Tuesday, December 19, 2006

 

หมีมองคน: คิดก่อนใช้ไปกับเศรษฐกิจพอเพียง

(แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 10 ม.ค. 2550 จาก “หมีมองคน: เศรษฐกิจพอเพียง คือ “นโยบาย?” คือ “ศาสนาเกิดใหม่?” คือการหลงลืมไปซึ่ง “ความเท่าเทียม?”)

ถ้าการบริโภคอาหาร ที่มีสารเบต้าแคโรทีนมากเกินไป จะทำให้ผู้บริโภคเริ่มหน้าเหลือง ตัวเหลือง เล็บเหลือง

หรือ...ฟ้าเหลือง??
ไม่ขนาดนั้นหรอก...

บางที กองอาเจียนสีอมเหลืองที่ผมสำรอกออกมานั่น ก็อาจเป็นเพราะผมได้บริโภคอะไรเหลืองๆ (แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเบต้าแคโรทีน) มากเกินไป จนเกินความสามารถในการรองรับของร่างกาย จึงต้องสำรอกออกมา

“เฮ้ย!!” ทาโร่ สุนัขสามัญประจำบ้านของผมดอมดมกองของเก่านั่นแล้วร้อง “มึงบริโภคเศรษฐกิจพอเพียงเยอะไปว่ะ”

.................

หือ??

บริโภค...เศรษฐกิจพอเพียงเยอะไป?

ก็ไม่ปฏิเสธ มันอาจจะเป็นแบบนั้นจริงๆ ร่างกายของผมคงได้รับสารเศรษฐกิจพอเพียงผ่านสื่อต่างๆมากเกินไป ส่วนที่ต้องสำรอกออกมานั้น เพราะแม้รายละเอียดจะขยายความปลีกย่อยออกไปเรื่อยๆ แต่สารดังกล่าวล้วนไม่แตกต่างกันในใจความสำคัญ เลยต้องสำรอกเอาส่วนซ้ำออกมา จะได้เหลือที่ว่างไว้รับสารอย่างอื่นบ้าง

เป็นกลไกการกรอง “สาร” อย่างหนึ่งของร่างกาย...

“กูกินนะ” ทาโร่ร้อง เสียงมันแปลกๆ น้ำลายยืดๆ

“ตามสะดวก” ผมตอบ “เลือกหน่อยแล้วกัน มันซ้ำๆ”

ปรกติ ผมก็เป็นคนเขียนแบบที่ทำให้คนอ่านจับประเด็นไม่ค่อยได้ (โดยไม่ได้เจตนา (T.T)) อยู่แล้ว และวันนี้คงยิ่งจับประเด็นยากมากขึ้นไปอีก เพราะมีประเด็นมากมาย และไม่ได้เรียบเรียงอะไรเท่าไรนัก แต่ผมก็ทนไม่ไหว ถ้าจะต้องอ้วกมันเรี่ยราดลงหูแฟนไปอีก (คงจะเต็มแล้วเหมือนกัน) ไหนๆถ้าจะต้องอ้วก ผมก็ขออ้วกในนี้แล้วกัน

ประเด็นหนึ่ง เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ ทุกวันนี้ ตัวตนของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความเป็น “นโยบาย” และ “ศาสนา” ซึ่งก้ำกึ่งที่ว่าก็คือ ในความไม่ชัดเจนนั้น แนวคิดดังกล่าวสามารถเป็นได้ทั้ง “นโยบาย” และ “ศาสนา” นั่นเอง

และเป็น “ศาสนา” ที่เพิ่ง “เกิดใหม่” เสียด้วย

ความแตกต่างระหว่าง “ศาสนา” ที่มีกันอยู่แล้ว กับ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง (ศาสนาเกิดใหม่)” ก็คือ “ศาสนา” แบบเดิมๆนั้น ในกรณีที่นักบวชในศาสนา (ในที่นี้ใช้พุทธและคริสต์เป็นฐานอธิบาย) เป็นคนเผยแผ่ ตัวคำสอนจะได้รับความนิยมก่อน แล้วศาสดาจึงได้รับความนิยมตาม หรือในกรณีที่ตัวศาสดาเป็นผู้เผยแผ่เอง ตัวคำสอนก็จะได้รับความนิยมไปพร้อมๆกัน หรือไล่เลี่ยกับตัวศาสดา

แต่ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” นั้น ความนิยมชมรักในตัวศาสดาเป็นสิ่งที่มีมาอยู่ก่อน และมีอยู่มาอย่างยาวนาน ด้วยทรงดำรงพระองค์อยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจ ทั้งยังเป็นความนิยม และเป็นจินตนาการร่วมที่ใช้ในการระบุความเป็น “พวกเดียวกัน” (ใครไม่นิยมไม่ใช่ไทย ต้องด่าเป็นอย่างน้อย ต้องฆ่าเป็นอย่างมาก) ดังนั้น ภายใต้กระแสความนิยม ความเป็นศูนย์รวมจิตใจ ความเป็นตัวชี้วัดความเป็นพวกเดียวกัน ผนวกเข้ากับคลื่นความโหยหิวสมานฉันท์ ย่อมเป็นไปได้ ที่คำสอนของ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” จะได้รับความนิยม และพร้อมจะปฏิบัติตามก่อนที่จะมีกระบวนการทำความเข้าใจ

ความที่เป็น “นโยบายเชิงปรัชญา” (หรือจริงๆคือ “ปรัชญาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบาย”) เมื่อรวมเข้ากับความพร้อมจะปฏิบัติตามก่อนทำความเข้าใจ จึงทำให้ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นสิ่งที่ต้องทำการ “ตีความ” ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นปรัชญา ย่อมเป็นไปได้ และเป็นไปแล้ว ที่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ด้วยการอ่าน หรือฟังเพียงครั้งเดียว

