Saturday, October 07, 2006

 

BMTA - Bangkokian’s Menace Transportation Adventure -ภาคปัญหา-

ผมเชื่อว่ามันมีความแตกต่างระหว่างความจริงกับความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้)...

ความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้) นั้นเป็นสิ่งที่เรามองเห็น ได้รับการบอกกล่าว มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแม้กระทั่งจารึกลงไว้เป็นแนวความคิดหลากหลายที่ตกทอดสืบต่อกันมา

ส่วนความจริงนั้นจะซ่อนอยู่ในมุมมืด...อยู่ภายใต้เงาของความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้)

ในการจะหาความจริงที่ซ่อนอยู่หลังเงาของความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้) เจอได้นั้น เราจะต้องอาศัยความคิด การตั้งปัญหา การศึกษาค้นคว้า และอีกมากมายที่พอจะอนุมานได้ว่าเป็นการขุดคุ้ยในเชิงลึก

ผมชอบแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์สายกาลมสูตร (“วินทร์ เลียววาริณ” อ้างถึงไว้ในหนังสือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล”) ที่ว่า “ไม่มีหลักฐานนั้นมิใช่หลักฐานว่าไม่มี” หรือ “Absence of Evidence is not the Evidence of Absence” เพราะแลดูสามารถเป็นกำลังแรงใจในการใช้ความคิดสติปัญญาเพื่อค้นหาความจริงที่ถูกซ่อน ซ้อนทับอยู่ภายใต้เงาหนาหลายชั้นของความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้) ได้อย่างดี

บางที...แค่ความรู้สึกก็อาจจะพอเรียกว่าคือความจริงได้
BMTA เป็นตัวอย่างที่ดี...

ในกรณีที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ ความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้) จะเป็นดังเช่นที่หลายๆคนรู้กันอยู่แล้วว่า “BMTA” นั้นย่อมาจาก “Bangkok Mass Transportation Authority” หรือที่รู้จักกันในนาม “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ” หรือ “ขสมก.”

แต่จากข้อมูลที่ได้พบเห็น ทั้งทางอ้อมจากการได้เห็นภาพข่าวจากสื่อต่างๆ เสียงเล่าบอกต่อซึ่งประสบการณ์ของเพื่อนๆคนรู้จัก หรือจากประสบการณ์ตรงเช่นเห็นด้วยตา หรือสุดเขตขอบขั้วแห่งประสบการณ์ตรงอันเกิดจากความรู้สึกในยามได้ใช้บริการ ผมว่าในเชิงความจริงแล้ว “BMTA” นั้นคือ “Bangkokian’s Menace Transportation Adventure” หรือ “ภยันตริยขนส่งภัยที่ต้องผจญของคนกรุงเทพฯ” หรือ “ภขผค.” เสียมากกว่า

หรืออาจจะยังย่อได้ว่าเป็นขสมก. แต่หาได้ย่อมาจาก “องค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ” ไม่ หากแต่จะเป็น “ข้าฯสมัครใจจะมอดม้วยด้วยบริการนี้ที่มีแก่คนกรุงเทพฯ” หรือ “By all Means i’m willing you to Throw me to death, mr.Authority”

มันเป็นความรู้สึกจากการที่ผมต้องใช้ชีวิตการเดินทางทั้งระยะใกล้และระยะไกลโดยที่ต้องผูกติดอยู่กับบริการของขสมก.เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้นผมได้รวมเอาบริการของรถร่วมบริการไว้เป็นการบริการของขสมก.ด้วย

ผมพอจะเข้าใจว่าขสมก.ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการในส่วนของรถร่วมฯโดยตรง แต่ขสมก.เองก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รถร่วมบริการของเอกชนนั้น เป็นวิสาหกิจที่เกิดจากการใช้วิจารณญาณของขสมก.ในการอนุมัติมอบสัมปทานการประกอบการให้ ซึ่งหลายๆคนที่เคยได้สัมผัสคงยากจะปฏิเสธว่าการบริการของรถร่วมบริการนั้นเป็น “ภยันตริยขนส่งภัยที่ต้องผจญของคนกรุงเทพฯ” อย่างแท้จริง

