Monday, September 25, 2006
Hello…Mr. Armed – Messiah (1)
มันกำลังจะครบหนึ่งอาทิตย์...
และ...ผมยิ่งทวีความไม่สบายใจ
ไม่สบายใจกับภาพของประชาชนที่เข้าไปจับมือ ส่งอาหาร มอบดอกไม้ ถ่ายรูปร่วมกับเหล่าทหาร ยุทธยานยนต์ และยุทโธปกรณ์ที่ประจำอยู่ตามที่ต่างๆตามคำสั่งของคปค. หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ความไม่สบายใจแรกๆก็คือ ในมือที่รับอาหาร ดอกไม้ และกำลังใจจากประชาชนนั้น จะมีมือข้างไหนคู่ไหนบ้างไหมนะ ที่อาจจะเป็นมือข้างเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยถือปืนเหนี่ยวไกสาดกระสุนใส่ประชาชนเพื่อกำราบความแตกต่างทางความคิด (ที่พวกเขาเรียกมาจนถึงการรัฐประหารครั้งนี้ว่าความขัดแย้ง) เมื่อครั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และจะเป็นไปได้ไหมนะ ที่ในอนาคตที่ไม่ไกลเกินกว่าจะจินตนาการได้นี้ มือนั้นจะหวนมาเหนี่ยวไกใส่ผู้ที่มอบดอกไม้ให้ตน
แต่ความไม่สบายใจดังกล่าวก็กลับกลายเป็นเพียงเสี้ยวขำทางความคิด เมื่อตอนนี้ผมกำลังสัมผัสกับความไม่สบายใจที่มากกว่า จากภาพเหตุการณ์ดังกล่าว มันทำให้ผมเกิดความไม่สบายใจว่า ภาพปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างทหารและประชาชนในขณะนี้ ภาพที่สื่อให้คำจำกัดความว่าน่าชื่นชมนั้น กำลังสะท้อนถึงแนวความคิดอันเป็นหลักใหญ่ประการหนึ่งของของผู้คนในสังคมนี้
C'mon…mr. Messiah, with our pleasure
Cum on…mr. Messiah, on our faces, with our pleasure
ผมนั่งคิดจนเชื่อมาพักหนึ่งว่า บ้านนี้เมืองนี้เป็นสังคมแบบที่ผู้คนรอคอยการมาถึงของเมสไซอาห์ หรือพระผู้ไถ่ผู้จุติลงมาเพื่อปัดเป่า บรรเทา หรือถึงขั้นกำจัดสลายซึ่งความทุกข์ยากลำบากเข็ญของผู้คน ผมไม่อยากจะยอมรับแนวความคิดแบบนั้นของตัวเองสักเท่าไหร่ แต่ภาพที่ออกมาตามสื่อขณะนี้กลับยิ่งช่วยตอกย้ำ ซ้ำให้ผมเชื่อในแนวความคิดดังกล่าวได้ง่ายขึ้น
ในเชิงความคิดทางศาสนา ผมพอจะยอมรับได้กับแนวความคิดว่าด้วยการรอคอยการมาถึงของเมสไซอาห์ คิดและเชื่อแบบนั้นเพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป แต่กับแนวคิดในเชิงบ้านเมืองนั้น ผมคงยอมรับไม่ได้
การรอคอยเมสไซอาห์ทางการเมืองการปกครองนั้น ไม่ว่าบ้านเมืองจะมีการปกครองเป็นแบบไหน ผมก็ถือว่าเป็นแนวคิดปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น เพราะมันแสดงออกถึงการไม่ลุกขึ้นสู้ของประชาชน ยิ่งกับในบ้านเมืองที่กล่าวอ้างว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ซึ่งถือเป็นระบอบที่ให้สิทธิ์แก่ประชาชนเป็นอย่างสูง ยิ่งไม่เหมาะสมใหญ่ เพราะมันส่อแสดงถึงการงอมืองอเท้า การไม่ตระหนักถึงสิทธิที่ตนมีต่อการเมืองการปกครอง สิทธิของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ผมพอจะเข้าใจว่า คงยังมีประชาชนคนส่วนใหญ่ (หรือแม้กระมั่งตัวผมเอง) ที่ยังไม่เข้าใจ และยังไม่รู้ถึงอำนาจของอัตปัจเจกสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ตนมีอยู่ ซึ่งความไม่ได้รับรู้ ความไม่เข้าใจ หรือความไม่ใส่ใจจะรับรู้ กอปรกับความรับรู้เข้าใจแต่ใช้ไม่เป็นดังกล่าวนี้เอง ที่ผมเชื่อว่าเป็นเหตุให้เกิดระบอบทักษิณ และนำมาจนถึงการรัฐประหารที่แลดูเต็มเปี่ยมไปด้วยความชอบธรรมในครั้งนี้
ชอบธรรม...