และภายในสองปีนี้เป็นอย่างน้อย กระแสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง (ที่ทรงดำริดำรัสมานานกว่า 25 ปี แต่อย่าลืมว่านานกว่าที่ว่านั้น มิจำเป็นว่าต้องตลอด แต่อาจเป็นครั้งคราว และน้อยครั้ง) ยิ่งย่อมร้อนแรง และอาจเป็นรูปธรรมถึงขีดสุดด้วยแรงผลักดันของรัฐ นักวิชาการบางส่วน รวมถึงสื่อต่างๆ (แต่ยังคงเป็นนามธรรมในทางปฏิบัติ เนื่องจากตีความได้หลากหลาย และยังไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้น บอกตามตรงว่า เป็นกระแสนโยบายที่ส่วนเงื่อนไขกินความแห่งพฤติกรรมได้กว้างขวางเป็นอันมาก) และจากแรงศรัทธาของประชาชนเอง ด้วยเหตุผลหลักๆสองประการคือ 1. เป็นช่วงสิ้นสุดกลุ่มทุนเผด็จการประชานิยม และ 2. ช่วงนี้เป็นช่วงมหามงคลทวิศก ว่าด้วยวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และจะทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ตามลำดับ

ลักษณะความเป็นศาสนาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ

1. (ด้วยความเคารพ) มีองค์ศาสดาผู้ประกาศ คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2. มีคำสอน คือตัวแนวนิยามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง อันมีอยู่สามประการ คือ

2.1)ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

2.2)ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆอย่างรอบคอบ และ

2.3)การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตทั้งใกล้และไกล

(ที่มา: “เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร?”, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, www.nesdb.go.th/sufficiency)

โดยคำสอนนั้น เป็นไปเพื่อการละวาง จากการแข่งขันที่มากเกินไป อันนำมาซึ่งความวุ่นวาย และการก่อเกิดของอัตตาที่เป็นพิษต่อตนเอง และสังคม อันหมายถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อเกิดการหลุดพ้น จากการครอบงำของทุนนิยม และสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับทุนนิยม โดยมิต้องหลุดไหลไปตามกระแส ให้ต้องเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจโดยไม่จำเป็น

3. มีรัฐบาลและนักวิชาการ (บางส่วนถึงส่วนใหญ่) เป็นนักบวชคอยเผยแผ่คำสอน และ

4. มีประชาชนเป็นสาวก

หรืออาจจะมี...

5. คุณลักษณะของความบิดเบี้ยวทางคำสอน ซึ่งเป็นกันในหลายๆศาสนา คือการก่อกำเนิดขึ้นของวัฒนธรรมการเคารพรูปวัตถุ หรือสักการะสิ่งของบูชา (พระบรมฉายาลักษณ์ ริสท์แบนด์ เสื้อ ของเหลืองต่างๆ ที่บางชนิดถูกนำมาผลิตขายในฐานะ “ราชพาณิชยสักการะภายใต้พระบรมราชานุญาต” ซึ่งไม่แน่ใจว่าสินค้าในร้าน King Power Duty Free จะได้รับผลกระทบ จนเข้าข่ายลักษณะบิดเบี้ยวนี้ด้วยหรือไม่ เพราะอาจมีคนบางประเภท ที่พอเห็นมีคำว่า King ก็จะรีบวิ่งไปสนับสนุนในทุกที่ โดยมิพักจะต้องคิดคำนึงถึงใจความที่แท้จริง) ยังดีแต่ว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นที่เคารพรักอย่างสุดซึ้ง ผมจึงคาดว่า ยังไม่มีใครกล้าคิดวิตถาร ถึงขั้นบังอาจขูดพระบรมฉายาลักษณ์ หรือสิ่งแทนพระองค์ต่างๆเพื่อหาหวย

แต่เอาเลขพระชนมายุไปแทงหวยนี่ประจำ...

และที่แน่ๆ...คือ

6. มนุษย์นอกกระแสที่คอยตั้งคำถามต่อตัวคำสอน

และมีคุณลักษณะความเป็น “ศาสนาเกิดใหม่” คือยังไม่แพร่หลาย และต้องตีความซ้ำ ย้ำหลายรอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจแบบเดียวกัน

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความย้อนแย้งในความเป็น “ศาสนาเกิดใหม่” คือค่อนข้างจะได้รับความนิยมไปก่อนแล้ว โดยยังไม่มีการปฏิบัติจริงจัง

พร้อมกันนั้น ยังมีคุณลักษณะความเป็นนโยบาย อันตรงกับความหมายของคำว่านโยบาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ฯ คือเป็น “หลักและวิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นแนวดำเนินการ”

และตรงนี้ ผมคิดเอาเอง ว่ามันแสดงให้เห็นว่า ภายใต้ความเคารพรักอย่างมากมายมหาศาล [ทั้งที่มาจากใจ (สมอง) โดยตรง และที่มาจากเพียงแรงสั่นสะเทือนของเส้นเสียงในลำคอ] ที่ปวงชนชาวไทยมีให้องค์พระมหากษัตริย์นั้น เรามีความตื่นตัวกับสิ่งที่เป็น “นโยบาย” มากกว่า “พระบรมราโชบาย”

แต่อาจเพราะนี่เป็นรัฐบาลชุดแรก (เท่าที่ผมระลึกได้ในตลอดช่วงชีวิต 25 ปีของตัวเอง) ที่ได้นำเอา “พระบรมราโชบาย” มาทำเป็น “นโยบาย”