ในส่วนบริการโดยตรงของขสมก.นั้นผมคงไม่ขอกล่าวถึงมาก เพราะไม่ค่อยเจอการบริการที่คุกคามสิทธิเสรีภาพทางร่างกาย หรือจิตใจในฐานะที่ผมเป็นประชาชนพลเมืองที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ซึ่งตอนนี้มีเพียงชื่อ) สักเท่าไหร่ จะมีบ้างก็อย่างที่แฟนผมเจอเช่นเรื่องที่ปัดน้ำฝนไม่ทำงานในระหว่างที่ฝนกำลังตกหนัก ซึ่งในเชิงกลไกแล้วอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยกับการที่ก้านพลาสติกขนาดเล็กๆก้านสองก้านจะไม่ทำงาน แต่ในเรื่องของความปลอดภัยนั้นผมถือว่ามันเป็นความอันตรายยิ่งใหญ่ถึงขั้นควรจะหยุดเดินรถ หรือไม่ก็น่าจะมีการตรวจสอบในทุกครั้งถึงความปรกติของอุปกรณ์ต่างๆก่อนที่จะเดินรถออกจากอู่

ลองคิดดูนะครับว่า ในกรณีที่ที่ปัดน้ำฝนไม่ทำงานในขณะที่ฝนกำลังตกหนัก หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วคนที่เดือดร้อนหรือได้รับบาดเจ็บคงไม่ใช่แค่คนขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือผู้โดยสาร (หรืออาจจะมีนายตรวจด้วย) ที่อยู่บนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศคันนั้น ซึ่งผมว่าจริงๆแล้วคนเหล่านั้นอาจจะไม่บาดเจ็บอะไรเท่าไหร่ เพราะถึงอย่างไรก็อยู่ในรถใหญ่ที่มีความเร็วอยู่ในระดับช้าเนื่องจากสภาพอากาศและสภาพการจราจร แต่ถ้าหากเจ้ากล่องสี่เหลี่ยมหกล้อที่ยักคิ้ว (ขยับที่ปัดน้ำฝน) ไม่ได้นั่นเกิดไปเกี่ยวเอารถจักรยานยนต์เข้า ผลที่เกิดขึ้นคงไม่น่าดูนัก

หรือจะเรื่องของเครื่องปรับอากาศที่ขาดความเย็นอย่างร้ายกาจ หลายคนอาจไม่คิดว่าเป็นปัญหา ตรงส่วนนี้ผมคงจะยกให้เป็นความผิดของตัวเองที่อ้วนอย่างร้ายกาจไม่แพ้กัน จึงร้อนอย่างร้ายกาจภายใต้สภาพการปรับอากาศที่หลายๆคนอาจจะไม่รู้สึกอะไร

หากแต่ครั้งหนึ่งในรถทัวร์ปรับอากาศสายใต้ ผมเคยเจอสภาพเครื่องปรับอากาศที่ขาดความเย็นอย่างคล้ายคลึงกัน และมันรุนแรงถึงขั้นทำให้ชายที่นั่งอยู่ข้างหลังผมมีอาการลมชักกำเริบ ตั้งแต่นั้นผมก็เลยมองว่าเครื่องปรับอากาศที่ไม่สามารถสร้างความเย็นได้นั้นก็ถือเป็นปัญหาหนึ่งได้เช่นกัน

แต่กับปัญหาเหล่านั้นผมก็ยังพอจะทนทำใจไปกับมันได้ ส่วนไอ้ที่ร้อนรนจนทนไม่ได้ คงไม่พ้นปัญหาจากการใช้บริการรถร่วมบริการของเอกชน อย่างไม่ต้องสนใจเลยว่าเป็นมินิบัส (Minibus) หรือเมกะบัส (Mega-bus) เพราะจากที่ได้ประสพพบมา ล้วนมีมาตรฐานการดำเนินการบริการที่ไม่ต่างกัน

