิงทำงานร่วมระหว่าง “คนกับคน” และเป็นไปได้ที่มันจะนำมาซึ่ง “ปฏิสัมพันธ์เชิงปัญหา” ซึ่งตรงนี้จะแสดงความเป็นมืออาชีพ ว่าในขณะที่ทำงานนั้น คุณและใครก็ตามที่กำลังทำงานจะเลือกอะไร ความคิดอารมณ์ความรู้สึกและอคติของตัวเอง หรือสัมฤทธิ์ผลของงาน ที่ต้องใช้แรงงานร่วมกันนั้น

ซึ่งวันหนึ่งหลังจากเรียนจบไป คุณก็ยังคงต้องมีรูปแบบปฏิสัมพันธ์ร่วมดังกล่าวกับคนอื่นๆในสังคมอื่นๆที่ไม่คุ้นเคย ผมจึงหวังจะทำให้การศึกษาปัญหาลักษณะนี้เสียแต่เนิ่นๆ ได้นำมาซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาระหว่าง “คนกับคน” ให้ติดตัวคุณไปตลอดทั้งชีวิต

เหล่านั้นคือสิ่งที่ผมพยายามทำในการสรุปงานรับน้อง...

น่าเสียดาย ครั้งนี้ผมรู้สึกว่ามันถูกทำลายลงไปด้วยมุมมองที่คนกลุ่มหนึ่ง มีต่อความสัมพันธ์บริสุทธิ์ ความสัมพันธ์ในฐานะคนที่พอจะพูดคุยกันรู้เรื่องระหว่างผมกับน้องคนหนึ่ง ทั้งๆที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นแค่ความรู้สึกดีๆของคนสองคน ความรู้สึกดีๆที่ไม่มีความแตกต่าง หรือมีประเด็นในเรื่องเพศหรือวัยเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผมบอกตรงๆว่า ถ้าความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นทำให้ใจผมโอนเอียงไปข้างน้องคนดังกล่าวจริง รับน้องครั้งที่ผ่านมานี้ ย่อมต้องมีน้องผู้ชายคนหนึ่งถูกผมกระทืบ อย่างที่เรียกว่าผิดวิสัยคนใช้เหตุผล และหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง (อย่างไม่จำเป็นและไม่ควรจะต้องจำเป็น) ของผมไปอย่างแน่นอน

แต่ผมก็หวัง ว่าน้องผู้ชายคนนั้นคงไม่ลืมไปว่า ในงานไม้สักสัมพันธ์ที่เขาเมาจนข้ามเส้นสติไปนั้น รอยตีนของเขาที่เหยียบย่ำลงมาบนตัวผมอย่างคึกคะนอง ไม่ได้สร้างอะไรนอกจากรอยยิ้มของผม ว่าไอ้น้องคนนี้มันเมาได้เม๊า...เมา

ส่วนกับน้องอีกกลุ่ม ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของน้องปีจัดงาน เข้าร่วมสรุปงานในช่วงกลางครัน และด่วนสรุปว่าผมกำลังพูดถึงเรื่องของน้องผู้หญิงคนสนิท (ในย่อหน้านี้ผมจะสมมติว่าเธอชื่อน้องบี) จึงเดินออกจากห้องสรุปงานไป ผมก็ขอบอกเลยว่า ปัญหาก็คือ ผมแม่งกำลังพูดถึงปัญหา และปัญหาเสือกเป็นเรื่องของน้องกลุ่มหนึ่งกับน้องบี พอพูดถึงปัญหานั้น มันก็เลยต้องมีการพูดชื่อของน้องบีอยู่เป็นนิจเนือง และปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ผมกับน้องบีแม่งเสือกสนิทกัน ซึ่งนั่นคงทำให้พวกเขาวาดภาพอะไรบางอย่างลงไปในใจ และปฏิเสธการศึกษาปัญหาของผม โดยที่ยังไม่ทันได้ฟังความอะไรในเชิงลึก ซึ่งกับพวกเขานั้น ผมได้พยายามหลายทีแล้วในการบอกให้พวกเขาใช้สมองให้มากกว่าตา มองสิ่งต่างๆให้ลึกกว่าที่ตาเห็น ซึ่งผมก็ตอบไม่ได้จริงๆ ว่ามันประสบความสำเร็จแค่ไหน

แต่ข้อหนึ่งที่ผม และพวกคุณ และอีกหลายๆคนมีเหมือนกันก็คือ เราอาจได้เคยแสดง “ความเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี” ให้น้องเห็น เพื่อให้เขาได้ไปค้นหาต่อไปว่า แล้วสิ่งใดกันที่เรียกว่าดี