และอาจเป็นจุดตัดสินใจ สำหรับฐานเสียงของกลุ่มอำนาจเก่าในบางพื้นที่ ที่ต่างบอกว่าเคารพรักในองค์พระเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังคงโหยหา “ทักษิโณบาย” ไปในเวลาเดียวกัน ว่าสิ่งไหน ที่พวกเขาจะเลือกกัน

ซึ่งตรงนี้อาจเป็นไปได้ว่า มีคนส่วนหนึ่งในประเทศ ที่เลือกเชื่อ “คำคน” (นโยบายประชานิยม) ที่เชื่อว่าให้ประโยชน์แก่ตัวเอง มากกว่า “ตัวคน” (องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ที่พูดคำที่ยังไม่ชัดว่าจะให้ประโยชน์ใดใดกับตัวเอง และอาจอยากเห็นทางออกเป็นการประนีประนอม โดยการผนวกรวมเอาทุกคำคน และตัวคนนั้นเข้าด้วยกัน

ถ้าคำกล่าวหาข้อหนึ่งในหลายๆข้อ (ในหมวดเรื่องความพยายามที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์) ของฝ่ายพันธมิตรฯเป็นความจริง ผมว่าคุณทักษิณแกก็ทำอะไรสำเร็จไปในบางส่วนแล้ว

ถ้าเป็นผม หากคิดว่า “รัฐประหารบาล” ชุดนี้รังแกนายเหนือหัวคนเก่า ผมจะลองชวนกันร่วมลงนามถวายฎีกาดู ซึ่งน่าจะได้ผลในเชิงปฏิบัติมากกว่าการชุมนุม อันสุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงของมือที่สาม (แพะตลอดศักราช; Always Available Scape-Goat) เป็นไหนๆ

และเราเองก็มีความถนัด ในการถวายอำนาจอธิปไตยคืนสู่กษัตริย์ (โดยผ่านคณะรัฐประหารสักชุด หรือที่ “ทันสมัย” ไม่แพ้กันก็คือมาตรา 7) เพื่อขจัดปัญหาบ้านเมืองอันยากเกินแก้ไข อันเกิดจากการรู้ไม่เท่า เข้าใจไม่ทัน หรือแม้ด้วยการปล่อยปละละเลย ด้วยได้ปิดตามองไปข้างหนึ่ง ภายใต้เหตุผลที่ว่า “ลำพังต้องสร้างความมั่งคั่งแสนมั่นคงให้ชีวิตตัวเอง ก็ไม่เหลือเวลาจะไปทำอย่างอื่นสิ่งใดแล้ว” หรือ “การเมืองเรื่องน้ำเน่า เราไม่ดม” อยู่เสมอ

ในการต่อไปนี้ กับสิ่งที่ผมกำลังจะพูด จะมีคำว่า “อัตภาพ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในหลายๆจุด ซึ่งหากดูตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ฯ คำว่า “อัตภาพ” เป็นคำมาจากภาษาบาลีว่า “อตฺตภาว” (อัด-ตะ-ภา-วะ) อันหมายถึง “ตน” หรือ “ลักษณะความเป็นตัวตนหรือบุคคล” ดังนั้นแล้ว ย่อมสามารถกินความขยายไปถึงทุกสิ่งอันใดก็ตาม อันหมายถึงสิ่งที่บุคคลหนึ่งมี ทั้งสถานะทางการเงิน สภาวะภาพทางสังคม ความรู้ความสามารถในการดำรงชีวิต สิ่งสภาพใดก็ตามที่ประกอบรวมอยู่ในตัวบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม หรือที่เป็นนามธรรม แต่เป็นที่รับรู้ได้ว่ามีอยู่ก็ตาม

จากความหมายของวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับการตีความภายใต้บริบทของเมือง [ซึ่งเป็นการห่างไกลออกจากแนวความคิดตั้งต้น ที่ค่อนข้างเป็นเรื่องของชุมชนเกษตรกรรม ทั้งนี้เข้าใจว่าเพราะได้กลายมาเป็นนโยบายรัฐ และส่วนใหญ่ได้รับการตั้งคำถามจากคนเมือง เนื่องจากได้รับการแถลงว่า สามารถใช้ได้กับทุกภาคส่วน และมักได้รับการตีความ เผยแพร่ (เผยแผ่) ผ่านทางสื่อต่างๆ จากคนที่อยู่ในสภาวะที่ “มี” จนสามารถ “พอ” แต่ยังไม่เคยได้รับฟังแนวความรู้สึกของคนที่อยาก “พอ” แต่ยังอยู่ในสภาพชีวิตที่ไม่อาจเรียกได้ว่า “มี” แม้เพียงในระดับพื้นฐานอันทุกคนควร “มี” แต่คนเหล่านั้นก็ยังไม่อาจได้อยู่ในสภาวะ “มี”] ตามที่ได้ทำความเข้าใจเอง และรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ผมพบว่า วิถีการดำเนินชีวิตดังกล่าว แทบจะไม่มีความแตกต่างอะไรไปจากการดำเนินชีวิตอย่างมีสติเชิงพุทธ คือดำรงตนอยู่บนความไม่ประมาท นอกเหนือจากนั้นคือต้องมีอหิงสา อหิงสาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คือกระทำการใดใดต้องไม่ให้ใครเดือดร้อน

ในเรื่องของการกินใช้ปรกติ ผมคงไม่ต้องไปพูดถึงมาก เพราะส่วนใหญ่คงเข้าใจดีอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะปฏิบัติหรือไม่) ว่าภายใต้วิหิงสาที่มีต่อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาทำอาหาร เราจะกินอย่างไรเพื่อให้เกิดอหิงสา ทั้งต่อตัวเรา ต่อผู้อื่น

และสำคัญที่สุด...ต่อทรัพย์ของเรา
แลดูว่าทรัพย์นั้นน่าจะเป็นประเด็นหลักทีเดียว...