ชอบ...ทำ
คงต้องขอนิยามกันก่อนเลยว่า สังคมบ้านนี้เมืองนี้เป็นแบบ “ขี้เกียจ อยากสบาย และใจร้อน” ซึ่งสิ่งเหล่านั้น ทำให้ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งไหน สิ่งที่คนส่วนใหญ่รอคอยจึงมักจะเป็นปาก ปากของใครก็ตามที่พ่นออกมาซึ่งนโยบายที่เชื่อได้ว่า จะทำให้ตนได้หลุดพ้นจากความยากลำบาก เพื่อจะได้ประสพพบพานกับความสุขที่ตนปรารถนาเสียที
นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความเข้าใจผิดระดับการปกครอง การที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีคนๆหนึ่ง ที่จะมาพร้อมคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ทำให้คนที่เหลือ และส่วนใหญ่ของคนที่เหลือนั้น กำหนดใจพร้อมไว้ก่อนว่า ตนนั้นต้องยินยอมจะเป็นผู้ตาม
เมื่อมีคนส่วนใหญ่กำหนดใจให้พร้อมยอมรับความเป็นผู้ตาม ทันที่นโยบายของคนหนึ่งกับกลุ่มน้อยนั้น แลดูมีน้ำหนักแห่งความเป็นจริงในเชิงที่ว่า คนกลุ่มนั้นกำลังให้ของฟรี อันหมายถึงชีวิตดีๆที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากไปกว่าการออกแรงจรดน้ำปากกาขีดกากบาท คนกลุ่มใหญ่ก็พร้อมใจที่จะเดินตามกันไปในทิศทางนั้นในทันที
จึงเป็นที่มาของประชานิยม...
โดยลักษณะแล้วการเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างของประชาธิปไตย เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง ผมมองว่ามันเหมือนการค้า เป็นตลาดนโยบาย สินค้านโยบายตัวไหนที่เป็นที่ถูกใจย่อมได้รับการซื้อไปอย่างล้นหลาม หากอยากเป็นผู้นำต้องรู้จักทำการค้าขายนโยบายอย่างชาญฉลาด หาให้เจอว่าสิ่งอันเป็นที่ปรารถนาใดที่ยังขาดแหว่งเป็นรอยโหว่อยู่ในหัวใจของคนส่วนใหญ่ แล้วจึงรีบผลิตคำโฆษณาว่าด้วยการผลิตสินค้าตัวนั้นออกมาขาย และเมื่อพูดให้มันดูมีความน่าจะเป็นของการเกิดขึ้นจริงได้สูงเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้รับการจับจ่ายซื้อไปก็ยิ่งสูงเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ได้รับมานั้นคือทุนทางการเมืองตัวหนึ่ง ซึ่งก็คือคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งนั่นเอง
คงไม่เป็นการเกินไปหากจะกล่าวว่า ทุนทางการเมืองดังกล่าวนั้นทรงพลังเป็นอย่างมากในประเทศที่ยังไม่มีความเข้าใจในประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ยิ่งในประเทศประชาธิปไตยที่เชื่อว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ทุนดังกล่าวก็จะยิ่งทรงพลังเป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่ได้รับทุนดังกล่าวนั้นจะเอามาอ้างได้ว่าตนเป็นฝ่ายถูก ตนผงาดขึ้นมาอย่างถูกต้อง เพราะตนได้รับเลือกมาจากเสียงข้างมาก สามารถพูดได้ว่าตนมาจากการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และพอจะทำให้หลายๆคนคล้อยตามความเชื่อไปได้ไม่ยาก ทำให้ความเชื่อใจนั้นกลายเป็นทุนทางการเมืองที่ทรงพลังอีกก้อนหนึ่งขึ้นมา
จึงเป็นที่มาของระบอบทักษิณ...
