Tuesday, January 23, 2007

 

หมีมองคน: มุสาวาทชาตินิยม

ปล. (ปฐมลิขิต): นอกจากโป้ปดมดเท็จแล้ว มุสายังรวมความถึงการส่อเสียด ติฉินนินทาอีกด้วย

ผมชอบไปนั่งอยู่ใต้คณะเรียนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง...

คนที่ผมรู้จักมากมายวนเวียนชีวิตอยู่ที่นั่น คณะเศรษฐศาสตร์อันดับหนึ่งของประเทศ อันดับสี่ของเอเชีย แต่เหล่านั้นก็แค่บอกใบ้ให้รู้ว่าผมไปนั่งอยู่ที่ไหน ไม่ใช่สาระสำคัญอะไรของเรื่องราวที่กำลังจะพูด

ผมชอบเวลาเพลงชาติดัง...

เป็นเรื่องสนุกไม่หยอก เพราะในขณะที่เพลงชาติดังขึ้น และผมนั่งลอยหน้าอย่างไม่ยี่หระกับธรรมเนียมปฏิบัติของสังคม (ที่ถูกผู้อื่นกำหนดไว้) ผมก็สามารถครุ่นคิดเอาเองไปเรื่อยเปื่อย ถึงสิ่งที่แฝงฝังไว้ในเนื้อเพลงดังนี้คือ ความพยายามบ่งบอกถึงลักษณะความเป็น “ชาติไทย” (ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน) บ่งบอกอุปนิสัยของชนในชาติ ที่ทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ (อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี) เปรียบเทียบลักษณะนิสัยที่สามารถย้อนแย้งได้ตามสภาวการณ์ (ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด) บ่งบอกถึงสิ่งอันเป็นที่รัก หวงแหน และพึงรักษาไว้ให้ได้ (เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่) ต่อด้วยความในวรรครองสุดท้ายของเพลง (สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี) ซึ่งฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความหมายในสองลักษณะ หนึ่งคือสิ่งที่เน้นย้ำให้เชื่อกันมาตลอดว่าบรรพบุรุษทำ และสอง ภายใต้ใจความเดียวกันนั้น แสดงถึงจุดมุ่งหมายที่อยากให้คนรุ่นหลังได้ปฏิบัติในแบบเดียวกัน เพื่อจุดประสงค์สุดท้ายที่วรรคสุดท้ายของเพลง (เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัยชโย)

พร้อมๆกันนั้น ผมก็ได้ดูท่าที ปฏิกิริยาที่คนที่นี่มีต่อเพลงชาติ พวกเขาจะลุกขึ้นช้าๆ ราวกับไม่อยากทำบาปด้วยการพรากตูดจากเก้าอี้ ยืนทอดสายตาเหม่อลอยไปไกล (มีบ้างที่มาตกอยู่ที่ผม) ยืนพักขา ยืนเกาะโต๊ะ มือแกะนั่นเท้าเกานี่ รอคอยเวลาให้เพลงจบ บ้างถ้าคุยโทรศัพท์มือถือ คุยกับเพื่อน หรืออ่านหนังสือติดพันอยู่ พวกเขาก็จะปฏิบัติมันต่อไป และอย่างราบรื่นราวกับเพลงชาติไม่สามารถสกัดกั้นท่วงทำนองชีวิตของพวกเขาได้เลย

จนเพลงจบไปแล้ว และนั่งคิดเดาเอาเองเสร็จสรรพไปแล้ว ผมก็ยังจมตูดอยู่กับผิวเก้าอี้ ลอยหน้าท้าทายสายตาประปรายของประชาชนที่มองมา พลางครุ่นคิดถึงเสียงของคนไม่รู้จัก ที่ตะโกนใส่คนที่ผมรู้จักที่นั่งลอยหน้าอยู่ใกล้ๆกัน ตะโกนในช่วงที่เพลงบอกว่าล้วนหมายรักสามัคคีว่า “มึงเป็นพม่าเรอะ?”

นึกแล้วก็ให้แปลกใจ ว่าเชื้อชาติสัญชาติมันเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ ภายใต้มาตรฐานว่าได้กระทำในธรรมเนียมปฏิบัติ ที่รัฐในสมัยหนึ่งกำหนดไว้ให้หรือไม่เท่านั้นเองหรือ

ผมก็ตลกไปเรื่อย...

มันจะเป็นเช่นนั้นไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีกฎหมายข้อใดบัญญัติไว้ ว่าในกรณีที่ผมไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติไทยแล้ว ผมจะกลายสัญชาติเป็นพม่าได้ทันที และผมก็ยังสงสัยต่อไป ว่าทำไมต้องพม่า เป็นอเมริกาไม่ได้หรืออย่างไร หรือเป็นฟินแลนด์ เป็นเยอรมัน เป็นเกาหลี เป็นญี่ปุ่น เป็นอังกฤษไม่ได้หรือ เผื่อคนที่ตะโกนจะได้สำนึก ลึกอีกหน่อยก็สำเหนียก ว่าผมนี่เอง ชนชาติที่ผลิตรูปแบบรสนิยมการแต่งกาย รสนิยมการกินอยู่ รสนิยมทางดนตรี โทรศัพท์มือถือ เกมคอนโซล เกมออนไลน์ ซีรี่ส์ยอดนิยม ที่เรียนต่อให้ชุบตัว เบียร์ให้ดื่ม หรือแม้กระทั่งหนังโป๊ให้เขาเสพย์

แล้ว...ทำไมต้องพม่า

คำตอบง่ายๆ เพราะภายใต้เนื้อหาประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เราร่ำเรียนกันมา พม่าเป็นศัตรูเดียวที่มีความชัดเจนที่สุด ว่าเป็นศัตรูของคนทั้งชาติ พม่าจึงเป็น “ความเป็นอื่น” หนึ่งเดียว ที่น่าจะเกาะติดอยู่ในความรู้สึกของใครหลายๆคน หรืออาจจะทุกคนโดยที่ไม่ทันมีใครได้รู้ตัว ดังนั้น ภายใต้ฐานปฏิกิริยา*ที่ว่า “การเคารพธงชาติแสดงถึงความรักชาติและความเป็นพวกเดียวกัน” พอเห็นใครไม่ยืนตรง ก็จะบอกว่าเป็นพม่า หรือ “คนไทยหรือเปล่า?” ไปเสียหมด น้อยนักจะกล่าวหาว่าเป็นลาว เพราะส่วนใหญ่มักใช้ลาวแสดงถึงอุปลักษณ์อย่างอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องรักชาติ แต่เป็นเรื่องความเหนือกว่าต่ำกว่า และภายใต้ประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน พม่านั้นเป็น “ความเป็นอื่น” หนึ่งเดียวที่มีภาพลักษณ์ของการคุกคามเอกราชของไทยมากที่สุด (มากกว่าภัยล่าอาณานิคม เพราะอย่างหลังนั้นเราป้องกันได้ ด้วยวิธี “เสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่” อันโด่งดังในชั้นเรียนเช่นกัน) จึงไม่น่าแปลกใจ หากการเคารพธงชาติ ภายใต้เพลงชาติอันมีความหมายแฝงฝังดังกล่าวไปแล้ว จะเป็นการแสดงถึงความรักชาติ อันถูกกำหนดให้แสดงออกด้วยการยืนตรง ใครที่ไม่ยืนตรง ย่อมหมายความว่าไม่รักชาติ และกลายเป็น “ไม่ใช่ไทย” หรือ “อ้ายพม่าข้าศึก” อย่างที่เคยเรียกกันในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไปได้โดยง่าย

[*ผมเรียกมันว่าปฏิกิริยา เพราะได้คิดตรองดูแล้วว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้น มีลักษณะของความเป็น “Reflex” หรือปฏิกิริยาสะท้อน มากกว่าที่จะเป็น “ความคิด” กล่าวคือ มันดีดเด้งออกมาจากไขสันหลัง ไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองโดยสมอง คล้ายๆพอพาฟลอฟ[1]สั่นกระดิ่งแล้วหมาน้ำลายไหล เพราะจำได้ว่าจะได้กินเนื้อ]

ผมจึงสนใจต่อไปว่า แบบใดเล่าจึงเรียกว่าการเคารพรัก ระหว่างผมที่นั่งจมตูดลอยหน้า วิเคราะห์ความหมายที่แฝงฝังในเนื้อเพลง กับพวกที่ยืนขึ้นในท่าพักขาข้างหนึ่ง สนทนากันอย่างต่อเนื่องจากตอนนั่ง อ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง คุยโทรศัพท์อย่างต่อเนื่องจนกลับมานั่งอีกครั้ง ผมเกรงว่าในกรณีนี้ ทั้งความเป็นผม และความเป็นอื่นอันผมหมายถึงพวกเขาบ้างนั้น จะไม่มีลักษณาการใดเลยที่เรียกได้ว่าเป็นการเคารพ เพราะล้วนไม่มีลักษณาการใดที่แสดงถึงการ “ยืนตรง” ตามแบบที่เข้าใจกันว่าคือเหยียดกายตรง ขาเหยียดชิด สองแขนแนบชิดลำตัว

แต่หากถามว่ามีใครผิดไหม ผมว่าไม่ เพราะภายใต้ยุคสมัยที่เราใช้ชีวิตอยู่นี้ ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีความห่างไกลจากความรู้สึกร่วมที่แฝงฝังอยู่ในเพลงชาติพอๆกัน เนื่องด้วยไม่ได้มีเหตุการณ์หนึ่งใด อย่างเช่นตกเป็นเป้าของการล่าอาณานิคม การคุกคามทางทหารจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือสิ่งที่เคยถูกย้ำหนักหนาว่าเป็นภัยอย่าง “คอมมิวนิสต์” ซึ่งสองอย่างแรกนั้น เราคุ้นเคยจากในแบบเรียน ว่าเป็นตัวกระตุ้นเร้าที่รุนแรงเพียงพอจะทำให้เราหวั่นไหว หวาดกลัวต่อการสูญเสียเอกราช จนต้องคว้าจับเอาสิ่งใดก็ตามอันเป็นภาพลักษณ์ของความเป็นชาติมาถือไว้ ดังนั้น หากมิได้รู้สึก “เข้าถึง” หรือที่วัยรุ่นเรียกว่า “อิน” ไปกับเพลงจริงๆ ผมว่า หากไม่มีใครยืนตรงอย่างแข็งขัน ก็ย่อมไม่น่าใช่เรื่องผิดบาปแต่ประการใด ถ้าจะผิด ก็คงผิดในเชิงสังคมความเชื่อมากกว่า

และในขณะเดียวกัน ผมก็อดไม่ได้ที่จะสงสัยต่อไป ว่าสิ่งที่เรียกกันว่า “ชาติ” อันนำมาซึ่งลัทธิ “ชาตินิยม” นั้น แท้จริงแล้วมันคือสิ่งใดกัน

ตามปรกติ ทันที่ผมสงสัยในคำใดใด ผมจะเปิดหาความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ฯ** ด้วยใช้ใจ (ที่ถูกปลูกฝัง) ยอมรับว่ามันเป็นคำไทย โดยมิต้องสนใจว่า แท้จริงแล้ว เป็นคำที่ถูกนำเข้ามาจากภาษาบาลี สันสกฤต หรือลิขิตอารยธรรมอื่นใด เพราะพอจะหรี่ตาอนุโลมได้ว่า นั่นเป็น “ความฉลาดในการประสานประโยชน์” แบบหนึ่งตามนัยยะของ “ความเป็นไทย” ตามแบบสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวคือรู้จักรับเอาสิ่งดีใดจากชนชาติต่างๆ มาผสมผสานกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย จึงไม่น่าแปลกใจ หากจะพบในพจนานุกรมว่า หลายๆคำที่ใช้กันจนชินนั้น ล้วนเป็นคำบาลีสันสกฤต หรือที่อ้างกันว่าเป็นคำไทยนั้น ก็เกิดมาจากการที่ไทยนำเอาคำบาลีสันสกฤตมาผสมกันอีกที

[**ที่บ้านมี 2 เล่ม คือ พ.ศ. 2493 และ 2525 แต่ยังไม่มีฉบับล่าสุด คือฉบับ พ.ศ. 2542 แต่เมื่อค้นดูแล้วก็มิได้พบความแตกต่างอื่นใด ในคำที่จะใช้อ้างในที่นี้]

ในความเหมือนกันของคำว่าชาติ ผมพบว่า มีความแตกต่างทางความหมาย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ฯปีพ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525 ดังนี้

พ.ศ. 2493 หน้า 335

ชาติ น. การเกิด, การเป็นขึ้นมา, การเอากำเนิดใหม่: พวก, ตระกูล, ครัว, เหล่า, กำเนิด, ชนิด, จำพวก, ชั้น, หมู่, ประเทศ. (ป.; ส.)

พ.ศ. 2525 หน้า 267 - 268

ชาติ๑,ชาติ- ๑ [ชาด, ชาติ-, ชาดติ-] น. การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า; กำเนิด เช่น มีชาติมีสกุล; เหล่ากอ, เทือกเถา, เหล่าพันธุ์, เช่น ชาติเสือ, ชาติขี้ข้า; ชนิด, จำนวน, พวก, ชั้น, หมู่. (ป., ส.)