ผมไม่ค่อยจะอินังขังขอบอะไรกับเรื่องสภาพของรถสักเท่าไรนัก เพราะเรียกร้องโวยวายไปก็คงไม่ได้รับการแก้ไขจนกว่าจะมีข่าวว่ามีคนทะลุพื้นรถโดนขยี้ตายเหมือนในข่าวเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้ผมก็เห็นปัญหาอีกอย่างที่ยังตัดสินไม่ได้ว่ามันอันตรายมากหรือน้อยกว่าพื้นผุๆของรถกันแน่

นี่เป็นเรื่องโจ๊กตลกร้ายเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเกจวัดความเร็วของรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กหรือมินิบัส มีอยู่วันหนึ่งผมนั่งรถประเภทดังกล่าวกลับมาจากเซ็นทรัลปิ่นเกล้า พนักงานขับรถก็สำแดงทักษะการขับสุดฉวัดเฉวียนเสียจนผมอดรนทนไม่ได้ เลยเกิดดำริว่าขอให้ผมได้ยลตำแหน่งชี้ของเข็มความเร็วมึงหน่อยเถิด คิดได้ดังนั้นแล้วจึงยื่นหน้าไปดู ในตอนนั้นไม่ได้คิดไว้แม้แต่ว่าจะเจอเข็มชำรุดอย่างที่เจอในหลายๆคันหรอกครับ เลยไม่ได้เตรียมใจไว้ ทีนี้เลยช็อกยิ่งกว่าช็อก เพราะไอ้ที่ผมเห็นน่ะ อย่าว่าแต่เข็มเลยครับ เกจก็ไม่มี ตรงแผงคอนโซลหน้าคนขับนั้นมีลักษณะประหนึ่งถาดหลุมใส่ข้าว ถาดสามหลุมที่เห็นแล้วแทบจะไปซื้อข้าวกับกับอีกสองอย่าง เทลงไปให้คนขับได้เก็บไว้กินตอนขับ หรือไม่ก็เก็บไว้ใส่บาตรไปให้เขาได้ใช้กินในโลกหน้า

ผมก็ไม่ได้คิดหรอกนะครับ ว่าถ้ามีเข็มมีเกจให้คนขับได้เห็นแล้วพวกเขาจะขับรถช้าลง เพราะผมคิดว่าความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้) เชิงตัวเลขที่มองเห็นจากเข็มวัดนั้น ทั้งๆที่หากมีตัวเลขให้ได้เห็นกันอย่างชัดเจน ประกอบกับการมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ในการควบคุมการจำกัดความเร็วของรถโดยสารประจำทาง เหล่านั้นอาจทำให้คนขับมีความรำลึกถึงความเร็วที่ควรเป็น เพื่อเห็นแก่สวัสดิภาพของตนเอง ผู้โดยสาร รวมทั้งเพื่อนร่วมถนนด้วย

ทว่า ความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้) เชิงตัวเลขดังกล่าวคงไม่อาจสู้ความจริงแห่งความเร็วที่สามารถสัมผัสได้จากการที่เรามองเห็นภาพเบื้องหน้ามาถึงตัวเร็วขึ้นและเร็วขึ้นเรื่อยๆ หรือมองเห็นภาพทิวทัศน์รอบข้างกลายเป็นเพียงเส้นขาวแสงดำที่พุ่งผ่าน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นย่อมเป็นสิ่งที่คนขับน่าจะสัมผัสได้อยู่แล้ว

บางทีอาจจะเป็นสัญชาตดาน...

