Tuesday, December 19, 2006

 

หมีมองคน: “Quotation Ethics”; จรรยาการ “Quote” - “ให้เกียรติ”, “หวาดกลัว” หรือ “หาพวก”

บอกกันก่อนเลยว่า “Quotation Ethics” (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “จรรยาการ Quote”) นั้นเป็นคำที่ผมสร้างขึ้นเองเพื่อใช้ในข้อเขียนนี้

ในแวดวงวิชาการ (ทั้งการเขียนและการพูด) นั้น ทุกๆท่านคงคุ้นเคยกับจรรยาการ “Quote” หรือ “Quotation” อันหมายถึงการยกคำกล่าวของผู้อื่นมาอิงอ้าง โดยมีการกล่าวระบุว่า คำกล่าวนั้นเป็นของใคร กันเป็นอย่างดี

ยกมาทั้งดุ้นก็บอกว่า ใครคนนั้น “กล่าวว่า” แต่หากใช้การ “ถ่ายความ” (Paraphrase) ก็จะบอกว่า “ใครคนนั้น” กล่าวไว้ “เป็นความว่า”

หรือแม้ไม่ใช่แวดวงวิชาการ เพียงในรูปแบบการสนทนาทั่วๆไป สนทนาในเรื่องราวต่างๆ หรือในการทำปัญหาภิปราย ก็ยังคงมีจรรยาในการ “Quote” แฝงอยู่ แม้กระทั่งในบางครั้ง ผู้กระทำการ “Quote” ไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่าที่ตัวเองกำลังกระทำนั้น เรียกว่าการ “Quote”

ซึ่งหากเป็นการพูดแล้ว บางครั้งมีการใช้ภาษากายในการ “Quote” โดยใช้สองมือ ชูมือละสองนิ้ว (นิ้วชี้และนิ้วกลาง) ขึ้นประกบข้างขมับ แลไปคล้ายทำท่าเสมือนกระต่าย ผิดแผกตรงที่เราจะผงกนิ้วทั้งสองระริกรัว เร็วช้าต่างกัน มองแล้วเห็นเป็นเสียง “กริ๊กๆ” หรือ “กรึ๊กๆ” (นี่ผมเห็นเองนะ)

ด้วยส่วนตัวแล้วตัวเองเป็นคนใส่ใจใน “แรงจูงใจ” ของการกระทำมากกว่า “ตัวการกระทำ” ที่แสดงออกมา ผมจึงตั้งกังขาขึ้นมาว่า ในกรรมจรรยาว่าด้วยการ “Quote” นั้น แท้จริงแล้ว มีแรงจูงใจใดเป็นตัวขับหลัก

เท่าที่คิดออกได้ในตอนเริ่มเขียนนี้...มีสามแรงจูงใจดังหัวเรื่อง
เดี๋ยวเขียนไปเรื่อยๆอาจงอกมาอีก...

รูปแบบแรกที่หาเจอ คงยากจะเรียกเป็นแรงจูงใจ แต่คงดูเข้าทีกว่าหากจะเรียกว่าเป็น “เหตุผล” ว่า เป็นการ “Quote” เพื่อให้เกียรติแก่ตัวผู้เป็นเจ้าของคำพูด ว่า “ใครคนนั้น” เป็นผู้พูดคำ, วลี หรือประโยคใดใดที่ตัวผู้เขียนยกมากล่าวอ้างนั้นเป็นคนแรก

ผลจากแรงจูงใจรูปแบบแรกที่ผมค้นพบ นำมาซึ่งแรงจูงใจอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการ “Quote” นั้นไม่ได้เป็นเพียง “จรรยา” ในการเขียนอ้าง หากแต่การที่ต้องให้เกียรตินั้น ได้กลายมาเป็น “กฎ” (Rule) หนึ่งในการเขียนอ้าง เรียกว่าเป็น “Quotation Ethics” ภายใต้เงื่อนไข “ความหวาดกลัว”

ด้วยว่า หากไม่ทำการ “Quote” แล้ว อาจต้องตกเป็นเหยื่อของกฎหมายลิขสิทธิ์ ว่าด้วยการนำปัญญา (ในรูปคำพูด) ของคนอื่นมากล่าวอ้างโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งแม้บางครั้งไม่ได้ถึงขั้นเกิดเป็นคดีความตามกฎหมาย แต่อย่างเบาๆเบื้องต้นก็คือ ได้รับผลตรวจเป็นสอบตก จากใครก็ตามที่ตั้งแท่นอยู่บนฐานะเสมือนบรรณาธิการผู้ต้องอ่านความงานนั้นๆ (อาจารย์ผู้อ่านรายงาน รายงานวิชาสัมมนา วิทยานิพนธ์ หรือแม้กระทั่งเพื่อน หรือใครก็ตามที่แวะเวียนมาอ่าน) หรือตกมาตรฐาน ในเรื่องของการมีคุณสมบัติหนึ่งว่าด้วยการเป็น “งานเขียนที่ดี”