ชาติ๒, ชาติ- ๒ [ชาด, ชาติ-, ชาดติ-] น. ประเทศ; ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม อย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน, ประชาชาติก็ว่า.

ชาติ๓ [ชาด] คำประกอบท้ายคำศัพท์ เมื่อประกอบเข้าแล้วมีความหมายไม่ต่างไปจากคำศัพท์เดิม เช่น พฤกษชาติ คชาชาติ สุคนธชาติ.

ชาติ๔, ชาติ- ๓ [ชาด, ชาติ-, ชาดติ-] น. รส เช่น ไม่เป็นรสไม่เป็นชาติ

(ทั้งนี้ทั้งนั้น นำมาให้ดูแต่เฉพาะความหมายของคำว่าชาติ ส่วนคำประสมอื่นที่เกิดจากการประสมกับคำว่าชาตินั้น ไม่นำมาให้ดู เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องการค้นหา)

หากดูตามข้อมูลดังกล่าว ก็จะพบว่า ชาติในสามความหมายหลังนั้น (ชาติ๒, ชาติ๓, ชาติ๔) น่าจะกลายเป็น “คำไทย” โดยอาศัยความหมายที่ตั้งขึ้นโดยผู้ที่เรียกตัวเองว่า “คนไทย” ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่ชาติในสามความหมายหลังนั้น ไม่มีการวงเล็บต่อท้ายแสดงที่มาของคำ ว่ามาจากภาษาบาลีสันสกฤต (ป., ส.) และ “คนไทย” ที่ว่า ก็น่าจะเป็นคนไทยภายใต้ความหมายของ “ชาติ๑” และ “ชาติ๒” ที่ได้รับการเติมต่อท้ายด้วยคำว่า “ไทย” นั่นเอง

อนึ่ง พจนานุกรมฉบับพ.ศ. 2525 นั้น เป็นฉบับปรับปรุงจากฉบับพ.ศ. 2493 โดยเริ่มมีการปรับปรุงตั้งแต่พ.ศ. 2520 จึงเป็นไปได้อย่างค่อนข้างจะแน่นอนว่า ชาติ๒ ชาติ๓ และชาติ๔ นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วง 32 ปีหลังคำว่า “ชาติ” แบบที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อพ.ศ. 2493 ซึ่งน่าจะมองได้สองกรณีว่า เป็นการ “สร้างขึ้นใหม่” หรือไม่ก็ “พิเคราะห์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วเห็นความหมายชัดเจนขึ้น” แต่แน่นอนว่าล้วนเป็นการบัญญัติความหมายแบบไทย

อยากจะขอพูดถึงชาติในความหมายของ “ชาติ๒” ...

ด้วยว่ากลายเป็นคำไทยแล้ว ก็จะขอเติมคำว่า “ไทย” เข้าไป ทั้งหลังคำว่าชาติ และที่ท้ายของทุกหน่วยความหมายของ “ชาติ๒” (ผมต้องเติม และระบุความหมายเอาเอง เพราะในพจนานุกรมไม่มีคำว่า “ชาติไทย” และความหมายระบุไว้) ก็จะได้รูปลักษณะคำ ชนิดคำตามหลักไวยากรณ์ และความหมายใหม่ดังนี้

ชาติไทย [ชาดไท] น.ไทย. ประเทศไทย; ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศไทย, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติไทย ศาสนาไทย ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย ความเป็นมาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย อย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลไทยเดียวกัน, ประชาชาติไทยก็ว่า.

หากว่ากันตามความหมายดังกล่าว ภายใต้คำเชื่อม “หรือ” อันเป็นสันธานบอกความให้กำหนดเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมหมายความว่า เพียงอยู่ในปกครองรัฐบาลไทย ก็นับได้ว่าผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงความใดใดก่อนหน้าคำว่า “หรือ” เพราะฉะนั้น ก็ยิ่งไม่ต้องไปกังวล (ที่จริงก็มิได้กังวล) ว่าตนจะเป็นพม่า เพียงเพราะนั่ง หรือยืนพักขาเคารพเพลงชาติไทย

ก่อนจะว่ากันต่อไป ผมเหลือบมอง และพบความสนุกบางประการ ในการเอาคำว่าไทยไปต่อที่ท้ายคำ ชนิดคำตามหลักไวยากรณ์ ความหมาย และรวมถึงที่มาของคำว่าของ “ชาติ๑” ด้วย

ชาติไทย [ชาดไท] น.ไทย การเกิดไทย เช่น ชาตินี้ไทย ชาติหน้าไทย; กำเนิดไทย เช่น มีชาติมีสกุลไทย; เหล่ากอไทย, เทือกเถาไทย, เหล่าพันธุ์ไทย, เช่น ชาติเสือไทย, ชาติขี้ข้าไทย; ชนิดไทย, จำนวนไทย, พวกไทย, ชั้นไทย, หมู่ไทย. (ไทย)

กลับมาว่ากันต่อ...

คราวนี้ลองมาดูความหมายของคำว่า “ชาตินิยม” กันบ้าง ซึ่งพบว่า ในพจนานุกรมฉบับพ.ศ. 2493 นั้น ยังมิได้มีการบัญญัติความหมายไว้ แต่ถ้าเป็นฉบับพ.ศ. 2525 หน้า 268 ก็จะพบความหมายดังนี้

ชาตินิยม [ชาดนิยม] น. ลัทธิที่ถือชาติเป็นใหญ่, ความรักชาติ.

ถ้าเอาการปรากฏในพจนานุกรมเป็นหลัก แม้จะล่วงเลยมาถึง 25 ปี แต่ก็ต้องถือว่า “ชาตินิยม” เป็นของใหม่ใกล้ตัว แต่ถ้าว่ากันด้วยการปรากฏกระบวนการแล้ว ชาตินิยมเป็นเรื่องไกลตัวทางกาลเวลา หากแต่ใกล้ตัวหนักหนาในเรื่องของผลกระทบ ชนิดที่ไม่ต้องไปขุดค้นกันเลยว่า พจนานุกรมฉบับล่าสุดนั้นนิยามความหมายของชาตินิยมไว้ว่าอย่างไร

โดยลักษณะแล้ว ภายใต้ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์” (Centralized Historiography) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้าง “ชาตินิยมรวมศูนย์” (Centralized Nationalism) นั้น ความเป็น “พวกเดียวกัน” ในความเป็นไทยที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึก บอกว่าตนเป็น และอ้างถึงนั้น ย่อมอธิบายได้ชัดเจนที่สุดโดยใช้ความหมายของ “ชาติไทย” อันมีความประสมมาจากคำราก “ชาติ๒” (คำบาลีสันสกฤต ที่ตกต้องกลายเป็นคำไทย ด้วยการสร้างความหมายแบบไทยโดยคนไทยเพื่อคนไทย) กับคำว่า “ไทย” เพราะนอกจากเรื่องความเป็นพลเมืองไทย ที่ถูกกำหนดอย่างอัตโนมัติโดยข้อกฎหมายแล้ว นอกนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น บอกกล่าว และปลูกฝังผ่าน “ประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์” และ “ชาตินิยมรวมศูนย์” ดังกล่าว ซึ่งมีความเป็น “กลาง” แต่เพียงในเชิงภูมิศาสตร์ คือเป็นความ (อันควรจะ) เป็นไทย หรือสิ่ง (อันควรจะ) เป็นไทยตามสายตาของคนที่อยู่ในภาคกลาง (หรือให้ถูกต้องกว่านั้นก็ต้องบอกว่า คือความเป็นไทย หรือสิ่งเป็นไทยตามสายตาของคนหยิบมือหนึ่งในภาคกลาง ที่ใช้สถานะทางการเมืองมาถือตนเป็นศูนย์กลาง) โดยมิได้มีการคำนึงถึงความยิบย่อยที่ยิ่งใหญ่ อย่างเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรมความเชื่อ หรือแม้กระทั่งรูปแบบการปกครองภายใน ที่มิได้เหมือนกันในทุกภูมิภาค หรือที่เล็กลงมาคือท้องถิ่นสักเท่าไรนัก

จึงกล่าวได้ว่า เป็นการขยายความเป็นไทยภาคกลาง ให้กลายเป็นความเป็นไทยสำหรับทุกภูมิภาค โดยให้ทุกภูมิภาคปฏิบัติใน “สิ่งเป็นไทย” ตามที่ได้รับขยายไปจาก “ภาคกลางไทย” ซึ่งผมขอเรียกเอาเองว่าเป็น “ความเป็นไทย” แบบ “Central Region Centricism” คือเอา “ความคิด” ในภาคกลางเป็นศูนย์กลาง (ซึ่งกล่าวไปแล้วว่ามาจากชนชั้นผู้นำ) ส่วนจะขยายการครอบคลุมไปถึงไหนนั้น ให้อาศัยเอา “พื้นที่เอกราช” ที่ถูก “คนอื่น” เขาขีดแบ่ง เหลือไว้ให้จากยุคสมัยการล่า (ถูกล่า) อาณานิคม เป็นขอบเขตของการแพร่กระจายสำคัญ

คงเพราะในเชิงประวัติศาสตร์ ที่กลายมาเป็นแบบเรียน และในชีวิตจริงจนตราบเท่าทุกวันนี้ เรานั้นยังไม่เคยสูญเสียเอกราชอธิปไตย จนนำไปถึงสภาวการณ์ที่ต้องเผชิญกับ “การปกครองที่ไม่เป็นธรรมโดยรัฐ” จึงเป็นการยากที่เราจะเข้าใจว่า ผู้ที่ต้องสูญเสียเอกราชอธิปไตย จนต้องเผชิญกับลักษณะการปกครองดังกล่าว จะต้องใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกอย่างไร

หรือทำการต่อต้าน...ด้วยความรู้สึกอย่างไร

เราเรียนรู้การสูญเสียความเป็นเอกราช {[เอกกะราด] ว. เป็นอิสระแก่ตน, ไม่ขึ้นแก่ใคร.} แต่เพียงในมิติเดียว คือการพ่ายแพ้ของราชธานี (ซึ่งอาจเปรียบได้กับศูนย์กลางประเทศ) ต่อกำลังรบข­องอริราชศัตรูต่างๆ โดยถือว่าเป็นอริราษฎร์ศัตรูด้วย เพราะได้รับการปลูกฝังกันเป็นนัยว่า หากไม่มีราชก็ไม่มีราษฎร์ จนลืมนึกกันไปว่า หากไม่มีราษฎร์ไว้ระบุความเป็นเบื้องล่าง ก็ย่อมไม่อาจมีราชให้ได้ระบุความเป็นเบื้องบน

แต่หากดูตามความหมาย (ในพจนานุกรม) ของคำว่าเอกราชแล้ว เราก็จะพบว่า ทันทีที่ถือกำเนิดขึ้นมา เราทุกคนล้วนไม่มีเอกราชในตัว เพราะเราไม่ได้มีอิสระในทุกสิ่ง เรามีแต่อิสระที่ถูกกำหนดไว้ให้โดยรัฐ โดยอยู่ในรูปสิทธิหน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมายเท่านั้น และจะได้รับการคุ้มครองหรือลงโทษตามกฏหมาย แล้วแต่ว่าเราเป็นผู้ละเมิดหรือถูกละเมิด และสิ่งที่รัฐกำหนดนั้น อาจอยู่ในรูปความเชื่อร่วมของสังคม ที่ถูกปลูกฝังร่วมกัน อันสามารถกลายเป็นมาตรฐานของสังคม และทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อว่า ตนสามารถมอบ “บทลงโทษทางสังคม” (Social Sanction) ในรูปแบบต่างๆแก่ใครก็ตาม ที่มีความคิดเชื่อผิดแผกไปจากนั้น

จึงพอจะทำให้เข้าใจได้ว่า สำหรับรัฐแล้ว เอกราชของชาติคือเอกราชของชน แต่เอกราชของชนนั้น ไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นเอกราชของชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นั่นก็เป็นเพราะ “ตน” ในความหมายของเอกราชนั้นไม่ได้หมายความถึง “Individual” หากแต่หมายถึง “ประเทศ” หรือ “เมือง” หรือ “รัฐ” ใดใดก็ตามที่คอยปกครอง “Individual” ที่อยู่รวมกันอีกที ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า การที่ Autonomy มีคำเรียกเป็นภาษาไทยว่า “เอกราช” ที่มาจาก “เอก+ราชา=ราชาองค์เดียว” ย่อมเป็นไปได้ว่า คำว่า “เอกราช” แบบไทยนั้น สร้างขึ้นภายใต้ความคิดเชื่อของผู้มีอำนาจ ว่าคือการอยู่ร่วมกันภายใต้การปกครองของราชาพระองค์เดียว ซึ่งก็หมายความว่า หากจะมีเอกราช เราต้องมีพระราชาสูงสุดเพียงพระองค์เดียว และจะต้องมิทรงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ หรือประเทศอื่นใด