ผมไม่ได้เขียนผิดนะครับ ผมเชื่อว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นเป็น “สัน-ชาด-ตะ-ดาน” คือสัญชาตญาณความรุนแรงที่ก่อรากฝังตัวลึกจนกลายเป็นสันดาน แล้วแสดงออกมาในการขับรถ ผมไม่ได้หยาบคายหรือกำลังใช้ความแห่งอักษรไปในเชิงดูถูกแต่อย่างใด ผมขอเรียกว่านี่เป็นความอักษรในเชิงจิตวิเคราะห์ เพราะในความรวดเร็วในการขับที่รุนแรงนั้นมันแฝงไปด้วยแรงขับดันหลายๆอย่าง ประเด็นต้นๆคงไม่พ้นเรื่องการทำเวลาเพื่อสามารถวิ่งได้อีกหลายรอบ อันเป็นไปเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องของปากท้อง อีกเรื่องหนึ่งก็คือรถดังกล่าวนั้นออกกันตามคิว ถ้ารถที่ออกมาก่อนกลับไปถึงอู่ช้ากว่าคันที่ออกมาทีหลัง รถที่ออกมาก่อนจะต้องถูกปรับ เป็นผลให้ต้องทำการรีดเค้นความสามารถในการทำเวลาออกมาให้เต็มที่ ซึ่งส่วนหนึ่งคงเพราะต้องชดเชยเวลาที่หน่วงนานจนล่วงเลยไปเนื่องมาจากการจอดแช่ป้ายด้วย

ส่วนประเด็นในเชิงลึกนั้น ผมว่าบางทีการขับเร็วนั้นอาจจะเป็นช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับชีวิตและความเคารพในคุณค่าของตัวเองของคนขับ คือทำให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นมีทักษะความสามารถในการขับที่สูงส่ง ยิ่งถ้ามีการขับแข่งกัน คงยิ่งเป็นความสุนกสนานท้าทายที่มากยิ่งขึ้น และคงทำให้รู้สึกว่าตัวเองเก่งกาจมากขึ้นในกรณีที่แข่งชนะ และที่แน่ๆคงไม่พ้นความสะใจ

ผมไม่ได้สนุกสะใจไปกับพวกคุณนะครับ...

อย่างหนึ่งที่คนขับรถประจำทางควรตระหนักก็คือ สิ่งที่พวกเขาแบกรับไว้นั้น ไม่ใช่แค่ปากท้องของตัวเองและครอบครัว แต่มันยังมีปากท้องของครอบครัวของคนอื่นที่มอบความไว้วางใจ (ความจำใจ) ใช้บริการของพวกเขา ซึ่งก็คือผู้โดยสารอยู่ด้วย

ผมอาจจะบ่นถึง หรือรู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างกับการเปลี่ยนแปลงของค่าโดยสารในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันจนทำให้อยู่ในระดับที่รู้สึกว่าแพง แต่เมื่อเทียบกับความปลอดภัยที่ได้รับแล้ว บางครั้งผมก็รู้สึกว่า เงินแพงขั้นต่ำ 6.50 บาทที่เสียไปนั้นไม่ได้เสียไปเพื่อสวัสดิภาพในการเดินทาง หากแต่กลับกลายเป็นการจ่ายลงเพื่อซื้อความเสี่ยงมาบริโภค เป็นการซื้อสถานภาพพร้อมตายมาให้ตัวเอง จนทำให้รู้สึกว่า ค่าชีวิตของตัวเองในสายตารัฐนั้นช่างต่ำต้อย และน้อยนิดจนปัดประมาณได้ว่าไม่มีค่าใดใดให้ต้องได้รับการคุ้มครองอยู่เลย

และด้วยภาพที่ออกมานั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิสัยการขับของคนขับรถประจำทางหลายๆคันนั้น ได้ทำให้บริการของขสมก.กลายเป็นภยันตริยขนส่งภัยขึ้นมาอย่างจริงจัง