แต่ในเรื่องของการลงทุน มีการตั้งคำถามกันมาก ว่าลงทุนแบบไหน จึงจะเรียกว่าเป็นการพอเพียง

นั่นเพราะคำว่าพอเพียง...ถูกนำไปผูกติดอยู่กับบริบทที่เรียกว่าจำนวนเงิน

จึงเป็นความสงสัยว่า การลงทุนด้วยเม็ดเงินนับล้าน ของเหล่ามหาเศรษฐีเงินล้าน การลงทุนในลักษณะนั้น สามารถเรียกว่าเป็นความพอเพียงหรือไม่ หากไม่ใช่ และนักธุรกิจเหล่านั้นหันมาดำเนินชีวิต ดำเนินการลงทุนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่นนั้นแล้ว จะนำมาซึ่งการหยุดชะงัก จนดำเนินไปถึงการถดถอยของเศรษฐกิจทั้งปวงของประเทศ และนำพาไปถึงการไม่สามารถต่อสู้ กับระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่กำลังสยายปีกครอบคลุมไปทั่วโลก อย่างโหดร้ายกระหายเลือดหรือไม่

คำตอบก็คือ หากการลงทุนเรือนล้านนั้น เป็นไปโดยมิเกิดวิหิงสาแก่ตน มิเกิดวิหิงสาแก่คนอื่น มีความรอบรู้และรู้รอบ ถึงผลดีผลเสียอันจะเกิดแต่การลงทุนนั้น คือในขณะที่คาดหวังถึงผลที่ดีที่สุด ก็ต้องไม่ลืมคำนึงถึงผลเลวร้ายที่สุด อันอาจจะเกิดขึ้นได้จากการลงทุนนั้นด้วย หรือสรุปให้ง่ายเข้าอีกก็คือ ลงแล้วมั่นใจว่าไม่เดือดร้อน เช่นนั้นแล้ว การลงทุนนั้นย่อมเป็นไปตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

ผมไม่ใคร่มีความรู้เรื่องการลงทุนนัก แต่ตามวิสัยผู้หลีกหนีความเสี่ยง (แต่บางครั้งผมก็เข้าสู้??) ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ในเมื่อจะมองอย่างไร หากไม่ใช่การลงทุนแบบหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (ซึ่งแลดูจะเข้ากันได้กับวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่สุด) อย่างเช่นการฝากเงินกับธนาคาร หรือการซื้อประกัน เป็นต้น การลงทุนย่อมมีโอกาสจะพลิกดาว (ในฝัน) สู่ดิน (ในความเป็นจริง) ได้เสมอ เช่นนั้นแล้ว เรายังพึงลงทุนให้มากมายตามอำนวยการแห่งอัตภาพอีกหรือ

เศรษฐกิจพอเพียงก็ยังตอบต่อไปว่า นั่นต้องใช้หลักว่าด้วยความรู้รอบ คือต้องรู้โดยรอบว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง และมีเครื่องมือใดบ้างที่สามารถกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นๆไป เพื่อได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการกำจัด

จึงสรุปได้ว่า การลงทุนมหาศาล โดยอยู่ภายใต้มหาศาลแห่งอัตภาพนั้น ก็สามารถเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ ภายใต้การนำหลักคำสอนของ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” ไปใช้เช่นกัน

นี่คงเป็น “ความย้อนแย้งของความพอเพียงสีอมเหลือง” (Paradox of Yellowish Sufficiency) อีกประการหนึ่ง คือภายใต้คำว่าพอเพียง ที่อนุญาตให้สามารถตอบสนองกิเลสได้ไม่จำกัด หากยังเป็นการใช้กิเลสตามวิถีพอเพียงนี้ ดูจะช่างขัดกับความรู้สึก ที่มีต่อคำว่าพอเพียงในความหมายเดิมๆ ที่หลายๆคนคุ้นเคยอยู่ค่อนข้างมาก

และเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอีกประการหนึ่งว่า แล้วที่ผ่านมา บรรดานักลงทุนทั้งหลายนั้น พวกเขาไม่ได้ดำเนินการลงทุนไปในรูปแบบนั้นที่ตรงไหน

ทีนี้...จะเข้าถึงปัญหาที่ยังไม่มีใครให้ความกระจ่าง

ดังกล่าวมาแล้ว เราก็จะเห็นว่า หลักคำสอนของ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” นั้น เปิดโอกาสให้คนทำการสะสมทรัพย์ ให้เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆได้ตามที่อัตภาพของแต่ละคนจะอำนวย

จึงเกิดความสงสัยแก่ตัวผมเองว่า ในภาวะที่อัตภาพของแต่ละคนมีความมากน้อยแตกต่างกัน และบางคนน้อยนิดจนถึงขั้นติดลบ หากดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของ “ศาสนาเศรษฐกิจพอเพียง” แล้วจะมีสิ่งใดเพิ่มขึ้น สิ่งใดคงอยู่ และสิ่งใดหายไป

แน่นอนว่า หากคิดตามรัฐประหารบาลเน้นอ้าง คงตอบได้ว่า สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มขึ้นก็คือ “ดัชนีความสุขประชาชาติมวลรวม” หรือ “GNH: Gross National Happiness” ซึ่งยอมรับกันเถิดว่า มันเป็นดัชนีที่ยากจะหาตัวแปรใดใด ที่กินความกว้างไกลเพียงพอจะครอบคลุม ว่าตัวแปรเหล่านั้น คือสิ่งที่เป็นความสุขเดียวกันของคนทุกคน เพราะความสุขนั้น เป็นตัวแปรที่มีความเป็นนามธรรมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรามักเน้นย้ำว่า “สุขที่แท้คือทางใจ หาใช่ทางวัตถุ” ก็ยิ่งค้นหาความเป็นรูปธรรมแทบไม่ได้เลย จึงมิต้องคิดหาตัวแปรสากลมาใช้คำนวณ

ผมมีความสุข...คุณมีความสุข
แต่ความสุขของเราไม่จำเป็นจะต้องใช่สิ่งเดียวกัน...

อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้น ก็คงเป็นเรื่องราวของความมั่นคงในชีวิต เขาอาจจะบอกได้ว่า ก็ความมั่นคงในชีวิตนั่นเอง ที่ล้วนเป็นความสุขที่ทุกคนแสวงหา แต่ก็อย่าลืมว่า ภายใต้ความสุขเดียวกันนั้น เราต่างก็อาจมีโครงสร้างของความสุขที่ต่างกัน ซึ่งผู้สนับสนุน “ศาสนาใหม่” นั้นก็คงบอกว่า ก็นำแนวคำสอนไปใช้สิ สุดท้ายแล้วเราก็จะมีความสุขเหมือนกัน

แม้จะแลดู เอียงฟังแล้วเหม็นฉี่ ฉี่ของกัลลิเวอร์ผู้มุ่งดับไฟให้เมืองคนจิ๋วด้วยฉี่ อันส่อแสดงถึงการเน้น Product มากกว่า Process ไม่เกี่ยงวิธีการ ขอเพียงให้บรรลุซึ่งผลลัพธ์ได้เป็นพอ อย่างที่คุณทักษิณชอบทำ (จนเกือบจะชอบธรรม) ก็คงไม่เหม็นมากมายนัก แล้วแต่ว่าใครจะได้กลิ่น แล้วเอามาเป็นนาสิกสาระหรือไม่ ซึ่งผมเองก็พอเข้าใจ เพราะบางครั้งผมก็จำต้องฉี่เพื่อการนั้นเช่นกัน

ทีนี้ ในเรื่องของสิ่งที่คงอยู่ ผมจะขออธิบายเป็นสมการง่ายๆ ตามความสามารถของสมองโง่ๆ

ให้ Xm เป็นอัตภาพของคนๆหนึ่ง และ Yn เป็นอัตภาพของคนอีกคนหนึ่ง

ภายใต้การสะสมทรัพย์แบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” ผมขอสรุปเป็นสูตรง่ายๆ ว่าสูตรจะเป็น Xm + m และ Yn + n โดยที่ m และ n แสดงส่วนเพิ่มการสะสมทรัพย์ให้เพิ่มพูนตามอัตภาพ และกำหนดให้มีค่าเท่ากับ 0, 1, 2, 3,…

และภายใต้แนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง เราย่อมต้อง +0, +1, +2, +3 ไปเรื่อยๆตามลำดับ

ซึ่งเรื่องราวคงจะฟังดูเข้าที และจะเข้าทีต่อไปเรื่อยๆ หากผมไม่บอกก่อนว่า จริงๆแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง Xm และ Yn คือ Xm > Yn

ดังนั้น ภายใต้รูปแบบการสะสมทรัพย์แบบเศรษฐกิจพอเพียง Xm + m ย่อมมากกว่า Yn + n อยู่เสมอ

นั่น...คือสิ่งที่จะยังคงดำรงอยู่
ความไม่เท่าเทียม...

และ...ย่อมนำมาซึ่งสิ่งที่หายไป (หรืออาจไม่เคยมีอยู่จริง??)
ความเท่าเทียม...

ในเชิงหลักการ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ซึ่งเรา (เขา) กล่าวอ้างกันว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ในภาวะที่สถานะสภาพของประชาชนแบ่งออกเป็นหลากหลายรูปแบบ ประชาชนเศรษฐีมหาเศรษฐี ประชาชนยาจก ประชาชนสามัญ ประชาชนแรงงาน ประชาชนมนุษย์เงินเดือน ประชาชนนักธุรกิจ ประชาชนเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนเจ้าหน้าที่เอกชน และประชาชนอีกมากมาย ตามแต่ว่าใครจะสามารถมีโอกาสเข้าถึงได้ในสถานะใด

โดยหากดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว แม้คนรวยจะสามารถรวยขึ้นเรื่อยๆ คนจนก็สามารถรวยขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งหนึ่งที่คงอยู่ และไม่ลดลงก็คือ “ช่องว่างแห่งความยากจน” (Poverty Gap) อันหมายถึงความเหลื่อมล้ำในระดับรายได้ หรือระดับความมากมายของทรัพย์สินสะสมที่แต่ละส่วนบุคคลไม่เท่ากัน

และสุดท้าย เราคงลืมไปไม่ได้ว่า สิ่งที่ส่อแสดงถึงสิทธิอันไม่เท่าเทียมกันในสังคมนี้ได้มากที่สุด ก็คือเงิน หรือสิ่งอื่นใดอันเป็นอัตภาพ อัตภาพที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ว่ามีมากกว่าแล้วเหนือกว่า

เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยตอบปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร...

แล้วไหนจะเรื่องของชาวบ้านห่างไกล คนชายขอบ หรือใครก็ตามที่เปล่าไร้ซึ่งที่ดินทำกิน เพียงคิดประกอบสัมมาอาชีพก็ยังต้องเช่าที่เช่าทางเขาทำ หรือแม้แต่คนสลัมในกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ที่มีรูปลักษณ์ราวพร้อมพังได้ในทุกห้วงลมหายใจสะอึก ในขณะที่คนอีกส่วนหนึ่ง สามารถมีบ้านหลายหลังไว้เปลี่ยนนอน หรือเพื่อรองรับการล่มสลายของระบบครอบครัวขยาย เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวแห่งตน หรือมีที่ดินว่างเปล่าเอาไว้เก็งกำไร

เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยตอบปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร...