เราจึงคุ้นชิน กับเอกราชที่เกิดขึ้นแต่เมื่อมีการเปรียบปะทะ กับอำนาจรัฐที่มาจากนอกประเทศ แต่ยากจะรู้สึกคุ้นชิน หรือทำใจยอมรับ กับการเรียกร้องเอกราช ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่าง (คนกลุ่มน้อย, คนชายขอบก็ว่า) ภายในประเทศ ในขณะที่รัฐเอง ก็ให้คำจำกัดความเดียว ต่อการเรียกร้องเอกราชของกำลังชนในประเทศนั้น ว่าเป็นความพยายามเพื่อ “แบ่งแยกดินแดน” โดยมิเคยเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริงของความต้องการนั้น หรือที่เปิดเผยออกมา ก็ยังเป็นเหตุผลแบบที่รัฐอยากให้เป็น อยากให้ทุกคนเชื่อว่าเป็น แต่มิยอมเปิดเผยความจริง ในส่วนที่เป็นการกระทำของรัฐแต่โบราณนานมา หรือแม้แต่ในปัจจุบัน ว่าเพราะได้เคยไปทำสิ่งใดไว้หรือไม่ จึงทำให้เกิดการเรียกร้องเอกราชนั้นขึ้น

จึงควรได้รับรู้กันว่า การเปิดเผยความจริงต่อสื่อ แต่เฉพาะความจริงในส่วนที่รัฐต้องการให้รับรู้ หรือเฉพาะความจริงในรูปแบบที่รัฐต้องการให้รับรู้ ก็เรียกได้ว่าเป็นการควบคุมสื่อแบบหนึ่ง โดยหวังผลเป็นการควบคุมประชาชน ให้อยู่ใต้อำนาจรัฐอีกที

ผมคงไม่ลงรายละเอียด ถึงความเป็นมาของทฤษฎีเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เพราะมีผลงานทางวิชาการมากมาย ที่พูดถึงความเป็นจริงของสิ่งที่รัฐ (ในขณะนั้น ซึ่งผมไม่รู้ว่ารัฐในขณะนี้มีความตื้นลึกหนาบางในความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแค่ไหน) เรียกว่า “กบฎดุซงยอ” ที่รัฐใช้อัตวิสัยโยงเข้าว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “ฮัจญีสุหลง” มุสลิมหัวก้าวหน้าผู้เป็นเจ้าของ “ข้อเรียกร้อง 7 ประการ” และหายอย่างตัวลึกลับไปพร้อมกับบุตรชายคนโตและพรรคพวก หลังจากตำรวจสันติบาลเรียกไปพบที่สงขลา (13 สิงหาคม 2497) โดยข้อเรียกร้องดังกล่าว มีใจความเพื่อความเป็นเอกราชทางการปกครอง ที่สอดคล้องกับรูปแบบความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวมลายูมุสลิม ซึ่งไม่ได้รับจากรัฐไทย ทั้งในด้านความเข้าใจและการปฏิบัติใช้ อย่างถูกต้องเพียงพอ และสม่ำเสมอ (ความผันผวนทางการเมืองเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่ง และจงอย่าลืมว่า การเมืองนั้นขับเคลื่อนโดยคน เช่นนั้นแล้ว ความไม่จีรังสอดคล้องนั้นย่อมเป็นผลจากทรรศนะของคน ผู้มีอำนาจขับเคลื่อนการเมือง โดยแรงขับที่รุนแรงที่สุดน่าจะเป็นแนวคิดในเรื่องของนโยบายสร้างชาติ) และข้อเรียกร้องดังกล่าว ยังทำให้ฮัจญีสุหลงตกอยู่ในสถานะจำเลยในคดี “ขบถแบ่งแยกดินแดน” อีกด้วย

และคงไม่พูดถึงเรื่องราวการสร้างชาติ ด้วยการกระชากการแต่งกายแบบมุสลิม หรือแม้แต่แบบไทยเดิมทิ้ง แล้วให้แต่งกายแบบฝรั่งในทศวรรษค.ศ. 1940 - 1950[2] เพื่อแสดงความเป็นไทยอารยะ หรือพรบ.การศึกษา ที่ออกมาเพื่อสร้างการศึกษาแบบไทย (ภายใต้ความเป็นวิทยาศาสตร์แบบฝรั่ง) ขึ้นแทน โดยมิทันคำนึงว่าจะเป็นการคุกคามปอเนาะ หรือเรื่องการยกเลิก “ดะโต๊ะยุติธรรม” (ศาลอิสลาม) เพื่อใช้ระบบยุติธรรมแบบไทยแทน

หรือคงไม่พูดถึงเรื่องราวใกล้ตัวทางเวลา แต่ไกลตัวทางภูมิภาค หรือทางความสนใจ อย่างเรื่องการหายตัวลึกลับของผู้ต้องสงสัยจำนวนนับร้อย หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เรื่องความตายมากมายที่ยังคงคลุมเครืออยู่ในมัสยิดกรือเซะ และการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมในกรณีตากใบ (ที่น่าทึ่งราวกับเป็นการสะกดจิต กับปฏิบัติการราวเห็นว่าคนเหล่านั้นไร้ชีวิต กระทั่งมีผู้ถูกจับกุมส่วนหนึ่งพ่ายแพ้ต่อการสะกด ตกต้องกลายเป็นร่างไร้ชีวิตขึ้นมาจริงๆ) เพราะเหล่านั้นล้วนสามารถหาอ่านได้ไม่ยาก หากตกอยู่ในฐานะข้อมูลที่ได้รับความสนใจเพียงพอ และเยอะแยะมากมาย จนผมไม่อาจระบุชื่อเจ้าของผลงานได้หมด และยังไม่อาจอ่านได้ครบหมดเช่นกัน (แต่เป็นที่เชื่อได้เลยว่า เมื่อได้อ่านแล้ว ผู้อ่านย่อมได้รับมุมมองความคิดที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งความจริงที่แตกต่าง จากที่เคยรับรู้กันมาผ่านสื่อต่างๆอย่างแน่นอน)

จุดร่วมหนึ่งที่มองเห็น ทั้งจากมวลเหตุการณ์ดังกล่าว หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจยิบย่อยถึงระดับชีวิตประจำวัน เพียงความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างบุคคล ผมก็พบว่า ความเป็น “ชาตินิยม” ที่วิ่งผ่านกาลเวลามายาวนาน เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ที่นำมาซึ่งปัญหาหลายๆประการในรัฐ ในสังคม หรือเพียงหน่วยเล็กๆอย่างชีวิตของผม เช่น “มึงเป็นพม่าเรอะ?” เป็นต้น

แม้กระทั่งขณะที่นั่งเขียนอยู่นี้ ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกกังวลใจอยู่ลึกๆว่า ความของสิ่งที่เขียนนั้น จะไปเหยียบเอา “ตาปลาชาตินิยม” ที่เท้าไทยของใครเข้าหรือไม่

อันที่จริง ไม่ใช่เพียง “เอกราช” เพราะแม้แต่ “ความเป็นไทย” จะเป็นสิ่งไหนได้บ้างนั้น เราก็ยังรู้ขึ้นมาได้โดยเมื่อมีใครมากำหนด ยิ่งในสังคมที่มีความซับซ้อน ปะปนกันของความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างในทุกวันนี้ ย่อมยิ่งยากจะบอก ว่าสิ่งใดอันไหนที่เป็นไทยแท้ จึงต้องมีผู้ใหญ่ไทยที่ใส่สูท หรือแต่งกายแบบตะวันตก ห่อหุ้มไว้ภายในซึ่งชั้นในแบบตะวันตก หรือลึกกว่านั้นคือความคิดแบบตะวันตก ือสนับสนุนายในซึ่งชั้นในแบบตะวันตก ออกมาท้วงถามหา หรือสนับสนุนความเป็นไทยแท้แบบที่ตนว่าอยู่เป็นนิจ

และมีอยู่บ่อยครั้ง จนผมรู้สึกว่ามันเป็นประจำ ที่เมื่อคิดอยากจะปลุกสำนึกความรู้สึกรักชาติกันขึ้นมาทีไร ก็จะต้องมีการรำลึกลำเลิก ถึงบุญคุณว่าด้วยชีวิตเลือดเนื้อที่ (ว่ากันว่า) บรรพบุรุษได้ทาไว้ในประวัติศาสตร์ จนผมสงสัยว่า เป็นไปไม่ได้เลยหรือ หากเราจะปลุกจิตสำนึกความรักชาติ โดยยึดเอาจากสิ่งดีรอบตัวที่มีในปัจจุบัน หรือเพราะปัจจุบันนั้นไม่มีสิ่งดีที่ว่า เลยต้องไปขอความช่วยเหลือจากบรรพบุรุษกันร่ำไป

แต่ถ้าจะพูดถึงสิ่งดีของชาติ ที่ทุกวันนี้ยังมีอยู่อย่างชัดเจน และควรรักษาไว้ด้วยใจมั่นถึงขั้นชาติพลี ก็คงไม่พ้นสามสถาบันหลัก “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นแกนอุดมการณ์ชาตินิยมเดิม ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และปัจจุบัน มักตกอยู่ในฐานะ “Demagogic Weapon” อาวุธล่อหลอกที่ใช้อคติอันเปราะบางเป็นตัวนำวิถี ให้เหล่า “เดมาก็อก”*** ใช้ในการฟาดฟันศัตรูทางการเมืองเสียมากกว่า ดังเช่นที่เราจะเห็นคำว่า “ขายชาติ” หรือ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ถูกใช้กันเกร่อในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะกรณี “หมิ่นฯ” จะเห็นได้บ่อยมาก

[*** Demagogue: กลุ่มคนที่ช่วงชิงพื้นที่ทางอำนาจโดยใช้อคติความเชื่ออันเปราะบางเป็นตัวเหนี่ยวนำ พลิกย้ายถ่ายโอนกำลังส่วนใหญ่ของผู้คนมาเป็นกำลังสนุบสนุนของตน]

ภายใต้พระราชดำรัสเมื่อปลายปีพ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระแส “หมิ่นฯ” กำลังร้อนแรง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงดำรัสไว้เป็นความทำนองว่า “สามารถวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้ตามจริง” (แม้ความจริงแล้ว อาจจะเป็นพระบรมราชานุญาตเพื่อบอกคนบางคนในเวลานั้น ให้รู้จักสำเหนียกสถานะตนก็ตาม) ผมสงสัยเป็นหนักหนาว่า แล้วระหว่างผู้ที่ติเพื่อก่อ วิจารณ์เพื่อความก้าวหน้า กับฝ่ายที่กล่าวหาว่าฝ่ายติฝ่ายวิจารณ์นั้นกระทำการ “หมิ่นฯ” นั้น ฝ่ายใดกันแน่ ที่กำลังทำการ “หมิ่นฯ”

หรือในกรณีการตอบโต้กันทางการเมือง ภายใต้สภาพที่ต่างฝ่ายต่างก็ยึดโยงการกระทำของใครบางคน การกระทำของคนบางกลุ่มว่าเป็นการ “จาบจ้วง” พระบารมี ผมก็สงสัยอีก ว่าฝ่ายใดกันแน่ที่กำลังทำการ “หมิ่นฯ” เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้ว เป็นไปได้สูงว่า ต่างฝ่ายต่างก็ใช้สถาบันกษัตริย์ หรือกระทั่งบังอาจใช้องค์พระเจ้าอยู่หัวมาเป็นข้ออ้าง เป็น “Demagogic Weapon” ในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทั้งสิ้น

มาว่ากันต่อ...

“ชาตินิยม” ที่ถูกสร้างขึ้นนั้น เป็นไปเพื่อสร้างอัตลักษณ์อันเป็น “เอกลักษณ์” ของชาติ โดยเมื่อเป็น “เอกลักษณ์” (น. ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน) แล้ว ก็ย่อมมีความหมายโดยนัยอีกอย่างว่า เป็น “สิ่งที่เรามี เขาไม่มี” เมื่อเป็น “เอกลักษณ์ชาติ” จึงขยายนัยความหมายนั้นต่อไปได้ว่า “สิ่งที่ชาติเรามี ชาติเขาไม่มี” หรือ “สิ่งที่ชาติเราเป็น ชาติเขาไม่เป็น” เพื่อสร้างความแตกต่างอันชัดเจน ออกจากชาติอื่นๆ โดยจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนนั้น เกิดขึ้นในสมัยของความหวาดกลัวต่อภัยล่าอาณานิคม แม้ตอนนั้นความเป็น “รัฐชาติสมัยใหม่” จะยังไม่ปรากฏ เพราะ “สยาม” ยังมีการปกครองแบบ “รัฐราชาธิราช” แต่การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวแบบชาตินิยมก็ได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อบอกแก่คนในชาติ และมหาอำนาจผู้ควบรวมได้ว่า เหตุใดชาติอื่นในละแวกเดียวกันนั้นจึงถูกควบรวม และเหตุใดสยามเราจึงไม่ควรถูกควบรวม เพราะตัวผู้ควบรวม ย่อมอ้างเหตุผลเรื่องการแบ่งปันอารยะ มากกว่าจะพูดเหตุผลแท้จริงอย่างการช่วงชิงทรัพยากร

และหากไปเปิดดูในดิกชันนารีหลายๆเล่ม เราจะพบทันทีโดยมิต้องมานั่งขยายความเพิ่มเติมเองเลยว่า “ชาตินิยม” หรือ “Nationalism” นั้น สามารถหมายความไปในอีกทางว่า “ไม่ยอมรับ” ในชาติอื่น ด้วยคิดว่าชาติของเรานั้นดีกว่า และเป็นความหมายภายใต้การใช้กับตัวบุคคล