เมื่อมีการอ้างเอาเสียงส่วนมากของประชาชนเป็นความชอบธรรมแห่งการดำรงอยู่ของตน มีความเชื่อของประชาชนคนหมู่มากเป็นทุนการเมือง ก็เหมือนมีเกราะคุ้มกันที่แน่นหนามากแล้วชั้นหนึ่ง จะทำอะไรๆก็ง่ายขึ้น ศึกษาช่องโหว่ของการคอร์รัปชั่นแบบเดิมๆที่เคยผ่านหูผ่านตามา แล้วทำการปะอุด สร้างรูปแบบให้ซับซ้อนมากขึ้น ก่อกลายเป็นคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ที่แลดูมีความชอบธรรม และยากจะมองเห็นได้ถ้าไม่สังเกต เพราะถูกอย่างแลดูถูกต้องไปตามกฎหมายที่ได้รับการแก้ไขใหม่ให้เอื้ออำนวยต่อการโกง
อาจจะมีผู้ที่รู้ทัน และพยายามเปิดเผยถึงการโกงในรูปแบบใหม่นั้น แต่สุดท้าย เหล่าผู้นำก็สามารถอ้างถึงความชอบทำจากการที่ตนเองชนะการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้นถึงสองครั้งสองคราได้
แล้วทำไมเมื่อมีการเปิดเผยขอมูลการทุจรติที่มากมายถึงขนาดนั้น แต่ความหนาแน่นของฐานเสียงก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง??
ผมเชื่อว่าเป็นเพราะว่า ความหนาแน่นของข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยออกมานั้น ยังกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตการรับรู้ของพลเมืองชั้นใน ไม่ได้รับการกระจายออกไปสู่พลเมืองชั้นนอก และพลเมืองชายขอบอย่างพอเพียง และผมเชื่อว่า พลเมืองชั้นนอกที่อยู่ห่างไกลนั่นเอง ที่เป็นฐานเสียงที่แข็งแรง เกินกว่าเพียงข่าวแฉข่าวเปิดโปงจะไปลบล้างความเชื่อในตัวเมสไซอาห์ของพวกเขาได้
หรือถึงข้อมูลข่าวสารจะไปถึง ด้วยความซับซ้อนละอ่อนเอียดในเนื้อหาแห่งการกระทำ ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนหมู่มากทั้งหมดเข้าใจได้พร้อมๆกัน ว่าการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นนั้น กำลังกระทบถึงตัวเอง กำลังกระทบถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตัวเองอย่างไร ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าปากท้อรายวันของตัวเองกำลังได้รับผลกระทบแต่อย่างไร ดังนั้น จะแฉจะเปิดโปงไปเท่าไร ก็รังแต่จะทำให้พวกเขารู้สึกว่า เมสไซอาห์ของเขากำลังตกที่นั่งลำบาก กำลังถูกกลุ้มุมรุมทำร้ายจากฝ่ายที่ไม่หวังดี
จึงนำมาถึงสิ่งซึ่งคปป.เรียกว่าความขัดแย้ง...
ในทรรศนะของผมแล้ว ในช่วงแรกที่บ้านเมืองแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เอานายกกับไม่เอานายกนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ใช่ “ความขัดแย้ง” แต่เป็นเพียง “ความแตกต่าง” ทางความคิดเท่านั้น และผมคิดว่านั่นเป็นนิมิตหมายอันดีของระบอบประชาธิปไตย เพราะต่างฝ่ายต่างสามารถมีสิทธิ์จะแสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่าง และน่าจะพัฒนาไปถึงขั้นทำความเข้าใจในความแตกต่างนั้นๆ เพื่อเข้าใจถึงเหตุแห่งความคิดที่แตกต่างกัน แล้วทำการปรับเข้าหากันเพื่ออุดความบกพร่องต่างๆได้
แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น...