และผมขอบอกพวกคุณกลุ่มนั้น และใครก็ตามอีกว่า หากคิดจะเข้าสรุปงาน ผมขอให้มาก่อนเวลา และทำความเข้าใจในประเด็นปัญหากันก่อน ไม่ใช่คิดว่าเป็นเวลาที่ตัวเองอยากมาก็มา มันแสดงถึงความไม่เคารพรุ่นน้อง ที่ต้องมานั่งทนหลังคดแข็งนั่งฟังการสรุปที่บางครั้ง พวกเขาบางคนอาจไม่ได้เห็นค่าอะไรของมัน คุณต้องคิดสักนิดว่า ไม่ว่าเหตุผลที่พ่อแม่ของน้องๆส่งพวกเขามาเข้ามามหาวิทยาลัยคืออะไร มันย่อมไม่ใช่ส่งมาจัดงานรับน้อง ลำพังพวกเขาต้องมาจัด มาทำในสิ่งที่เรายัดเยียดกันลงมาในฐานะที่เชื่อว่าเป็นประเพณีที่ดี เราเองก็ควรจะสำนึกขอบคุณในการยอมรับของพวกเขาให้มากเข้าอยู่แล้ว ดังนั้น จะทำอะไรพึงให้เกียรติแก่ความเสียสละของเขาบ้าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การให้เกียรติย่อมไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องยอมเห็นแก่เขา ภายใต้ความคิดที่ว่าอย่างน้อยเขาก็ได้พยายามอย่างสุดความสามารถ ความคิดแบบนั้นรังแต่จะสร้างมะเร็งชีวิต สร้างมะเร็งทัศนคติแก่ตัวผู้รับ เขาควรจะได้รับรู้ว่า ความพยายามใดใดก็ตาม ไม่ว่ามันจะมากมายสูงส่งเพียงใด หากมันไม่ตอบโจทย์ใจความแห่งการกระทำแล้วไซร้ มันย่อมไม่หมายถึงความสำเร็จ

นั่นคือชีวิตจริง...

ไม่ใช่ทุกกรณี ที่คำพูดสูตรสำเร็จอย่าง “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” จะใช้ได้กับการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีบริบทซับซ้อนอย่างทุกวันนี้

และพวกคุณเองได้เคยเรียนรู้มาแล้ว...
ไม่ว่า...จะเข้าใจมันหรือไม่ก็ตาม

ซึ่งตรงนี้ขอฝากไว้สำหรับผู้สรุปงานต่อๆไปทุกคน ว่ากรุณาคุยกันเองให้รู้เรื่อง ก่อนที่จะเข้าไปคุยกับคนอื่น เพราะผมบอกตรงๆว่า ความเหินห่างทำให้ผมไม่รู้ว่าใครจะพูดอะไรบ้าง ผมไม่รู้ว่าใครคิดอะไรบ้าง และพวกคุณเองก็คงไม่รู้เช่นกัน ว่าผมคิดอะไรอยู่บ้าง และผมจะพูดอะไรบ้าง และหากมีความเหินห่างเกิดขึ้นระหว่างพวกคุณ พวกคุณเองก็จะไม่อาจล่วงรู้ ว่าคนคุ้นหน้ารอบกายนั้นกำลังคิดอะไรอยู่บ้าง

สำคัญที่สุดและสุดท้าย ผมอยากจะบอกทุกคนว่า ในตอนที่ผมกำลังตอบปัญหาอันเกิดจากการรับน้อง ผมไม่ได้ตอบแค่ปัญหาของการรับน้อง

ผมกำลัง...ตอบปัญหาของชีวิต

ผมคงไม่เข้าไปวุ่นวาย ไม่เข้าไปเป็นตัวนำในการจัดการรับน้องอีก เพราะแม้จะทำมาแค่สามครั้งแต่ผมก็รู้สึกเหนื่อยหน่ายเต็มทีกับปัญหาซ้ำซาก ที่รุ่นพี่หลายๆคนซึ่งเคยผ่านการทำงานน่าจะตอบได้ แต่ก็ยังไม่วายที่มันจะหลุดขึ้นมาถึงผม ก็เข้าใจนะว่า มันคงเป็นผลมากจากคำแนะนำที่ว่า มีอะไรก็ให้คุยกับรุ่นพี่ และเข้าใจว่าบางครั้งคุยกับรุ่นพี่มาดี ก็ยังมาโดนผมตีกลับ (ด้วยเหตุผลที่หนักแน่นกว่า) เสียอีก บางทีนี่อาจจะเป็นการตัดปัญหา ให้มาคุยกับผม หรือรุ่นพี่ที่แก่กว่าผมเสียเลย ก็เข้าใจ แต่ก็อดเบื่อไม่ได้เหมือนกัน