ไม่ว่าจะมองในทางไหน ก็ล้วนเป็นชาตินิยมที่เกิดขึ้นโดยการสร้างอัตตา และแบ่งเขาแบ่งเราอย่างชัดเจน ที่แลดูจะมีความย้อนแย้งกับชาตินิยมไทย หากใช้บนฐานพระพุทธศาสนา ที่มักกล่าวกันไปในทางที่ว่า ไทยนั้นเป็นเมืองพุทธ จึงมีความเมตตาเป็นเครื่องมือช่วยจัดการกับปัญหา ช่วยประสานความขัดแย้งต่างๆ และด้วยเมตตาอันช่วยประสานความขัดแย้งได้นี้เอง แม้สังคมเราจะแบ่งแยกเป็นชนชั้นก็ไม่เป็นไร หรือในทำนองที่ว่า พระพุทธศาสนาทำให้พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีเมตตา ด้วยทรงปกครองโดยทศพิธราชธรรม จึงทำให้ชาติเจริญก้าวหน้าและผาสุก

ที่ว่าย้อนแย้งนั้นก็เพราะว่า หลักใหญ่ใจความแห่งพุทธศาสนา ที่อยู่เหนือไปกว่าเรื่องเมตตากรุณา (อีกทั้งไทยนั้นมีเพียงเมตตา แต่ขาดกรุณา กล่าวคือมุ่งให้ผู้อื่นเป็นสุขแบบไทยคิด ผลคือเป็นสุขครั้งคราว ด้วยตกหล่นเรื่องทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์อย่างถาวร) ก็คือการสลายอัตตาให้สิ้น เพราะทุกสิ่งนั้นล้วนอนัตตา กับทั้งหากถือไว้ซึ่งอัตตา ย่อมนำมาซึ่งปัญหา เพราะทันทีที่เกิด “ตัวกูของกู” ขึ้นมา ก็หมายความว่าย่อมต้องมี “ตัวมึงของมึง” ขึ้นพร้อมๆกันด้วย ซึ่งย่อมหมายความว่า หากคิดใช้พุทธศาสนาเป็นคุณลักษณะหนึ่งของความเป็นไทย ก็คงไม่อาจเป็นได้ถึงระดับแก่น แต่เป็นได้เพียงตามคำสอนบางประการเท่านั้น จึงไม่ควรนำพุทธมาอ้าง เพราะถือได้ว่าเป็นการบิดเบือนแก่นแท้แห่งคำสอนด้วยกระพี้บางประการ (ผมถือว่าเมตตาเป็นเพียงกระพี้เมื่อเทียบกับแก่นใหญ่อย่างอนัตตา)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่ได้เป็นทั้งพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม หรือศาสนิกชนอื่นใด เพราะตราบที่ตนไม่อาจปฏิบัติตนได้ถึงแก่นแท้แห่งศาสนาใด ย่อมไม่อาจอ้างเอาตนเป็นชนในศาสนานั้นให้ตัวแก่นแท้ต้องแปดเปื้อน แต่ที่กล่าวราวปกป้องนั้น ผมปกป้องในฐานะที่พุทธเองก็เป็นศาสนาหนึ่ง อันมีคุณูปการต่อโลกเฉกเช่นศาสนาอื่น จึงมิควรถูกทำให้แปดเปื้อน ด้วยเหตุผลทางการเมือง (จะกล่าวต่อไป ว่าเหตุใดจึงเป็นการเมือง)

หรืออาจจะมีความเป็นไทยในแบบที่ว่า ทุกคน ไม่ว่าเป็นใคร ชนชาติใด ศาสนาใด ล้วนได้รับความเป็นไทยอย่างเท่าเทียมกันภายใต้พระบรมโพธิสมภาร หรือความเป็นไทยแบบรัชกาลที่ 6 ที่ทรงผนวกรวมไว้ใต้ความจงรักภักดีอันมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนา

จึงจะเห็นได้ว่า เรามีการสร้างชาติ ภายใต้การยึดโยงจิตใจ ความคิด รูปกระบวนวิธีคิด ให้ผูกติดอยู่กับสิ่งใดใด อันเป็นภาพลักษณ์ที่ใหญ่กว่ามิติเล็กๆใกล้ๆตัว แต่ยิ่งใหญ่อย่างเพียงความแตกต่างทางความคิด ทั้งยังถูกทำให้เชื่อว่า หากเชื่อมั่นในสิ่งใหญ่ที่ยึดโยงใจไว้นั้นแล้ว ชาติก็จะอยู่ได้ เช่นความคิดอย่าง “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เป็นต้น

หากได้ศึกษาถึงความเป็นมาของ “ชาตินิยมไทย” แล้วก็จะพบว่า มักถูกสร้างขึ้นมาอย่างรีบร้อน โดยมีปัจจัยเร่ง หรือปัจจัยบีบคั้นทางการเมือง ทั้งจากภายนอกอย่างการขยายขอบเขตครอบครองดินแดนของชาติมหาอำนาจในแต่ละยุคสมัย จนยุคสมัยหนึ่งต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ด้วยคาดผิดว่าญี่ปุ่นจะชนะ และพาตนเกาะกระแสมหาอำนาจเพื่อรอดพ้นจากภัยคุกคามจากตัวญี่ปุ่นเอง และจะได้เป็นใหญ่ไปด้วย แต่เมื่อไม่เป็นดังคิด ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ก็ต้องหันมาปลุกผีสำนึกดั้งเดิมว่าเป็นไทยคือมี “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยบอกว่าคอมมิวนิสต์จะทำลายสถาบันทั้งสามเสียสิ้น (ซึ่งเป็นความจริง)

หรือปัจจัยภายใน อย่างการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือการสร้างมโนทัศน์เรื่องชาติไทย ในแบบที่เป็นชาติของราษฎรในรัชสมัยเดียวกัน อันเป็นที่กังวลว่าอาจเป็นผลให้นำพาสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก Absolute Monarchy เป็น Constitutional Monarchy ได้ และในรัชสมัยเดียวกันอีกนั่นเอง ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ระหว่างฝ่ายจ้าวและฝ่ายที่ต่อต้านจ้าว (ผมเลือกใช้คำว่า “จ้าว” ที่เป็นภาษาโบราณ ซึ่งมีความหมายเดียวกับ “เจ้า” เพราะในแง่ของการออกเสียง และความรู้สึกส่วนตัวแล้ว การใช้คำว่า “จ้าว” ดูจะถูกต้องกว่า “เจ้า”) หรือการขยายตัวของคนจีนในสมัยเดียวกัน จนแลดูจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกรณีหลังสุดนี้อยู่ในข่าย “ผู้ที่ถูกทำให้เป็นอื่น” เพื่อสัมฤทธิ์ผลแห่งชาตินิยม

ด้วยความเร่งรีบ อันเป็นผลจากความผันผวนทางการเมืองดังกล่าว กระบวนวิธีการสร้าง “ชาตินิยมไทย” จึงออกมาในรูป “หักหาญกลืนกินซึ่งวัฒนธรรมอย่างเอาแต่ใจ” แทนที่จะเป็น “ผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมด้วยความเข้าใจ” เพราะต้องรีบสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เร็วที่สุด

(สามารถดูการเปลี่ยนแปลง และสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของชาตินิยมในแต่ละยุคสมัยได้จากตารางตอนท้าย)

ส่อแสดงถึงการไม่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตัวเองเต้นเร่าๆ ขยาดหวาดกลัวกับการกลืนกินดังกล่าว แต่ก็ยังใช้การกลืนกินดังกล่าวจัดการกับความแตกต่างภายใน เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดอันเกิดมีแต่ความหวาดกลัวต่อภัยจากภายนอก

และจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับการต่อต้านจากผู้คนแทบทั้งประเทศ เมื่อได้รับการเสนอว่าเป็นการกระทำของ “โจรก่อการร้าย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “แบ่งแยกดินแดน”

จนทำให้ผมสงสัยว่า หากในวันนี้ เราได้รับรู้ความจริงโดยถ้วนทั่วกันว่า ในความรู้สึก อันเกิดแต่การเสนอข่าวของภาครัฐ ว่า “เรา” เจ็บไปเยอะ “เรา” ตายไปเยอะ แต่พวก “เขา” เองก็ตายไปเยอะ เจ็บไปเยอะ และเจ็บมาอย่างยาวนานกว่าภายใต้การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งความรุนแรงในทุกวันนี้คือปลายทาง คือผลจากการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว คนส่วนใหญ่ก็อาจยังมีทัศนคติต่อมวลเหตุการณ์ดังกล่าวไปในแบบเดิมๆ เพราะยังคงตกติดอยู่ในวังวนความเชื่อที่ว่า ชาติไทยเป็นองค์ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่า ในเมื่อเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งเราเคยรบกับพม่า (ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์เช่นกัน) เพื่อชาติแล้ว จะต้องรบกับคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวบ้างจะเป็นไร

ถึงตรงนี้แล้ว ก็อยากจะขอยกเหตุการณ์ช่วงนี้ ที่แลดูเกี่ยวข้องโดยตรง ว่าน่าจะเป็นปัญหาหนึ่งจาก “ชาตินิยมไทย” ขึ้นมาประกอบ

เพราะเรื่องความตายของครูจูหลิง ที่เข้ากระบวนการทำให้เป็นอนุสรณ์ทรงจำ ผ่านทางการยื้อชีวิตอย่างยาวนาน อัครฐานแห่งงานศพ เอิกเกริกเกียรติยศประกาศ ก็อาจตกต้องกลายเป็น “เครื่องมือใหม่” ของ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์” เพื่อปลุกกระแสให้ “ชาตินิยมรวมศูนย์” ร้อนแรงขึ้นมาอีก

เรื่องความรู้สึกต่อความตายของครูจูหลิงนั้น ก็สามารถส่อแสดงถึงความตื้นเขิน ขาดความซับซ้อน ในการใช้มิติความคิดของคนส่วนหนึ่ง ต่อเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพื้นฐานการคิดแบบชาตินิยมไทยได้อยู่ไม่น้อย

อนึ่ง เพราะเราได้มีสถานะตั้งต้นแล้วว่า ผู้ถูกฆ่าคือ “ครู” และผู้ฆ่าคือ “โจร” และมีอุปลักษณ์สากลที่ค่อนข้างชัดเจนว่า “ครู” คือตัวแทนของ “ความดี” และ “โจร” คือตัวแทนของ “ความชั่ว” ซึ่งเมื่อโยงใยเข้ากับมิติทางศีลธรรมแล้วจะทำให้เห็นว่า ในเกมการฆ่านี้ ฝั่ง “ที่ถูกเรียกว่า” โจรนั้นมีแต่เสียกับเสีย และฝั่ง “ครู” นั้น แม้ต้องเสียชีวิตไป แต่ในเชิงของผลลัพธ์แล้วมีแต่ได้กับได้ คือไม่ว่าจะฆ่าหรือถูกฆ่า “ครู” ย่อมได้รับการประทับตราว่าเป็น “วีรชน” ในขณะที่ฝ่าย “โจร” ไม่ว่าจะฆ่าหรือถูกฆ่า สถานะก็ยังคงเป็น “โจร” ถ้าเป็นฝ่ายฆ่า คนก็ยิ่งสำทับความเป็น “โจร” ใส่ให้มากมายยิ่งขึ้น แต่ถ้าถูกฆ่า ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว หรือกระทั่ง “อุ้มเงียบฆ่าเงียบ” ก็อาจได้รับการหรี่ตามองว่าเหมาะสมแล้วเช่นกัน

จึงมักได้รับฟังแนวทรรศนะที่ว่า เหตุที่ต้องฆ่าครู เผาโรงเรียน ก็เพราะเหล่านั้นเป็นอุปลักษณ์แห่ง “ความดี” จึงเป็นการปรกติ ที่ “โจร” อันถืออุปลักษณ์แห่ง “ความชั่ว” จะต้องฆ่าและทำลาย เพราะจะได้ไม่มีสิ่งใดมาคอยสร้างเสริม และต่อยอด “ความดี”

นั่นเป็นการมองเพียงในแง่ศีลธรรม...ซึ่งคิดว่าน่าจะตื้นเขินเกินไปสำหรับกรณีดังกล่าว

เมื่อลงลึกไปในระดับวัฒนธรรม หากความคับแค้นในอดีต ของมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงโยงใยกับเหตุการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าว เราจะพบว่า เมื่อตัดเรื่องของความรุนแรงในพฤติกรรมไปแล้ว การฆ่าครู เผาโรงเรียนนั้นก็ย่อมไม่ใช่การฆ่า ไม่ใช่การเผาทำลาย ที่คุ้นชินกันในความหมายธรรมดาทั่วไป หากแต่เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ สื่อแสดงถึงการต่อต้าน ประกาศไม่รับเอาสิ่งซึ่งรัฐจัดให้ ด้วยเชื่อว่ามีสิ่งดีอื่นที่สำคัญเหนือกว่า ซึ่งการกระทำเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว ภายใต้ความเชื่อดังกล่าว น่าจะถือเป็น “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) ได้ แม้ว่ารูปแบบการขัดขืน จะออกมาในลักษณะที่ถูกระบุได้ว่า ไม่มีแม้เสี้ยวกระผีกของความเป็นอารยะก็ตาม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวผู้เขียนยังไม่อาจมองเห็นชัดเจนว่า แนวคิดรากฐานอันเป็นที่มาของ “อารยะขัดขืน” ดังกล่าวนั้น เป็นเพียงความคิดของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” หรือล้วนเป็นของมลายูมุสลิมทั้งหมดในพื้นที่