ผมเกือบจะเชื่อว่าความคิดดังกล่าวนั้นเป็นเพียงความมองโลกในแง่ร้ายของตน ถ้าไม่เพียงแต่ผมได้ฟังข่าวถึงคำอุทธรณ์ต่อศาลของทางขสมก. ในคดีความต่อเนื่องจากสองปีก่อนที่พ่อของนศ.สาวคนหนึ่งฟ้องเรียกสินไหมทดแทนจากทางองค์การ (นอกเหนือจากคดีทางอาญากับคนขับรถที่สิ้นสุดไปแล้ว) ในกรณีที่นศ.สาวคนดังกล่าวเสียชีวิตจากความประมาทของคนขับรถ โดยสินไหมดังกล่าวนั้นเป็นเงินนับสิบล้านบาท

คำอุทธรณ์ดังกล่าวโดยเต็มนั้นผมจำไม่ได้ แต่ผมจำความตอนหนึ่งได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ทางฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลมีความว่า ในเมื่อทางบิดาของนศ.สาวคนนั้นอ้างว่าครอบครัวของตนมีกำลังและวางแผนถึงขั้นจะส่งนศ.สาวคนดังกล่าวไปเรียนเมืองนอก แล้วทำไมจึงปล่อยให้บุตรสาวของตนมาใช้บริการรถโดยสารประจำทางซึ่งถือเป็น “การเสี่ยงภัยประจำวันเป็นกิจวัตร”

พูดจาอย่างนี้เอารัฐธรรมนูญม้วนๆแล้วไปอ่านให้คนพูดฟัง (จริงๆแล้วผมอยากเอาไปตีหัว) คงได้...
คือ...ตอนที่เขาพูดเรายังมีรัฐธรรมนูญอยู่ไงครับ

พูดแบบนี้นี่ผิดรัฐธรรมนูญเต็มๆเลยนะครับ ถ้าบ้านใครยังมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกฉีกไป (ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540) เหลืออยู่ ก็รบกวนให้หยิบมาแล้วเปิดไปดูที่หมวด 3 อันความในหมวดว่าด้วยเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” ให้ดูที่มาตรา 26 ซึ่งเป็นมาตราแรกของหมวดได้เลยครับ

มาตรา 26 ตราไว้เป็นความว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า รถร่วมบริการนั้นเป็นวิสาหกิจที่ได้รับสัมปทานประกอบการจากองค์กรของรัฐคือขสมก. เพราะฉะนั้น ในกรณีคำพูดดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่า องค์กรรัฐองค์กรหนึ่ง ซึ่งก็คือขสมก.ได้ใช้อำนาจในการมอบอำนาจแก่องค์กรหนึ่ง ซึ่งองค์กรดังกล่าวนั้นได้สร้าง “การเสี่ยงภัยประจำวันเป็นกิจวัตร” ให้แก่ปวงชนชาวไทย ผมจะไม่พูดถึงเรื่องศักดิ์ศรี แต่คงไม่เป็นการเกินไปหากจะกล่าวว่าการกระทำแบบนี้นั้นไม่คำนึงถึง “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ในการดำรงชีวิตอยู่อย่างตลอดรอดปลอดภัยของมนุษย์ เพราะองค์กรรัฐได้ผลิต (หรือปล่อยปละละเลยให้เกิดมี) ความเสี่ยงแบบเป็นกิจวัตรประจำวันไว้ในบริการระดับมวลชน

นอกจากผิดในมาตราที่ 26 แล้ว ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ยังผิดในมาตรา 29 วรรค 1 และมาตรา 31 วรรค 1 และ 2 อีกด้วย

ซึ่งมาตรา 29 วรรค 1 นั้นมีใจความดังนี้

“มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้”

แน่นอนครับ จากเรื่องของ “การเสี่ยงภัยประจำวันเป็นกิจวัตร” ตามมาตราและวรรคดังกล่าว เรากำลังถูกจำกัด “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ในการดำรงชีวิตอยู่อย่างตลอดรอดปลอดภัยภายใต้การใช้บริการขององค์กรรัฐ