อัตตาและความไม่รู้ได้นำพาความแตกต่างนั้นไปสู่ความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่ไม่ใช่แต่เพียงการแสดงออกอย่างรุนแรงในเชิงความคิด แต่กลับแลดูรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วยการชุมนุม การด่าทอ การปะทะกันของกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกัน
ในวินาทีที่ความขัดแย้งเดินทางมาจนเกือบจะถึงจุดแตกหัก...
เมสไซอาห์...ปรากฏตัวขึ้น
กองกำลังเมสไซอาห์ติดอาวุธ ก่อการรัฐประหารเพื่อสยบความไม่สงบทั้งปวง และผู้คนก็รู้สึกดีใจ เพราะรู้สึกว่าความแตกแยกในสังคมที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องได้รับการกำจัดไปจริงๆ
เกิดขึ้นจากตัวเอง...ปล่อยให้เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆด้วยตัวเอง
แต่ไม่คิดแก้ไขกันเอง...
ผมยังไม่อยากสรุปอะไรถึงผลของการรัฐประหารในครั้งนี้ เพราะมันคงจะเร็วเกินไป แต่ที่ผมกำลังกลัวก็คือ สิ่งที่สื่อกำลังประโคมว่ามันคือความสมานฉันท์แสนสวยงามที่ใฝ่ฝันกันมานานนั้น จริงๆแล้วมันอาจจะเป็นการยอมศิโรราบ การยอมจำนนให้กับความคิดหวังที่จะรอแต่เมสไซอาห์ของผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้
บางทีคงเพราะเมสไซอาห์ในครั้งนี้คือการรัฐประหาร และยิ่งมันแลดูชอบธรรมมากขึ้นเท่าไหร่ นั่นก็ยิ่งทำให้ผมหวั่นใจว่าต่อไปมันอาจจะถูกเชิญมาโปรดในทุกๆครั้งที่คนในบ้านนี้เมืองนี้ไม่อาจจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่รู้และความปล่อยปละละเลยของตัวเอง
มันแลดูไม่ค่อยคุ้มค่า...
กับการที่เราทุ่มกองกำลังติดอาวุธทั้งหมดไปในการจัดการกับคนเพียงคนเดียว คนๆเดียวที่เติบโตขึ้นมาได้จากการที่เราเอาอำนาจไปมอบให้เขา ใช้ความปล่อยปละละเลยส่งเสริมให้เขากลายเป็นเมสไซอาห์ในสายตาของหลายๆคน แล้ววันหนึ่งก็เอาปืนไปปลดเขาลงมาโดยแลกมาด้วยการทำให้เข็มระบอบประชาธิปไตยของเราหมุนกลับไปอยู่ที่เลขศูนย์อีกครั้ง
แต่บางทีผมก็คิดว่า ประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้วนกลับไปอยู่ที่เลขศูนย์ แต่เพราะมันค้างอยู่ที่เลขศูนย์มาตั้งแต่ต้นต่างหาก เหตุการณ์จึงได้ดำเนินมาจนถึงในจุดนี้
ผมเชื่อว่าเมสไซอาห์ที่ดีที่สุดน่าจะเป็นตัวตนของเราแต่ละคนเอง กระบวนการตรวจสอบทางการเมืองที่เข้มแข็งที่สุดไม่ใช่ศาลหรือองค์กรใดใด หากแต่เป็นตัวประชาชนที่มีความรู้และความเข้าใจในสิทธิ์ที่ตนมี สามารถบริหารใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องล้าสมัยที่ทำให้ดูราวกับว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในบ้านป่าเมืองเถื่อนนี้ก็คงไม่เกิดขึ้นมาอีก
อ่านต่อตอนสองครับ...