ในกระแสลมจากชนชั้นบนของสังคม ที่โหมพัดกระหน่ำเอาความสุขสบายในการใช้ชีวิต อันเป็นผลจากการมีทรัพย์สินมหาศาล ที่แผ่พุ่งลงมาสู่ชนชั้นล่าง เป็นไปได้หรือว่า ภายใต้คำบอกที่ว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ชนชั้นล่างจะไม่อยากมี อยากสุข อยากสบายแบบนั้นบ้าง

นั่นคือความแตกต่างของอัตภาพใช่หรือไม่??

หรือจะบอกว่า นั่นเป็นหน้าที่ของชนชั้นล่าง ที่จะต้องต่อสู้กับกิเลส ตรัสรู้ด้วยตนเองว่า สุขสบายใดที่เกินไปซึ่งสมรรถภาพของอัตภาพตน และละลดซึ่งความกระหายอยากในความสุขสบายนั้น

คนบางคน...แค่อยากอิ่มยังไม่ได้อิ่มเลย
แค่ปัจจัยสี่ยังมีกันไม่ครบทุกคนเลย...

แลดูอย่างนี้แล้ว เศรษฐกิจพอเพียงจึงราวกับเป็นนโยบาย ที่ออกมาเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชนชั้น แต่เป็นการลดโดยให้คนทำใจยอมรับสภาพตน คนรวยก็เชิดหน้ารับชะตากรรมรวยๆของตนต่อไป ในทางเดียวกัน คนจนก็ต้องก้มหน้า แนบหน้ากับพื้นยอมรับชะตากรรมจนๆของตนเอาไว้ด้วยความเต็มใจ

นักวิชาการบางท่านอาจจะแย้งว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แบบนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนจนก็ต้องจนตลอดไป

ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นแบบนั้น แต่ลองคิดดูว่า ภายในสภาพสังคมที่ยังสามารถใช้เงินเป็นตัวแบ่งชนชั้น เราจะปฏิเสธได้หรือว่า ในความเป็นจริง (ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “สัจจะโลกาภิวัฒน์ธรรม” หนึ่ง) ภายใต้ความไม่เท่าเทียมกัน ที่มีระดับรายได้เป็นตัวจำแนก ความจนที่เกิดขึ้นนั้น หาได้ใช่ “ความจนสัมบูรณ์” (Absolute Poverty) ไม่ หากแต่เป็น “ความจนสัมพัทธ์” (Relative Poverty) คือมีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับจน เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น และในทำนองเดียวกัน ก็ย่อมมีคนที่มี “ความรวยสัมพัทธ์” อยู่เช่นกัน

ประโยคดิบๆในทำนองที่ว่า ก็อย่าไปเทียบกับคนอื่น เราก็อยู่อย่างพอเพียงของเรา คงเพียงพอแต่เพียงใช้เป็นตัวหนังสือให้กำลังใจ เพื่อให้คนบางประเภทใช้หลอกตัวเอง หลอกคนอื่นเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ภายใต้สภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานทั่วไป (สินค้าจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน) ที่ผันผวนไปมาโดยเป็นปฏิภาคในทางเดียวกันกับระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก ในสภาวะเงินเฟ้อ (หรือเพื่อให้ถูกต้องตามรูปลักษณาการแล้วควรเรียกว่า “ราคาเฟ้อ”) อันเกิดแต่การเสริมกันตามลำดับของ “การผลักดันของต้นทุน” (Cost-Push) และ “การฉุดดึงของอุปสงค์” (Demand-Pull) โดยเป็นผลจากการเหนี่ยวนำของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้น ย่อมเป็นสภาวการณ์ที่ทำให้ “ความรวย-จนสัมพัทธ์” เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

[Cost-Push: เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนในการผลิตสินค้าย่อมสูงตาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งระดับกำไรเป้าหมาย ภายใต้ราคาตลาดเท่าเดิม ผู้ผลิตย่อมจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิตลง (สินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิดอยู่ภายใต้การควบคุมราคาของรัฐ ผู้ขายไม่อาจขึ้นราคาเองตามใจชอบได้) เพราะหากยังคงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับเดิม และราคาตลาดเท่าเดิม ผู้ผลิตย่อมต้องประสบกับภาวะขาดทุน (หรืออย่างเบาบางที่สุด คือสูญเสียไปซึ่งกำไรเกินปรกติ และมีกำไรอยู่ที่ระดับกำไรปรกติ) นำมาซึ่งการลดลงของปริมาณการผลิต ยังผลสืบเนื่องเป็นการเกิดขึ้นซึ่งสภาวะเงิน (ราคา) เฟ้อจาก Demand-Pull: อุปทานสินค้าที่ลดลง นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของอุปสงค์ส่วนเกิน เป็นผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน]

ภายใต้สภาวะเงิน (ราคา) เฟ้อ ทุกๆครั้ง กลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดย่อมไม่พ้น “จนสัมพัทธ์ชน” ที่มีกำลังซื้อในระดับปรกติ หรือต่ำกว่าปรกติ แต่กลับต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงผิดปรกติ จนถึงขั้นเรียกได้ว่ามีราคาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง อันเป็นผลมาจากแรงเหนี่ยวนำดึงของปัจจัยเรื่องต้นทุนและอุปสงค์ดังกล่าว