ส่วนมาตรา 31 วรรค 1 และ 2 นั้นมีใจความดังนี้

“มาตรา 31 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้”

จากเรื่องเดียวกัน เมื่อพิจารณาตามมาตราดังกล่าว และคำอุทธรณ์ดังกล่าว ในทุกๆครั้งที่ใช้บริการขนส่งมวลชน นั่นหมายความว่าเรากำลังถูกทรมาน ถูกทารุณกรรมซึ่ง “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ในชีวิตนั่นเอง

ผมรู้สึกเสียใจ ที่องค์กรรัฐองค์กรหนึ่งตอบแทนความไว้วางใจ (และเงินภาษี) ของประชาชนคนหนึ่ง (และ/หรือทั้งปวง) ที่มอบให้กับพวกเขาเช่นนี้

หากมองแต่ในแง่ดีโดยไม่คิดถึงเรื่องผลประโยชน์ทั้งที่เป็นตัวเงิน และที่ไม่ใช่ตัวเงินใดใด อันเป็นผลให้เกิดการตัดสินใจมอบสัมปทานนั้น ทางองค์กรรัฐคงไม่ได้คาดคิดถึงว่าการณ์นั้นจะออกมาในรูปเดียวกับในปัจจุบันนี้ แต่ในตอนนี้นั้นเมื่อได้เห็นแล้วว่า การตัดสินใจในครั้งนั้นส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างไรแล้ว การตัดสินใจนั้นก็ควรได้รับการพิจารณาใหม่หรือทำการปรับปรุงแก้ไขไม่ใช่หรือครับ

อย่าลืมนะครับว่า ในเงามืดของความเป็นจริง (ที่ได้รับรู้) ที่ว่าประชาชนส่วนหนึ่งกำลังรอรถโดยสารประจำทางนั้น ยังมีความจริงประการหนึ่งซ่อนอยู่

สิ่งที่พวกเขารอ...ไม่ใช่แค่รถโดยสารประจำทาง
แต่มันคือการเดินทางโดยสวัสดิภาพครับ...

และมันยังสะท้อนต่อไปว่า ในสายตาของท่านๆที่ดำรงตนอยู่ในนามขององค์กรรัฐนั้น ได้ให้ค่ากับชีวิตของประชาชนที่อยู่ภายใต้การบริหารปกครองของท่านมากน้อยเพียงใด

Comments:
"ดวงอาทิตย์ทำให้ทุกสิ่งกระจ่างชัด... แต่
เรายังต้องทำความเข้าใจในส่วนที่มืด ซึ่งยังคงดำรงอยู่"

ปรัชญาขงเบ้ง

สมัยเรียนกฎหมายอาญา อาจารย์ผมสอนว่า "ประมาท" ในความผิดอาญามีสองอย่าง คือ ประมาทธรรมดา กับ ประมาทโดยรู้ตัว

ไอ้ประมาทธรรมดา เข้าใจได้ไม่ยากเย็น แต่ไอ้ประมาทโดยรู้ตัว นี่มันต่างอะไรเหรอครับอาจาย์ กับกระทำโดย "เจตนา" ?

อาจารย์เลยบอกว่า คุณนึกไม่ออก ก็ให้ลองไปขึ้นรถเมล์เล็ก (สีเขียว) ดู แล้วจะรู้ว่า ความประมาท (ที่ไม่ได้เจตนา หรืออยากให้ใครตาย) แต่คาดหมายได้อย่างยิ่งว่า มันน่าจะเกิดเหตุได้ แต่ผู้กระทำ (คนขับ) ก็ยอม หรือเตรียมใจรับผลเหล่านั้นไว้บ้างแล้ว มันเป็นยังไง ???

ผมควรจะฮา หรือ ร้องไห้ดีครับ ?
 
ผมฟังแล้วฮาล่ะ...แต่ในฮาขื่นๆพิกล
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?