แต่เดิมนั้น รูปแบบการเรียนการสอน (ตามแบบศาสนาอิสลาม) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมี “ตาดีกา” (โรงเรียนสอนศาสนาเบื้องต้นสำหรับเด็ก) และ “ปอเนาะ” (โรงเรียนสอนศาสนาสำหรับบุคคลทั่วไป เรียนได้ตั้งแต่เยาวชนจนแก่เฒ่า และ เรียนฟรี สอนฟรี อยู่ฟรี) เพราะในศาสนาอิสลามนั้น การศึกษาและศาสนาจะไม่แยกออกจากกัน อิสลามนั้นเน้นไปที่การรู้จัก “วิถีชีวิต” ของตัวเอง ก่อนที่จะสร้าง “ทักษะชีวิต” ให้ตัวเอง[3] ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตปรกติแล้ว ตัวผู้เขียนเข้าใจว่า เป็นการสอนให้เป็น “สัตว์มนุษย์” ที่สมบูรณ์พร้อมในความดี ก่อนที่จะพาตัวเองสู่ความเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” หรือ “สัตว์การเมือง” ในส่วนของปอเนาะนั้น จึงไม่ได้สอนแต่เฉพาะเรื่องศาสนา แต่ใครใคร่เรียนสิ่งใด ก็ให้หาตำรามา แล้วโต๊ะครูก็จะสอนให้ตามตำรานั้น จึงน่าจะบอกได้ว่า เป็นจุดประสงค์ในการสร้างคน เพื่อให้เติบโตขึ้นมาแบบ “คุณธรรมนำความรู้” มาตั้งแต่ต้น

ส่วนการศึกษาแบบไทย (ที่มีการเรียนการสอนแบบวิทยาศาสตร์ฝรั่ง) ตามแบบรัฐชาติแบบใหม่ แม้ที่ปลายทางปัจจุบันนี้ จะมีการพูดถึงการสร้างคนแบบ “ความรู้คู่คุณธรรม” ขึ้นมาอยู่บ้าง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อนจะมาถึง “กาละ” อันเน้นย้ำไปยังจุดดังกล่าว เราสร้าง “เทศะ” ทางการศึกษาขึ้นมาเพื่อถมเต็มพื้นที่รกร้างทางความรู้ โดยมีโรงเรียน หรือสถานศึกษาเพื่อแสดงถึงอุปลักษณ์ของความรู้ ด้วยคาดหวัง และเชื่อ (ตามแบบฝรั่ง) ว่า การศึกษานั้นจะช่วยเจือจาน ค้ำจุน เกื้อหนุนความเจริญของชาติ ให้ก้าวทัดเทียมเท่าเหล่าประเทศอารยะ หรือถ้าย้อนไกลไปกว่านั้น ก็ต้องบอกว่า “กาลเทศะ” ดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลิตคนออกมารับใช้ระบบราชการ รับใช้การปกครองแบบลำดับขั้นแนวตั้งตามระบอบ Absolute Monarchy ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า เป้าประสงค์เริ่มต้นของการศึกษาไทยนั้นเป็นไปในสองลักษณะหลักคือ 1. เพื่อรับใช้สืบสานรักษาไว้ซึ่งอำนาจ และ 2. เพื่อสร้างความเจริญ (ซึ่งทั้งสองประการล้วนเป็นแบบ Central Region Centricism และปัจจุบัน ความเจริญนั้นส่อไปในทางวัตถุมากขึ้น) ส่วนคุณธรรมนั้น เข้าใจว่าคงถูกแยกออกมาให้เป็นหน้าที่ของศาสนา หรือวิชาพระพุทธศาสนาอีกที

และอีกสิ่งที่ถูกแทรกสอดไว้ คือเป็นช่องทางให้ทำการลื่นไหล “ชาตินิยมไทย” ลงไปในแบบเรียน หรือแม้แต่ในตัวครูผู้สอนเอง เพราะล้วนสามารถลงไปถึงตัวผู้เรียนได้

เมื่อดูถึงความแตกต่างแห่งเป้าประสงค์ ระหว่างการศึกษาแบบอิสลาม และการศึกษาแบบไทยฝรั่งและวิธีการนำการศึกษาไทยแผ่ผ่านไปกับรูปแบบการใช้ชาตินิยมไทยดังกล่าวแล้ว จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุใดการศึกษาหรือความรู้ อันเป็นอุปลักษณ์ของสถานศึกษาไทยนั้น จะสามารถบีบคั้นให้ชาวมลายูมุสลิมรู้สึกว่าทำให้ตัวเองถูกกลืนกินอัตลักษณ์ ซึ่งการกลืนกินที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การเรียนเป็นภาษาไทย และอยู่ภายใต้ระบบการศึกษาไทย ซึ่งยังคงเป็นปัญหาแก่มลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้มาจนทุกวันนี้

แม้ปัจจุบัน จะมีการให้ความใส่ใจปอเนาะมากขึ้น โดยมีการจดทะเบียนรับรอง แต่ความใส่ใจที่มากกว่า กลับเป็นการมองว่าปอเนาะเป็น “แหล่งซ่องสุมเพาะพันธุ์ผู้ก่อการร้าย” ไปเสีย อีกทั้งปัญหาที่รัฐยังไม่ได้ทำการแก้ไขก็คือ การรับรองเทียบระดับวุฒิ ว่าผู้จบการศึกษาจากปอเนาะในแต่ละระดับนั้น เทียบเท่าได้กับการจบการศึกษาในสายสามัญที่ระดับใด (เช่นจบปอเนาะระดับ 10 กับจบมัธยม 6)[4] เพราะการที่รัฐไม่รับรองนั้น ทำให้มีปัญหาผู้จบการศึกษาจากปอเนาะ ไม่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาสายสามัญได้ ต้องไปศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอิสลามนอกประเทศ อีกทั้งจบแล้วก็ไม่อาจกลับมาทำงานในประเทศได้[5] เนื่องด้วยทางการไม่ให้การรับรอง เพราะไม่ได้มีวุฒิตามสายการศึกษาสามัญ นั่นหมายความว่า แม้จะปฏิเสธด้วยการไม่เข้ารับการศึกษาแบบไทย แล้วร่ำเรียนตามแบบดั้งเดิมของตัวเอง แต่เมื่อจบแล้ว ก็ไม่อาจทำงานในประเทศไทย

อย่าพูดนะครับว่า “ก็หาปลากรีดยางไปสิ” เพราะการแก้ปัญหาแบบนั้นมันทุเรศ...

รู้สึกว่า ในบทความชิ้นนี้ ผมจะพูดว่า “เราคงปฏิเสธไม่ได้” มาหลายครั้งหลายครา (และมีเกณฑ์จะพูดต่อไป) แต่ว่า เราก็คง “ปฏิเสธไม่ได้” จริงๆ ว่าการศึกษานั้น สามารถนำพา “การครอบงำ” ไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และค่อนข้างจะได้ผลสำเร็จอย่างน่ากลัว เพราะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังกันได้ตั้งแต่ช่วงเวลาที่สมองน่าจะยังว่างโล่ง คือวัยเด็ก (น่าแปลกที่ในบางประเทศนั้น ปลูกฝังกันจนเป็นผู้ใหญ่แล้ว สมองก็ยังว่างโล่ง) ยิ่งกับในประเทศที่ยอมรับการปกครองแนวตั้ง ที่ไม่ใช่แนวตั้งเพียงในรูปแบบการปกครองระดับรัฐ แต่ยังมีแนวตั้งตามการปกครองทางวัฒนธรรมประเพณี คือระบบอาวุโส ภายใต้ประเทศแบบนั้น การครอบงำกันด้วยการศึกษาน่าจะยิ่งได้ผลดี กล่าวคือ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน หรือแม้กระทั่งในระดับอุดมศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ (บางท่าน) กับลูกศิษย์ ก็ยังคงโยงยึดอยู่กับระบบอาวุโสแบบ “ตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” เช่นนั้นแล้ว ในการรับการถ่ายทอดเนื้อหาวิชา (รับการครอบงำ) หลายคนจึงตกติดอยู่ภายใต้ระบบอาวุโสในแบบดังกล่าวอย่าง่ายดาย ด้วยมุ่งเน้นการเคารพกันไปที่อาวุโสทางเวลาหายใจที่ยาวนานกว่า ริ้วรอยกาลเวลาบนหนังหน้าที่เยอะกว่า หรือแม้ทางปัญญา ก็ยังเน้นการเคารพไปที่ระดับอาวุโสทางการศึกษาที่สูงกว่า ส่วนเรื่องอาวุโสทางความคิด ซึ่งวัดกันได้จากความกว้างขวางในมิติมุมมองที่มากกว่า และในบางกรณี อายุที่มากกว่าหรือระดับการศึกษาที่สูงกว่าไม่อาจช่วยขยายความกว้างนั้นได้ กลับไม่เน้นกัน

ผมว่าเราไม่ต้องมองไปไหนไกล แค่มองไปในสังคมใกล้ๆตัวอย่างตั้งใจ เราก็จะพบได้ว่า ยังมีคนส่วนใหญ่ ที่เติบโตมากับระบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษา เนื้อหาการศึกษาแบบไทย ตกติดอยู่ภายใต้การครอบงำโดยรูปลักษณะของการศึกษาแบบไทย

ดังนั้น หากถามว่าสิ่งใดที่การฆ่าครู เผาโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์สื่อถึง ผมเชื่อว่ามันคือ “การครอบงำของไทย” นั่นเอง

ผมเองกำลังนั่งนึกอยู่ว่า ถ้าการณ์มันกลับกันหมด ผมตกเป็นคนไทยส่วนน้อย พูดภาษาไทย เคยเรียนแบบไทย มีศาสนาแบบไทย มีวัฒนธรรมประเพณีแบบไทย มีประวัติศาสตร์แบบไทย แต่อยู่ภายใต้การเรียนการสอนแบบอิสลาม ภาษามลายู วัฒนธรรมประเพณีมลายู ประวัติศาสตร์มลายู ทุกอย่างดำเนินไปภายใต้นโยบายชาตินิยมมลายู และเป็นสิ่งที่ผมถูกบังคับว่าต้องทำตาม ผมก็คงงงๆอยู่เหมือนกัน ว่า “แล้วนี่กูเป็นใคร?” แต่ผมก็อาจถูกกลืนกินได้โดยง่าย หรือโดยเต็มใจ เพราะก็นึกไม่ใคร่จะออก ว่าจะเอาอะไรไปบ่งบอกถึงความเป็นไทย นอกจากแนวคิดชาตินิยมแบบเลื่อนลอยกะปลกกะเปลี้ย ครั้นจะเอาประวัติศาสตร์ไปสู้ ก่นบอกว่า “กูก็มีที่มานะเว้ย!!” ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครฟังหรือไม่

ทว่า การณ์มันยังไม่กลับกัน เพราะอย่างนั้น ย่อมเป็นไปได้ว่า ความกังขาเมื่อย่อหน้าที่แล้ว กำลังวิ่งวนไปมา ในหัวมลายูมุสลิมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ ที่เขาก็มีของเขาเอง ก็น่าจะชวนงงอยู่ในระดับหนึ่ง ว่าแล้วไอ้ที่อยู่ในแบบเรียนนั่นมันประวัติศาสตร์ใคร แต่ที่แตกต่างกันก็คือ พวกเขาคงรู้ ว่าจะเอาอะไรมาสู้ เพราะแลดูแล้วระดับความเข้มแข็ง และชัดเจนของความเชื่อน่าจะผิดกันอยู่โข แต่ที่ชัดเจนไม่แพ้กันก็คือ เราไม่ได้ให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเขา ซึ่งอาจเพราะถือว่าต้องเอาประวัติศาสตร์การรวมราชธานีของเราเป็นหลัก

เหล่านั้นคือรูปแบบของ “ชาตินิยมไทย”

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ด้วยการสร้างชาติมาแต่ในรูปแบบดังกล่าวมาทั้งหมด จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เมื่อการสร้างชาติในรูปแบบนั้น ได้แทรกซึมเข้าไปในแบบเรียนแล้ว ย่อมเป็นการปลูกฝังความเป็น “Egocentric” หรือการคิดแบบ “เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง” สู่ผู้ร่ำเรียนจากแบบเรียนนั้นไปโดยไม่มีใครรู้ตัว

นำมาซึ่งรูปแบบของการจัดการปัญหาแบบหนึ่ง ที่แฝงฝังอยู่ในตัวเรา หรือกลายเป็นเครื่องมืออย่างจงใจ อันนำมาซึ่งการจัดการกับปัญหาใดใด โดยไม่ยี่หระต่อการละทิ้ง กดเหยียด บิดผันให้เป็นอื่น ซึ่งสิ่งละอันพันละน้อยอื่นใด โดยมีข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมว่า “เราต้องมองไปยังองค์ผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่า” จนอาจกล่าวหาได้ว่า ผู้ยังฝักใฝ่ทำตัวเป็นปัญหาส่วนน้อย (อย่างที่ส่วนใหญ่ว่าเขาเป็น) นั้น เป็นเพียงพวกคนเห็นแก่ตัว ที่ไม่รู้จักเห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนรวม

เพียงเพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อยนั้น ผมก็รู้สึกว่าเป็น “อัปลักษณูปการ” หนึ่งของ “ประชาธิปไตยฉบับบูดเบี้ยว” (พวกมากลากไป) แล้ว นี่ถึงขั้นกดเหยียดให้เป็นอื่น คงต้องบอกว่าเป็น “อัปรียลักษณูปการ” ของประชาธิปไตยฉบับดังกล่าวทีเดียว จึงแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาจากเด็กที่ได้รับการปลูกฝังในทำนองนั้น จะมีท่าทีอย่างไรต่อประชาธิปไตย หรืออำนาจความเป็นส่วนใหญ่ในมือตน หากไม่ได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประชาธิปไตยในภายหลัง ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปอีกว่า เมื่อรู้แล้ว เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว เขาจะยอมรับมันหรือไม่

และทำให้รู้สึกไปว่า อุปนิสัยไทยแท้สองข้อหลัง ตามแบบสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า “ความปราศจากวิหิงสา” และ “ความฉลาดในการประสานประโยชน์” นั้น คงดับสูญสิ้นไปพร้อมกับ “เสมือนสัมบูรณอัสดง” ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (อันที่จริงก็ได้สูญหายไปก่อนหน้านั้น คือในรัชสมัยต่อมาแล้ว) แต่หรืออันที่จริง ก็ยังคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของอุปนิสัยไทยสองประการนั้นอยู่ หากแต่ทั้งหมดต้องเป็นไปภายใต้อุปนิสัยในข้อแรกที่ว่าคือ “ความจงรักในอิสรภาพของชาติ”

ในทางปฏิบัติแล้ว สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทำได้ดีในระดับหนึ่ง คือทรงเน้นที่ความเป็น “เมืองไทย” มากกว่า “ชาติไทย” ด้วยทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงทรงเข้าใจในความหลากหลายทางชนชาติ ของผู้คนมากมายที่อาศัยร่วมอยู่ใต้ร่มไทยเป็นอย่างดี จึงทรงรู้ชัดว่า หากเน้นความเป็นไทยที่ชาติ ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากความเป็นชาติของชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ถูกปลุกขึ้นมาพร้อมกันได้[6]

แม้ต่อมา ชาตินิยมไทยแบบพระองค์จะหายไป ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากอุปนิสัยที่ทรงดำรัสว่าเป็นไทยแท้ดังกล่าว จะตายไปพร้อมกับความผันผวนทางการเมือง

แต่นั่นก็เป็นการย้ำชัดว่า “ชาติไทย” หรือ “ความเป็นไทย” นั้น “ไม่เคยมีอยู่จริง” หากเป็นเพียง “เอกมัยจินตนาการ” หรือ “จินตนาการอันมีลักษณะเหมือนกัน” หรือ “จินตนาการร่วม” ที่ถูกสร้างขึ้น ประดิษฐ์เอาตามความคิดอยาก ตามความคิดว่าควร หรือมองในแง่ดีว่าตามความพยายามด้วยอยากเห็นเป็นจริง (ล้วนเป็นแบบ Central Region Centricism) ของผู้มีอำนาจสร้างความเป็นไทยในยุคสมัยนั้นๆจะสามารถประดิษฐ์ได้ โดยมีปัจจัยทางการเมือง ซึ่งบางครั้งก็คาบเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลังอีกที

และเมื่อถูกประดิษฐ์ขึ้นมาตามฐานความผันผวนดังกล่าว เมื่อเดินทางผ่านกาลเวลาแล้ว จึงย่อมเป็นไปได้ ที่ความหมายของไทย ที่ถูกผูกติดอยู่กับชาติ จะแตกหน่อต่อขยายไปในหลายลักษณะ และเลือนราง บางเบา จนหาความชัดเจนแท้จริงใดใดไม่ได้เอาเสียเลย

สุดท้ายจึงเป็นเพียงคำๆหนึ่ง ที่มักถูกหยิบขึ้นมาใช้ ตามแต่ว่าตัวผู้ใช้ กำลังคาดหวังจะใช้มันไปในการใด ซึ่งก็มักจะอยู่ในรูปการแบ่งเขาแบ่งเรา แต่ที่หนักหนากว่าคือใช้เพื่อ “เหยียดเขายกเรา” จึงเป็นตัวอย่างที่ดี หากจะกล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้คำมีความหมายขึ้นจริงได้ไม่ใช่ความหมายของคำ หากแต่เป็นอุปลักษณ์อันหลากหลายที่ซ่อนเร้นอยู่ในเจตนาของผู้ใช้คำ”

แม้จะมีความเป็นมาที่เปราะบาง แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์แล้ว ย่อมสามารถได้รับการต่อเติมเสริมแต่ง แก้ไขดัดแปลง หรือถึงขั้นถอดรื้อสร้างใหม่ได้ตามความสามารถของนักประดิษฐ์รุ่นหลังๆ

จึงเป็นความสงสัยโดยส่วนตัวว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการถอดรื้อชาตินิยมไทยแบบเก่า และสร้างชาตินิยมไทยแบบใหม่ ที่จะได้เป็นแบบไทยแท้ๆที่แท้จริงขึ้นมา ซึ่งหากถามว่า คราวนี้จะให้สิ่งใดเป็นตัวแทน เป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นไทย ผมอยากเสนอว่า ก็ให้บอกว่าคือทุกสิ่งทุกอย่าง ในความเปลี่ยนแปลงทั้งในตัวนโยบาย และสิ่งใดใด อันเป็นผลจากนโยบายชาตินิยมไทยแบบเดิมๆที่ผ่านมานั่นเอง ที่เป็น “ความเป็นไทยแท้” หนึ่งในหลายๆประการ อันเป็นผลมาจากคนไทยหยิบมือหนึ่ง และได้รับการสนับสนุนจากคนไทยในกำมือที่เหลืออย่างไม่ลืมหูลืมตา ด้วยไม่เคยได้รับรู้ความจริงเบื้องหลัง หรือความจริงไกลตัว หรือรู้แล้วก็ไม่อาจทำอะไรได้ ด้วยเข้าใจถึงความเป็นผู้ไม่อาจต่อต้านอำนาจเหนือ หรือแม้ไม่ตกติดอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจเหนือ ก็ยังขยิบหรี่ตามองไป ด้วยมุ่งหวังในสิ่งที่เชื่อว่าเป็น “ประโยชน์ไทย” ที่ใหญ่กว่า โดยลืมนึกคิดไปว่า ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมความคิดเชื่อแล้ว ย่อมมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ใหญ่กว่าความเป็นชาตินิยมไทย ที่แผ่ผ่านมาตาม “การหักหาญกลืนกินซึ่งวัฒนธรรมอย่างเอาแต่ใจ” ซึ่งสิ่งอันใหญ่กว่านั้น อาจหมายถึงความเป็นเอกราชของเขา และหากตัดทิ้งไปซึ่งคำว่าเขาว่าเราแล้ว เอกราชนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนหวงแหนแสนต้องการเช่นกัน

ผมพอจะเข้าใจ ว่าการควักขี้ในไส้ออกมาเปิดเผย ย่อมทำให้ผู้คนบางส่วน (ส่วนใหญ่) ต้องรู้สึกไม่ดีกับความเป็นไทยแบบเดิมๆที่เคยรับรู้กันมา และคงให้เป็นที่หวั่นเกรง ว่าจะทำให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่สูญเสียความภาคภูมิใจในชาติไป

ต่อข้อกังวลดังกล่าว ผมเองเชื่อว่าทุกคนก็น่าจะเห็นกันถ้วนทั่วแล้วว่า ถ้าความเป็นไทยแบบเดิมๆที่เราพร่ำสอนกันอยู่ตามแบบเรียนนั้น สามารถสร้างความเป็นไทยแท้ ความเป็นไทยร่วมได้จริงๆ แล้วเหตุใดจึงยังต้องมีการณรงค์ ท้วงถามถึงความเป็นไทยกันออกมาเป็นระยะอีก

ที่สำคัญก็คือ ในเมื่อเราเองก็คุ้นชินในการมองไปยังประโยชน์ที่ใหญ่กว่า ก็เป็นการควรใช่หรือไม่ หากเราจะมุ่งเป้าประสงค์การสร้างชาติแนวใหม่ ไปที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้หลุดพ้นจากความคิดเชื่อแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นเด็กเยาวชนคนรู้ใหม่ เพื่อเติบโตไปเป็นกำลังคนชนส่วนใหญ่ในประเทศภายภาคหน้า และละเลย โละทิ้งไปเสียบ้าง ซึ่งคำความแห่งตัวตนคนรุ่นเก่าที่ตกตายไปแล้ว หรือเข้าใกล้ความดับตายเข้าไปทุกวัน เพื่อได้ค้นพบความยิ่งใหญ่ แห่งความเป็นไทยที่แท้ ที่ใฝ่ฝันหากันมานานเหลือเกิน

เราควรจะให้ผู้คนได้รับรู้สิ่งไม่ดี...เพื่อได้ค้นหาสิ่งดี
เราควรจะให้คนได้รับรู้สิ่งลวง...เพื่อได้ค้นหาสิ่งแท้

เพราะในความเป็นจริง การที่เราได้รู้แล้วแต่แรก ว่าสิ่งใดจริงสิ่งใดแท้ ก็อาจทำให้เรานิ่งนอน หรือถึงขั้นคึกผยองลำพองใจ จนไม่ไขว่คว้าหาทางรับรู้ถึงด้านที่ไม่ดี ด้วยถือว่าด้านที่มีก็ดีอยู่แล้ว จึงละเลยซึ่งการเตรียมการป้องกันสิ่งไม่ดีนั้นไป

เราจึงควรพามนุษย์ให้ตระหนักถึงความจริงที่ว่า ตนกำลังตกติดอยู่ในสภาวะที่ไม่ดี เพื่อปล่อยให้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดได้ทำหน้าที่ในการค้นหาสิ่งดี

ไม่เช่นนั้นแล้ว “ไทย” คงไม่มีความหมายมากไปกว่า “ไทย๑ [ไท] น. ชื่อประเทศและชนชาติที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดต่อกับลาว เขมร มาเลเซีย และพม่า” ซึ่งคงเป็นส่วนความหมายที่ชัดเจนที่สุด และเป็นเพียงตัวหนังสือ ที่ไม่อาจบ่งบอกอัตลักษณ์ใดใดได้เท่านั้น ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนัก ว่าถ้ามันเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ จะมีใครเดือดเนื้อร้อนใจมากน้อยเพียงไหน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีสักครั้งที่แนวคิด “ชาตินิยมไทย” จะอยู่บนพื้นฐานการผสมผสานอย่างเข้าใจ ว่าความเป็นไทยนั้นควรจะถูกสร้างขึ้นอย่างไรจากความแตกต่างอันหลากหลาย ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตพรมแดนของ “ประเทศ” (ซึ่งมักสับสนกันว่าคือสิ่งเดียวกับชาติ) ซึ่งหากจะทำการผสมผสานด้วยความเข้าใจกันจริงๆแล้ว เราควรจะทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภายใต้ขอบเขตประเทศไทยนี้ มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่อย่างหลากหลาย อันเป็นผลมาจากความหลากหลายของชาติพันธุ์ ที่มาอยู่ร่วมกันภายใต้อาณาเขตประเทศไทยนี้ และในบางพื้นที่นั้น มีความเหนียวแน่นของวัฒนธรรม และความเหนียวแน่นของเอกลักษณ์ ที่สืบเนื่องยาวนานมาแต่อดีต ผูกติดเป็นเนื้อเดียวกับประวัติศาสตร์ของเขาเหล่านั้น จนเรียกได้ว่านั่นเป็น “ตัวตน” ของเขา เหมือนเช่นที่เราเองมีตัวตนอยู่ได้ แม้จะภายใต้ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์รวมศูนย์” ก็ตามที

ผมเชื่อว่า เราสามารถสร้างความเหมือน ความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยที่ยังมี “ความแตกต่าง” นั้นอยู่ใน “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ที่ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจสร้างขึ้นได้ โดยการเว้นพื้นที่ว่างทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต แก่คนเหล่านั้น ให้พวกเขาได้บรรจุ “ตัวตน” ของตัวเองเข้าไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ถูกสร้างขึ้นด้วย ไม่ใช่ใช้กำลังของฝ่ายผู้ที่มีอำนาจไปกำหนดแต่เพียงข้างเดียว ว่าภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวที่สร้างขึ้นนั้น พวกเขาจะต้องลบล้าง “ตัวตนเดิม” แล้วยอมรับแต่เพียง “ตัวตนใหม่” ที่ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจกำหนดให้ ดังที่เคยได้ทำกันมา คือมุ่งเปลี่ยนทุกสิ่งให้เป็นไทย มุ่งทำให้ความแตกต่างหมดไป โดยกำหนด (บังคับ) ให้ความแตกต่างทั้งหมดนั้น “ปฏิบัติไทย” ตามแบบที่เป็นไทยอย่างที่ “หยิบมือไทย” หนึ่งนั้นคิด

ผมไม่ได้ฝักใฝ่ความเป็นชาตินิยม หรือชาตินิยมไทยแต่อย่างใด หากแต่รู้สึกว่า ถ้ามันเป็นที่ใฝ่ฝันหาของใครหลายๆคน และคิดอยากให้มันก้าวข้ามขอบเขตความเป็นนามธรรม สู่ความเป็นรูปธรรมกันอย่างจริงจังแล้ว เราก็ควรหามันให้เจออย่างถูกวิธี เพื่อได้สร้างความมั่นคงที่แท้จริง ทั้งเชิงนิยามความหมาย และตัวตนให้แก่มัน

ไม่ใช่ปล่อยให้มันสั่นไหวไปมาตามแรงผันผวนทางการเมือง...
อย่างที่...มันเป็นมาตลอด
หรืออย่างที่...ประชาธิปไตยเป็น

ผมเกลียดวิถีชีวิตที่ต้องสั่นไหวไปตามความผันผวนของการเมือง อันเกิดแต่ความเอาแต่ใจของคนหยิบมือหนึ่งเป็นที่สุด

และเชื่อว่าไม่น่าจะมีใครยินดีกับมัน...