และสิ่งหนึ่ง ที่หลายคนอาจจะไม่เคยคิดถึงก็คือ ในรูปแบบการจับจ่ายใช้ซื้อซึ่งสินค้าต่างๆนั้น มักมีนัยยะแฝงของการแบ่งแยกชนชั้น อันเป็นผลจากความแตกต่างของราคาในสินค้าชนิดเดียวกัน ที่กำเนิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ในการกำหนดราคาเพื่อแบ่งแยกตลาด ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ยาสระผมบางยี่ห้อเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะที่บางยี่ห้อ ใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นสูง หรือบางที ในกรณีชนชั้นสูง ยาสระผมที่ใช้อาจก็เป็นแบรนด์นำเข้าแบบที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านขายของชำ หรือร้านสะดวกซื้อ แต่ซื้อหาได้จากแหล่งสรรพสินค้าเฉพาะ ที่มีการจัดสรรสินค้าขาย โดยกำหนดจำแนกเอาจากระดับรายได้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก

ผมคิดว่า ลักษณะการบริโภคดังกล่าว น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “การบริโภคเชิงสัญญะ” แบบหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะประการหนึ่งของ “บริโภคนิยม” อันเป็นลักษณะที่ไม่น่าเป็นสิ่งพึงประสงค์หนึ่งของรูปแบบชีวิตพอเพียงเช่นกัน เพราะไม่ได้เป็นการบริโภคเพื่อการดำรงชีวิต หรือตามวัตถุประสงค์การใช้ของสิ่งถูกบริโภค หากแต่เป็นการบริโภคเพื่อแสดงอัตลักษณ์บางประการ

สิ่งมีชีวิตชนิดคน ที่ใช้ชีวิตการทำงานอยู่ใต้ร่มตึกเงาแอร์ ตกติดอยู่ภายใต้มายาคติที่ว่า ภาพลักษณ์ภายนอกอันดูดีนั้นเป็นสิ่งดึงดูดหนึ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ ย่อมมีความต้องการใช้ยาสระผม ที่นำมาซึ่งสุขภาพผมที่ดี นำมาซึ่งสภาพผมเงางาม ซึ่งเราปฏิเสธยาก ว่ามันเป็นคุณสมบัติที่สามารถมากับยาสระผมที่มีราคาสูง

หากมองภายใต้ความคิดที่ว่า ความเงางามสละสลวยแห่งสภาพผมนั้น เป็นสุขภาพดีอันพึงมีประการหนึ่งแห่งชีวิต แล้วเหตุใด สิ่งมีชีวิตชนิดคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ทำงานตรากตรำ ติดกรำอยู่กลางแจ้ง จะต้องสิ้นสิทธิ์ในการทำการดูแลอัตสุขภาพในส่วนนั้น ด้วยไม่อาจข้ามผ่านกำแพงราคา ไปสู่สินค้าที่มีความเหมาะสม ในการดูแลตนในส่วนนั้นได้

ด้วยเหตุผลเชิง “สัมบูรณ์-สัมพัทธ์แห่งความรวยจน” ดังกล่าว ผมจึงเชื่อว่า ตราบใดที่อัตภาพตั้งต้นยังไม่เท่าเทียมกัน ความรวยความจนก็จะยังคงอยู่ต่อไป และมีอุปลักษณ์ดั่งน้ำกับน้ำมัน คือย่อมแยกชั้นกันอย่างชัดเจน ไม่มีวันเข้ารวมเป็นเนื้อเดียวกันได้

บอกตรงๆเลยว่า ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาด้วยความเคารพ (แม้จะไม่รัก) เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมสนับสนุนแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ ซึ่งผมพูดมาตั้งแต่ต้นๆแล้ว พูดมาก่อนการรัฐประหาร ว่าผมชอบมัน เพราะมันน่าจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด อันเกิดจากการที่ร่างกายของผม หรือหลายๆคนตกอยู่ในสภาวะ “ร่างกายใต้บงการ” อันเกิดจากการชักเชิดของระบบ ให้ขยับแย่งแข่งขันกันไป จนอาจนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวที่มากเกินพอดีไปของชีวิต จนร่างกายส่งแสดงสัญญาณเตือนออกมาในรูปความตึงเครียด (ในระดับร่างกายอย่าง Tension หรือถึงระดับสมองอย่าง Stress) ผมจึงรู้สึกชอบใจในแนวนโยบายดังกล่าว และทำให้ผมเกิดความยินดี ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ผู้ทรงประกาศ ว่าทรงสมเป็นอัจฉริยะกษัตริย์แห่งสยามประเทศยิ่งนัก

แต่โปรดเถิดใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท...

หรือใครก็ตามที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยตอบผมที เราควรจะมีความเท่าเทียมกันที่มากกว่านี้ ก่อนจะรับใจเชื่อ และปฏิบัติตามศาสนาใหม่ของบ้านเรานี้ใช่หรือไม่

หรือผมต้องถวายบทความนี้เป็นฎีกา??

บางที บทความนี้อาจจะสิ้นสลายคุณค่า หรือสูญสิ้นความหมายใดใดไปสิ้น ถ้าถูกตอบโต้มาด้วยคำบอกกล่าวที่ว่า ก็ไม่ได้บอกให้ต้องทำทุกคน ขอแค่หนึ่งในสี่ของประเทศ หรือใครที่สามารถทำได้ก็ทำ ใครที่ยังทำไม่ได้ ก็ยังไม่ต้องทำ

ถ้าว่าอย่างนั้น...ใครทำอะไรก็คงเรียกได้ว่าพอเพียงไปสิ้น
เพราะต่างก็ปฏิบัติอย่างเหมาะสมแก่อัตภาพตน...

จนอาจหลงลืมกันไปว่าในความเป็นจริงแล้ว...
แค่พอเพียง...อาจจะไม่เพียงพอ

“เฮ้ย!!” ทาโร่ร้อง ผมสะดุ้ง

“อะไรวะ?”

“กูอิ่มแล้ว มึงสนมั้ย?”