เอ่อ...ถึงเบื่อแต่ก็ยังยินดีตอบนะ

บอกแล้วว่า ไม่ได้ตอบปัญหารับน้อง แต่มันคือการตอบปัญหาชีวิต

ก็ขอประกาศวางมืออย่างเป็นทางการ เป็นอันว่าสบายใจกันได้ ว่าต่อไปนี้ผมจะไม่เข้าไปวุ่นวายกับการรับน้อง (โดยไม่ได้รับเชิญ) อีก ที่ผ่านมา หากท่วงท่าความคิดของผมได้ไปเหยียบย่ำน้ำใจของใครเข้า ผมก็คงจะขอโทษไว้ณ.ที่นี้ ขอโทษจากใจจริง โดยไม่อ้างถึงซึ่งความหวังดีใดใดทั้งสิ้น

แต่ผมจะไม่ยอมรับว่าที่ผมทำไปนั้นมันผิด เว้นเสียแต่ว่าพวกคุณจะมีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอมายืนยัน ว่าสิ่งที่ผมทำนั้นผิด แต่ผมขอแนะนำว่า การหาผิดถูกเพื่อแบ่งฝ่ายหรือเอาชนะกันนั้นไม่ใช่เรื่องดี เราควรศึกษาซึ่งความแตกต่างทางความคิด อันนำมาซึ่งอคติหรือความเกลียดชังใดใด เพื่อได้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันที่มากขึ้น

แต่ว่า ถึงจะไม่ได้วุ่นวายกับการจัดรับน้องแล้ว ผมก็ยังยืนยันว่าผมยินดีที่จะให้คำแนะนำ หากยังมีคนต้องการ เพราะอย่างที่ผมบอกไป ผมถือว่านั่นคือการตอบปัญหาชีวิต

และสำคัญที่สุด...ผมจะยังคงไปรับน้องตราบที่ยังไปได้

เพราะไม่ว่าที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร จะมีเรื่องดีเรื่องไม่ดี มีเรื่องถูกใจมีเรื่องขัดใจมากน้อยเพียงไหน การรับน้อง หรือมีกิจกรรมใดใดร่วมกับพวกคุณ ก็เป็นความทรงจำที่ดีสำหรับผมเสมอ

ผมคงไม่พูด...ว่าผมรักพวกคุณ

แต่ผมขอขอบคุณ...

ขอบคุณที่สอนอะไรผมมากมาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้าง ให้ตัวผมได้เป็นตัวผมอย่างที่เป็นในทุกวันนี้

ก้มหัวขอบคุณให้จากใจจริงครับ...

ปล.1: ลองทบทวนกันบ้างนะครับว่า ภายใต้เงินแต่ละครั้งที่จ่ายลงไปเพื่อการรับน้องนั้น มันทำให้บรรลุจุดประสงค์ ที่พวกเราใช้เป็นเหตุผล (ข้ออ้าง?) ในการจัดกิจกรรมรับน้องมากน้อยแค่ไหน เพราะในความรู้สึกของผม ในขณะที่ตัวเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความคุ้มค่าของมันกลับกำลังลดน้อยลงไปทุกที จนเราควรจะคิดถึงการรับน้องในรูปแบบอื่น ที่น่าจะทำให้บรรลุจุดประสงค์ได้มากกว่า และคุ้มค่ากับเงินที่ลงไปมากกว่ากันได้แล้ว พวกคุณเรียนเศรษฐศาสตร์ น่าจะมีความคุ้นเคยกับ Opportunity Cost, Cost & Benefit Analysis และ The 3 Core Questions of Production; What, How, For Whom เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง ซึ่งในสิ่งสุดท้ายนั้น ผมขอแนะนำว่า ก่อนจะผลิตอย่างไร เราต้องคิดให้หนักก่อนว่า เรากำลังจะผลิตเพื่อใคร และเรา ควรที่จะรู้จักใครที่เรากำลังจะผลิตเพื่อนั้นให้ดีเสียก่อน

ปล.2: และถ้าใครข้องใจอะไร ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ถามเถอะครับ ถามมาได้ ผมยินดีตอบทุกสิ่ง ผมสนับสนุนการพูดคุยทำความเข้าใจกัน และไม่มีความจำเป็นที่คุณจะต้องถามในฐานะที่ผมเป็นพี่คนหนึ่ง ในการพูดคุยเรื่องความคิดกัน ผมยินดีจะถอดสถานะทางสังคมจอมปลอมทั้งหลายทั้งปวงทิ้งไป คุณสามารถถามได้โดยลืมผมในฐานะ “พี่เบิร์ด” หรือ “ป๋าเบิร์ด” ไป และถามในฐานะที่ผมเป็นเพียง “ไอ้เหี้ยเบิร์ด” ตัวหนึ่ง เพราะผมเชื่อว่า “มารยาททางสังคมเป็นเพียงตัวบิดเบือนความจริงตัวหนึ่ง” เท่านั้นครับ

This page is powered by Blogger. Isn't yours?