“We’re standing on the shoulder of giant. So, jump to the future from its shoulder, not from its dung to its dung.”

Download ตาราง: การเปลี่ยนแปลงและสาเหตุการเกิดขึ้นของชาตินิยมไทยโดยสังเขป [เรียบเรียงจาก สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง (The Construction of Mainstream Thought on “Thainess” and the “Thruth” Constructed by “Thainess”), ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่]

ปล. (ปัจฉิมลิขิต): งานนี้นี่โคตรเหนื่อยเลย ผมคงไม่คุ้นชินกับการใช้สมองนัก เพราะปรกติจะเขียนโดยใช้สัญชาตญาณ



[1] Ivan Petrovich Pavlov นักสรีรศาสตร์ชาวรัสเซีย เจ้าของทฤษฎี “Classical Conditioning” อันว่าด้วยการจับคู่เข้าด้วยกัน ระหว่างตัวกระตุ้นเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนองตามธรรมชาติกับตัวกระตุ้นเร้าที่เป็นกลาง ภายหลังที่เกิดการเรียนรู้ความเกี่ยวเนื่องระหว่างสองตัวกระตุ้นเร้าดังกล่าวขึ้น -การตอบสนองต่อตัวกระตุ้นเร้าแรกสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยตัวกระตุ้นเร้าตัวที่สอง- การทดลองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ "สุนัขของพาฟลอฟ" หรือ "Pavlov's Dog" นั้นเป็นตัวอย่างที่พาฟลอฟใช้ในการอธิบายทฤษฎีดังกล่าว ปรกติแล้ว อาหารจะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สุนัขเกิดการหลั่งน้ำลาย ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ ลำพังเสียงกระดิ่งจะไม่ทำให้เกิดการตอบสนองนี้ แต่พาฟลอฟพบว่าด้วยการจับคู่ตัวกระตุ้นทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน นั่นก็คือ สั่นกระดิ่งในขณะที่ให้อาหารแก่สุนัข เขาสามารถสร้างเงื่อนไขให้สุนัขเกิดน้ำลายไหลเพียงได้ยินเสียงกระดิ่ง

[2] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “การสร้างชาติและนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, 2482-2487”, ใน ความเป็นมาของทฤษฎี “แบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย” (กรุงเทพ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549) หน้า 74

[3] อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา, อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา, “ปรัชญาการศึกษาที่สอดคล้องกับชีวิตและชุมชนในทัศนะอิสลาม”, ใน “ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดภาคใต้”

[4] ปราโมทย์ แก้วสุข, คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, “แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้”, ใน “ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดภาคใต้”

[5] อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา, อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา, “ปรัชญาการศึกษาที่สอดคล้องกับชีวิตและชุมชนในทัศนะอิสลาม”, ใน “ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดภาคใต้”

[6] สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง (The Construction of Mainstream Thought on “Thainess” and the “Thruth” Constructed by “Thainess”), ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

-หนังสือและเอกสารอ้างอิง-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2493, 2525 และ 2542

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎี “แบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย” (กรุงเทพ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคณะ, ความรู้และความไม่รู้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (กรุงเทพ: คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง (The Construction of Mainstream Thought on “Thainess” and the “Thruth” Constructed by “Thainess”), ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่มาข้อมูลตาราง

สายชล สัตยานุรักษ์, การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง (The Construction of Mainstream Thought on “Thainess” and the “Thruth” Constructed by “Thainess”), ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 

หมีมองคน: สะเก็ดจากระเบิดความสัมพันธ์

ปล. (ปฐมลิขิต): คำว่า “สื่อ” ทุกคำที่ใช้ในบทความนี้ มีความหมายถึงแต่เฉพาะ “สื่อบันเทิง” หรือ “สื่อที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับดารา” ไม่เกี่ยวข้องกับ “สื่อธุรกิจ” “สื่อการเมือง” หรือ “สื่อที่ถูกควบคุม” อื่นใด

อันที่จริงแล้ว...มีอีกหลายเรื่องที่อยากเขียน

แต่พอดีว่าเมื่อคืน (17 ม.ค. 2550) ได้ดูรายการ “ราตรีสโมสร” ทางช่อง 3 จับฉ่ายวาไรตี้ที่ช่วงหนึ่งของรายการได้มีการเชิญคุณ “ษา - วรรณษา ทองวิเศษ” และคุณ “เป้ - สุรัช ทับวัง” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เป้ ไฮร็อค” มาร่วมรายการ โดยทางรายการได้เชิญคุณวรรณษาออกมาพูด เปิดเผยถึงสาเหตุของเหตุการณ์ “เตียงหัก” โดยไม่บอกว่าได้เชิญคุณเป้มาด้วย ซึ่งคุณเป้นั้นจะอยู่ที่หลังเวที นั่งฟังทุกสิ่งที่คุณษาพูด แล้วจึงออกมาตามคิวที่ทางรายการกำหนด

ผมรู้สึกกระอักกระอ่วน และมากมายจนถึงขั้น “ไม่พอใจ” รูปแบบการ “ขาย” ดังกล่าว จึงต้องขอลัดคิวนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็น

ในยุคสมัยที่ “ชีวิตส่วนตัว” ของดารากลายเป็นสินค้า ที่ถูกผลิตออกมาซื้อขายกันอย่างเป็นรูปธรรมนี้ ผมได้ตั้งคำถามกับตัวเองมานานว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่แท้จริงแล้ว เรานั้นก็ยังไม่อาจแยกออกได้สมบูรณ์ ระหว่าง “บทบาทในฐานะนักแสดง” กับ “บทบาทในชีวิตจริง” เพราะแม้บทบาทในชีวิตจริง สังคมก็ยังปฏิบัติกับนักแสดง ด้วยมาตรฐานที่ว่า พวกเขาเป็น “บุคคลสาธารณะ” ไม่ใช่ “บุคคลทั่วไป” ของสังคม ที่มีสิทธิ์จะมีชีวิตหลังกล้อง หลังจากจบบทบาทหน้าเลนส์ในฐานะนักแสดง ด้วยการมีชีวิต “ส่วนตัว” ที่เป็นไปในทางปกปิด เฉกเช่นที่มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องการจะปกปิด ไม่เปิดเผยซึ่งสิ่งอันเป็น “ส่วนตัว” ของตัวเอง

กรณีของคุณษาและคุณเป้ เมื่อมองในฐานะว่าพวกเขาล้วนเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา มีเลือด มีเนื้อ มีลมหายใจ มีเสียงหัวเราะ มีรอยน้ำตาเหมือนเรา ผมคิดว่าเขาและเธอมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ ที่จะปกปิดชีวิตส่วนตัวของตัวเองไว้ ให้เป็นเรื่องลับๆของคนสองคน ที่เชื่อมโยงกันด้วยรอยร้าวทุกข์ระทมของความสัมพันธ์ และตัวน้อง “เซย์เดย์” ผู้เป็นลูก

ในส่วนของคุณษา ภายใต้ข้อจำกัดที่ว่า เธอไม่รู้ว่าทางรายการจะทำ “Melancholic Surprise” เซอร์ไพร์สุดระทมใส่เธอ ด้วยการเชิญคุณเป้มาร่วมรายการ ผมเชื่อว่า เธอมาภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ได้ตั้งใจ หรือทำใจยอมรับแล้วว่า ตนเป็น “บุคคลสาธารณะ” ซึ่งเมื่อผนวกรวมปัญหาชีวิตคู่ที่เกิดขึ้นเข้ากับสถานะดังกล่าว ที่ตกเป็น “ความกังขาสาธารณะ” ถึงสาเหตุแห่งความแตกร้าวที่แท้จริง จึงเป็นไปได้ว่า เธอย่อมต้องอยากออกมาแสดง ในสิ่งที่เรียกกันว่า “การเคลียร์” คือคลายความสงสัยให้กับ “ความกังขาสาธารณะ” ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า ในฐานะที่คุณษาเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ชีวิตของเธอย่อมต้องโยงใยเข้ากับอะไรหลายๆอย่าง ซึ่งใกล้ตัวที่สุดก็คงจะเป็นคุณแม่ ซึ่งไม่น่าจะต้องมาได้รับผลกระทบจากการคาดเดาสาเหตุไปเองของสื่อ เพราะได้ตกเป็นจำเลยเหมือนกัน และเป็นจำเลยมาตลอดว่าขัดขวางความรักของคนทั้งสอง หรือในอนาคตก็คือน้องเซย์เดย์ที่จะเติบโตขึ้นมา เธอเองจึงออกมาเคลียร์ (ตามคำเชิญมาเคลียร์ของรายการ) เพื่อทำทุกอย่างให้กระจ่าง

ในส่วนของคุณเป้ เมื่อดูภาพรวมทั้งหมดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรายการแล้ว ผมเข้าใจว่าด้วยความ “สิ้นหวัง” จนถึงจุดที่ “ไม่มีอะไรจะเสีย” เขามาด้วย “ความหวัง” ว่าจะสามารถกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง แต่ไม่น่าจะถึงขั้นคิดว่า การขอคืนดี “ในที่สาธารณะ” อย่างเป็น “สาธารณะ” นั้นจะช่วยให้ความหวังของตัวเองเป็นจริงขึ้นมาได้สักกระผีก หรือถึงคุณเป้จะคิดอย่างนั้นจริง ผมก็ไม่เห็นว่าเป็นการเล่นเล่ห์อะไร เพราะเมื่อดูจากน้ำตา เสียงพูดเคล้าสะอื้น ที่คุณเป้แสดงออกมาในรายการ สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อก็คือ ความรู้สึก “สูญเสีย” ที่อยู่ในกิริยาเหล่านั้นล้วนเป็น “ของจริง” โดยไม่ต้องไปคิดคำนึงว่าจริงๆแล้วคุณเป้เป็นคนอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือไม่ ผมเชื่อว่า “การสูญเสียซึ่งสิ่งที่ตนรักและหวงแหน” เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่ามันจะถูกระบุสถานะว่า “ประเสริฐ” หรือ “เดียรัจฉาน” และในฐานะมนุษย์ การทำทุกอย่างเพื่อ “รักษาและทวงคืนมาซึ่งสิ่งที่ตนรักและหวงแหน” นั้นเป็นสิ่งที่หาดูได้ทั่วไป และไม่ใช่แม้แต่กับความรักหรือคนรัก เพราะกับสิ่งของหรือความเชื่อ เราเองก็สามารถพบเห็นได้ไม่ต่างกัน ซึ่งรูปแบบการกระทำที่แสดงออกมานั้น ย่อมเป็นภาพฉายออกมาจากทะเลความรู้สึกในจิตใจ ว่ามันคลุ้มคลั่งกับการสูญเสียมากน้อยเพียงใด

ในความรู้สึกของตัวเอง จุดระเบิดที่รุนแรงที่สุดในรายการ ไม่ใช่ Melancholic Surprise ในรูปการปรากฏตัวของคุณเป้ที่ทางรายการจัดคิวไว้ (อาจจะใช่สำหรับคุณษา แต่ไม่น่าจะใช่สำหรับผู้ที่ได้ดูโฆษณาของรายการมาก่อน) เพราะการปรากฏตัวของคุณเป้นั้น ได้รับการตีประโคมผ่านสื่อโฆษณาของทางสถานีมาหลายวัน และเป็นอัตราที่ถี่ จนไม่อาจสร้างความรู้สึกตื่นเต้นใดใด เมื่อได้พบเห็นในตอนออกอากาศจริงได้อีก อีกทั้งเมื่อมองลึกลงไปแล้ว ยังทำให้เห็นว่า นอกจากการสร้างกระแสแบบภาพต่อตาแล้ว ทางรายการอาจจะยังต้องการสร้างกระแสแบบปากต่อปาก เพื่อดึงจำนวนคนดูในช่วงเวลาดังกล่าว ให้มาจรดตาอยู่ที่รายการของตัวเอง ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่า ถ้าไม่ปากกัดตีนถีบขนาดนั้น คงยากจะดึงสายตาและความสนใจของคนดูมาจากอีกช่อง ซึ่งเป็นช่วงเวลาขบขันแห่งการอาละวาดของ “แกงค์สามช่า” ซึ่งครองใจคนดูมานานหลายปี จนย้ายสถานีแล้วก็ยังตามไปดูกัน

แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ด้วยความพยายามอย่างจงใจ ที่จะ “ฆ่าความสนุก (ของแกงค์สามช่า) ด้วยการขายความระทม (ของคุณษาและคุณเป้)” ซึ่งก็น่าจะเป็นความสนุกสนานอีกแบบ แม้จะเป็นความสนุกที่ไม่ได้ทำให้ใคร นอกจากคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับค่าโฆษณามีความสุขนั้น ทางรายการกำลังมุ่งหวังในสิ่งใดกันแน่ ระหว่าง “ตีแผ่การเคลียร์” ของคุณษา กับ “ค่าโฆษณา” จากการนำคนสองคนมา “ฆ่า” ด้วยการตอกย้ำความรู้สึกเจ็บปวดของพวกเขา

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ทั้งที่ดารานั้น หากจัดในแง่ของความใกล้ชิดทางความสัมพันธ์ พวกเขาน่าจะเป็นเพียง “ใครก็ไม่รู้” สำหรับเราด้วยซ้ำ แล้วเหตุใด เรื่องราวของพวกเขาจึงเป็นที่อยากรู้ของเรานักหนา ผมคาดเดาว่าน่าจะเป็นเพราะ แม้จะไม่ได้รู้จักมักจี่กันเป็นการส่วนตัว แต่การที่เราเห็นหน้า ได้ยินชื่อ ได้ยินเรื่องราวของพวกเขาผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์อยู่แทบจะทุกวัน เทียบกันแล้ว ความรู้สึกคุ้นเคยที่มีให้ บางทีอาจจะมากกว่าเพื่อนบ้านรั้วติดกัน ที่เห็นหน้ากันทุกวันแต่ไม่เคยทักทายกันด้วยซ้ำไป แต่ถ้าวันหนึ่ง เพื่อนบ้านที่ไม่รู้จักนั้นเกิดตายไป และเราได้รับรู้ เราก็ยังอาจสนใจใคร่รู้ไปได้ ว่าเขาเป็นอย่างไร มาอย่างไร และตายอย่างไร จึงไม่น่าจะแปลกใจ หากเรื่องราวใดใดของดาราจะเป็นที่สนใจของเรา

หรือบางทีก็อาจเป็นไปด้วยเหตุผลอื่นๆ ตามแต่ว่าใครจะคิดว่าอย่างไร อย่างเช่นผม นอกจากได้ตอบสนองความสอดรู้สอดเห็นของตัวเองแล้ว ผมก็ยังได้รับความสนุก จากการได้เห็นดาราแสดงทัศนะที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ หรือกระทำการต่างๆ เพราะมันทำให้ได้เห็นรูปแบบพฤติกรรม คำพูด อารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งนั่งวิเคราะห์รูปแบบน้ำเสียง อันชวนให้คาดเดาไปต่างๆนานา ว่าตัวผู้ทำกระทำลงไปด้วยความคิด และพื้นเพทางจิตใจอย่างไร ผิดถูกไม่รู้ ดูแค่ขำๆ

แต่เมื่อคืนไม่ค่อยขำ...

เมื่อคืนนี้ ผมว่าสลักระเบิดถูกดึงออก ด้วยคำถามของพิธีกรหญิง ว่ามีโอกาสที่คุณษาจะกลับไปคืนดีกับคุณเป้หรือไม่ การหยุดคิดของคุณษาน่าจะเป็นช่วงเวลาที่กระเดื่องหลุดออก และปล่อยให้ชนวนทำหน้าที่พาไฟสู่ดินระเบิด ก่อนจะระเบิดออกมาเป็นคำตอบ อันมีทำนองใจความไปในทางที่ว่า “สิ่งที่เธอทำลงไป เกิดจากการตัดสินใจด้วยความคิดที่ถ้วนถี่ดีแล้ว”

ตูม...

ผมเห็นสะเก็ดระเบิดปลิวว่อนไปหมด ถ้านั่นเป็นระเบิดจริง คุณษาตาย กาละแมร์ตาย ตุ๊กญาณีตาย เพราะอยู่ใกล้รัศมีที่สุด ส่วนพวกที่อยู่ไกลออกมา อย่างคุณหนุ่มกรรชัย คุณเป้ ทีมงาน วงดนตรีของรายการ และผู้ชมในห้องส่ง อาจจะบาดเจ็บเล็กน้อยถึงสาหัส แล้วแต่ความแรงของระเบิด และความใกล้ไกลจากจุดระเบิด

ที่น่าสนใจก็คือ สะเก็ดความรู้สึก ที่ระเบิดออกมาจากความสัมพันธ์นั้น รัศมีการทำลายของมันไม่อาจวัดได้จากความใกล้ไกลทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ แต่วัดได้จากพื้นที่ภูมิศาสตร์ความสัมพันธ์ ของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับระเบิดความสัมพันธ์นั่น ในวินาทีนั้น ไม่ว่าภาพในโทรทัศน์จะเป็นอย่างไร แต่ที่ผมเห็นก็คือ ภาพความรู้สึกของคุณษาและคุณเป้ ที่ถูกปกคลุม จิกฝัง กรีดกระชากด้วยสะเก็ดระเบิดมากมายดังกล่าว จนแม้ตัวตนทางกายวิภาคของทั้งสองจะยังคงตั้งตรงอยู่ แต่ตัวตนทางความรู้สึกนั้นคงปลิวลอย ร่วงหล่น และบิดงอไปมาด้วยความเจ็บปวด

แต่แม้จะเป็นระเบิดจินตภาพอย่างความรู้สึก ก็ใช่ว่าผู้ที่อยู่ในขอบข่ายของการรับรู้ถึงการระเบิดนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบใดใดไปด้วยเลย

ผมเข้าใจว่า ความหวาดกลัว ความเจ็บปวด อันเกิดขึ้นแต่การสูญเสียสิ่งรักและหวงแหน น่าจะเป็นกลไกหนึ่งในสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ คือเมื่อได้ประสพแล้ว ร่างกาย หรือความรู้สึกจะบ่งบอกเราว่า มันเจ็บ มันปวด มันน่ากลัว เพื่อเตือนให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่เราพึงหลีกเลี่ยง ดังนั้น ทันทีที่ระเบิดดังกล่าวสำแดงพลานุภาพ ผมเชื่อว่าตัวคุณกาละแมร์ คุณตุ๊กญาณี คุณกรรชัย (คุณกรรชัยนี่ก็เพิ่งโดนระเบิดมา ไม่รู้ว่าไปดึงอะไรสาวโคโยตี้ ซึ่งเข้าใจว่าคงดึงผิด เลยดึงไปโดนเอาสลักระเบิดความสัมพันธ์กับคุณเมย์แทน ตูม) ใครก็ตามที่อยู่ในห้องส่ง และที่ได้รับชมภาพเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านทางจอโทรทัศน์ ย่อมได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดไปด้วย โดยเฉพาะฝ่ายคุณกาละแมร์ ซึ่งเท่าที่ผมดูมานั้น แลดูจะมีความหวาดกลัวในขั้นสูงต่อการสูญเสีย อันเกิดขึ้นจากการระเบิดออกของความสัมพันธ์ ดังนั้น เธอเองน่าจะรู้สึกเจ็บปวดเป็นพิเศษ แม้จะไม่ใช่คู่ความสัมพันธ์ผู้เป็นเจ้าของระเบิดก็ตาม

ในขณะเดียวกัน หากมีผู้ใดที่ได้รับชมภาพการระเบิดดังกล่าว และใครคนนั้นเป็นผู้ครอบครองหัวใจที่เต็มไปด้วยริ้วรอย วิ่นแหว่งด้วยเคยถูกกรีดกระชาก ด้วยสะเก็ดของระเบิดความสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกับคุณษาและคุณเป้มาก่อน โดยที่ตัวเองตกอยู่ในฐานะเจ้าของระเบิด เช่นนั้นแล้ว ตะกอนอดีต หรือภาพอดีตที่ยังไม่ตกตะกอนดีของพวกเขาเหล่านั้น คงมีอันลอยฟุ้งด้วยแรงระเบิดในจอ และตัวตนของพวกเขาก็คงปลิวลอย ร่วงหล่น บิดงอด้วยความเจ็บปวดไปด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่เจ็บปวดที่สุดคงไม่พ้นคุณษากับคุณเป้ เพราะต่างก็เป็นเจ้าของชิ้นส่วนทั้งหมด ที่ประกอบขึ้นเป็นระเบิดลูกดังกล่าวนั่นเอง การระเบิดออกของระเบิด ย่อมหมายถึงภาพความทรงจำ อารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้แต่ความหวังที่เกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจร่วมชีวิตกัน ได้ถูกฉีกออกจนย่อยยับไปด้วย

ผมอยากจะขอคิดมาก ให้มันเลยเถิดไปอีกสักนิด แต่ก็ไม่น่าจะเกินเลยจากความเป็นไปได้ว่า หากหลังจากการบันทึกเทป คุณเป้ที่โซซัดโซเซกลับบ้าน อาจจะด้วยความรู้สึกหมดหวัง จนถึงขั้นตัดสินใจทำสิ่งที่เรียกว่า “คิดสั้น” “คิดโง่ๆ” หรืออื่นใดก็ตามตามแต่ที่คนที่ไม่เคยเข้าถึง หรือเคยเข้าถึง แต่ก็กลับมาเข้มแข็งจนหลงลืมไปแล้วว่า ในเวลาที่คนเราคิดอยากฆ่าตัวตายนั้น อะไรๆมันก็ดูสมเหตุสมผลไปหมด เพราะอะไรๆมันก็ดูเลวร้ายไปหมด จนชวนให้รู้สึกว่า การกระทำนั้นอาจจะไม่ใช่แค่การฆ่าตัวตายธรรมดา แต่เรียกได้ว่าเป็น “การุณญัตวินิบาตกรรม” คือรู้สึกว่า การฆ่าตัวตาย เป็นการมอบความกรุณาเพียงประการเดียว ที่สามารถมีให้แก่ตัวเอง เพื่อสามารถหลุดพ้นจากความเลวร้ายที่รุมเร้าตัวเองอยู่ได้ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นจริง ผมก็สงสัยเป็นหนักหนา ว่าใครจะเสนอหน้าออกมารับผิดชอบ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การฆ่าตัวตาย แลดูเป็นเรื่องที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ นอกจากตัวผู้ฆ่าตัวตายเอง เพราะมักยกยอดไปว่า มันเป็นเรื่องของ “ความอ่อนแอส่วนบุคคล” และยิ่งในกรณีดังกล่าว ผมฟันธงได้เลยว่า มันต้องมีความคิดแบบที่ว่า ถ้าอ่อนแอ จนทนแรงกระทบของการเป็นบุคคลสาธารณะไม่ได้ ก็ตายเสีย

ตามปรกติ ผมจะมีท่าทีต่อความทุกข์ โดยเป็นไปในลักษณะที่ว่า ความเจ็บปวดของใคร ก็ต้องให้ใครดูแลเอาเอง ดังนั้น ก่อนหน้าจะได้รับชมรายการดังกล่าว หากผมจะมีความรู้สึกใดใดต่อความเจ็บปวดของคุณษาและคุณเป้ มันก็ย่อมเป็นไปในลักษณะนั้น แต่เมื่อชมรายการดังกล่าว ผมรู้สึกว่า ในขณะที่ความเจ็บปวดของคนทั้งสอง ยังคงสดใหม่ และไม่ทันถึงวาระได้ตกตะกอน แต่ทางรายการกลับไปกวนมันให้ฟุ้ง หากเปรียบเป็นการตีเหล็ก ตีตอนที่ร้อนคงดี แต่ในกรณีนี้ ปัญหาคือแรงตีที่รุนแรงเกินไป ผลที่ได้คือ เหล็กความรู้สึก ที่ร้อนจนหลอมละลายจากแรงระเบิดของความสัมพันธ์ และยังไม่ทันได้อุ่นเย็นจนคืนรูป จึงมีอันต้องบิดเบี้ยวไปอีก ก่อกลายเป็นความเจ็บปวดที่มากขึ้น ทั้งที่หากทิ้งไว้ตามกาลเวลา บางที เพียงความน่ารักน่าเอ็นดู การเติบโตอย่างแข็งแรงของน้องเซย์เดย์ ก็น่าจะช่วยเป็นกำลังใจให้คุณษากลับมาเข้มแข็งขึ้นได้ ส่วนคุณเป้เอง ก็น่าจะปรับตัวได้ตามกลไกการเรียนรู้ผ่านกาลเวลา เฉกเช่นประสาคนที่น่าจะได้ผ่านชีวิตมาในระดับหนึ่ง แต่การที่ทางรายการเอา Melancholic Surprise มาเป็นจุดขาย เป็นการแทรกแซงกลไกดังกล่าวของคนทั้งสอง จึงเป็นที่สงสัยของผมว่า หลังจากที่ทางรายการ ได้อิ่มหนำกับจุดประสงค์ที่บรรลุ และแยกย้ายกันกลับบ้านไปแล้ว น้ำตาของคุณษาคุณเป้ ความเจ็บปวดของคนทั้งสอง ใครจะเป็นคนดูแล

และนั่นคือสิ่งที่ผมไม่พอใจ ผมไม่พอใจ “Melancholic Surprise Commodification” การเอาเซอร์ไฟรส์สุดระทมมาทำเป็นสินค้า ที่แลดูจะเป็นจุดขายที่น่าสนใจ จนอาจจะเอามาขายกันซ้ำซ้อนอย่างไม่สิ้นสุดนั่นเอง

รอยแผลในหัวใจ...ลบไม่ได้ด้วยฮีรูดอยด์




This page is powered by Blogger. Isn't yours?