“ไม่ล่ะ” ผมปฏิเสธ “กูไม่กินอ้วก”

“ภายใต้กระเป๋าสตางค์ที่โล่งว่างของมึง เพราะหาเงินได้ไม่พอแดก แม้แต่แดกอย่างประหยัดเพื่อพออยู่ก็ยังไม่พอแดก หลังจากอ้วกทุกอย่างออกไปหมด และเริ่มหิว มึงคิดว่ามึงจะทำยังไง?”

ผม...มองไปที่กองอ้วกที่เหลืออยู่อย่างครุ่นคิด
หรือจะลองพอเพียงดู??
มัน...จะเพียงพอหรือไม่อย่างไรกัน??


Comments:
"..แลดูอย่างนี้แล้ว เศรษฐกิจพอเพียงราวกับเป็นนโยบาย ที่ออกมาเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชนชั้น แต่เป็นการลดโดยให้คนทำใจยอมรับสภาพตน คนรวยก็เชิดหน้ารับชะตากรรมรวยๆของตนต่อไป ในทางเดียวกัน คนจนก็ต้องก้มหน้า แนบหน้ากับพื้นยอมรับชะตากรรมจนๆของตนเอาไว้ด้วยความเต็มใจ..."

ชอบบทสรุปนี้จังครับ...แอบตามอ่านมานานแล้ว ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น แต่อ่านบทนี้แล้ว ต้องขออนุญาต ยกนิ้วโป้งให้สี่หัวเลย ว่ามันแจ่มมากมาย

ขอถือวิสาสะ กระโดดเข้าไปยืนข้างเดียวกับคุณปราชญ์ เพราะพวกผมเป็นกลุ่มหนึ่งที่นึกสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เหมือนกัน แต่ภายใต้คำถาม และความกังขาหลายข้อที่ไม่สามารถคิด และเขียนบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้...

คำถาม และข้อกังขาที่ว่า เริ่มแสดงอาการรุนแรง ส่งผลกระทุ้งกบาลจนปวดหนึบ ความวิงเวียน และคลื่นเหียนมีมาเป็นระยะ นับแต่โรคดีซ่าน ระบาดหนักในหมู่คนไทย ตั้งแต่ต้น ๆ ปี

จนสุดท้าย เริ่มสบายตัวขึ้น เมื่อได้อ๊วกเพื่อสำรอกบางอย่างทิ้งไปบ้าง หลังจากได้ทราบว่าบรรดาสาวก "นักวิชาการ" (อวุโสเสียส่วนมาก) อยากให้มหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก "สาขาวิชา เศรษฐกิจพอเพียง" ?!

ถ้าไงจะขออนุญาตเอาข้อเขียนนี้ ไปบอกต่อ และเขียนแนะนำให้เพื่อน ๆ ที่สนใจเข้ามาอ่านที่นี่บ้างนะครับ :)

อย่างไรก็ตาม เมื่อ "ศักดินา" "ชนชั้น" กับ "ความไม่เท่าเทียม" ยังคงเป็นสิ่งที่มีอยู่ และดำรงอยู่ในทุก ๆ สังคม ไม่ว่าสังคมนั้นมันจะเลิศหรู สะดวกสบายปานอยู่ในสวรรค์ หรือ เลวทราม และทารุณดังอยู่ในนรก แล้วเราจะคาดหวังอะไรได้เล่ากับเรื่องของชนชั้น และความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้น ระหว่างสังคมทั้งสอง ?

ด้วยมิตรภาพครับ :)
 
สภาพ "จิต" ของสังคมเป็นอย่างนี้
ถืงไม่มีเรื่องสีเหลือง หรือเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
ก็ต้องมี เรื่องอื่นๆให้จับแทนอยู่ดี
อย่างเมื่อก่อน ก็อ้วกกับคำว่า"โลกาภิวัฒน์" ไปทีแล้ว
 
เห็นด้วยอย่างมากกับประเด็นที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงมันก็คือแนวทางที่สอดคล้องไปกับพุทธศาสนา (โดยเฉพาะเรื่องสติ) ผมไม่เคยได้ศึกษาทั้งสองปรัชญานี้อย่างจริงๆ จัง ๆ (เป็นนักเศรษฐศาสตร์งูๆปลาๆ และเป็นพุทธศาสนิกชนชั้นเลว)แต่มีความรู้สึกได้ว่าเมื่อสาวไปจนถึงต้นตอ หรือแก่นของความคิด มันคงมีอะไรที่คล้ายกันมากๆ เหมือนเป็นญาติกัน

จริงอยู่เรื่องความไม่เท่าเทียมอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ผมเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งทียังไงก็ไม่มีวันขจัดไปหมดได้ และเมื่อเราเลือกเกิดไม่ได้เช่นกันว่าจะเกิดมาในสถาวะทรัพยากรแสนจำกัด(จน) หรือเหลือเฟือ(รวย)ทั้งแนวความคิดของเศรษฐกิจพอเพียงและพุทธศาสนาต่างก็มุ่งให้คนเรามีความสุขกับมันให้ได้ จากนั้นจึงค่อยหาโอกาส(ที่ก็ย่อมมีไม่เท่าเทียมอีกเช่นกัน) พัฒนากันไปตามที่สติและความสามารถพึงมี

ติดตามอ่านมาหลายความเรียงแล้วตั้งแต่ที่ไหมแนะนำมา เพิ่งจะมีจังหวะเข้ามาแชร์ความเห็น ผมชอบตรงที่มีอารมณ์และบรรยากาศดิบๆ แทรกเข้ามาเรื่อย และผมก็ว่าชิ้นนี้เขียนมีประเด็นชัดเจนออก ไม่เห็นเหมือนที่บอกไว้ตอนต้นว่าจับประเด็นไม่ได้เลย

ไว้มีโอกาสแล้วคุยกัน

ชวน 41
 
Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?