ผมเชื่อว่า เมื่อ “จรรยา” กลายเป็น “กฎ” แล้ว ผลบังคับใช้ของมันย่อมสูงกว่า เพราะเมื่อมีการล่วงละเมิดเกิดขึ้น “กฎ” มีผลลงโทษที่เป็นรูปธรรม และสัมผัสเห็นได้ชัดเจนกว่าความน่าละอาย ยามไม่ได้ปฏิบัติในสิ่งซึ่งเป็น “จรรยา”

ในความหวาดกลัวดังกล่าว นอกจากจะมองว่าเป็นความหวาดกลัวเนื่องจาก “กฎ” แล้ว ผมยังมองว่า เป็นความหวาดกลัว (ในบางคน) ว่าตัวเองอาจจะ “พูด” หรือ “เขียน” ผิด จึงต้องอ้างเอาว่าสิ่งที่ “เขียน” หรือ “พูด” นั้น เป็นการสืบทอดความคิดมาจากผู้อื่น หาได้คิดค้นขึ้นเองไม่ ซึ่งลักษณะความกลัวผิดนี้มักพบได้จากท่าทีการพูดอันประนีประนอม ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่ความกลัวที่จะต้องผิด แต่เป็นไปเพื่อความนุ่มนวลของวงสนทนา ซึ่งคงมีแต่ตัวผู้พูด ที่รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่

แต่หากเป็นไปเพราะกลัวผิด ผมขอวิเคราะห์ว่า เป็นไปเพราะหนึ่ง ผู้ Quote กำลังไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเอง Quote อันอาจเป็นผลมาจากความตระหนักแก่ใจ ว่าตนนั้นไม่ได้รู้ลึกรู้จริง หรือสอง เพราะคู่หรือวงสนทนานั้นกำลังมีอิทธิพลทางความคิด และเหตุผลที่หนักแน่นกว่า การ Quote ของผู้ Quote จึงเป็นไปอย่างกลัวๆกล้าๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จิตวิเคราะห์ดังกล่าวก็เป็นไปเพียง “จิตวิทยาประสบการณ์” ของผมที่สั่งสมมา ไม่ใช่ “จิตวิทยาวิชาการ” (เพราะไม่เคยเรียน) ดังนั้น จึงอาจเป็นไปเพียงตามตรรกะ Enneagram คน 6 ของผม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นสัจจะอันเป็นนิรันดร์

แต่อย่างน้อย การ “Quote” ก็อาจจะเป็นหนทางง่ายๆหนทางสุดท้าย ในการเอาตัวรอดจากการ “พูด” หรือ “เขียน” ผิดไปได้ โดยบอกว่าตนก็ไม่รู้ แต่คนๆนั้น (ผู้ถูก “Quote”) พูดอย่างนั้น ซึ่งผลอีกประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ตัว “ผู้ Quote” ย่อมเสียความน่าเชื่อถือไป

และประการหนึ่งซึ่งจะลืมไปมิได้ คือเมื่อการ Quote ถูกโยงเข้ากับความกลัว ย่อมเป็นไปได้ ที่มันจะฝังลงไปในสัญชาตญาณ ทำให้การ Quote นั้นเป็นไปโดยสัญชาตญาณ ซึ่งมิได้ผ่านกระบวนการการคิดใดใดทั้งสิ้น เพราะความกลัวนั้นก็เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์

อีกประการหนี่งที่ลืมไปมิได้ (งอกออกมาพอดี) นั่นคือการ “Quote” เพื่อทำลายหรือล้มล้างคำที่ “ถูก Quote” นั้น ซึ่งในรูปแบบการ “Quote” ดังกล่าว จำต้องใช้ปัญญาในการถอดรื้อสิ่งที่ “ถูก Quote” และผมเชื่อว่าหากใช้ปัญญาและเหตุผลกันจริงๆ การ “Quote เพื่อทำลายสิ่งที่ถูก Quote” นั้น อาจนำมาซึ่งการก่อเติมเสริมสร้างต่อปลายความคิดอื่นๆต่อไปได้

ผมคงเกริ่นนานไปแล้ว...

ที่อยากพูดจริงๆก็คือ การ “Quote” เพื่อเป็นการ “หาพวก”

โดยมากแล้วผมมักจะพบการ “Quote” ในลักษณะดังกล่าวจากการพูด โดยผู้พูดมักพูดโดยอ้างเอาคำของนักวิชาการ หรือนักคิดต่างๆ หรือแม้แต่คนที่ตนรู้จักมาพูด พระพุทธเจ้ากล่าวว่า พระเยซูกล่าวว่า นิตท์เช่กล่าวว่า มาร์กซ์กล่าวว่า เม่งจื๊อกล่าวว่า เล่าจื๊อกล่าวว่า โมกเจี๊ยว (??) กล่าวว่า ใครก็ไม่รู้กล่าวว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสว่า...
อะไร...ทำนองนั้น

ตลกที่สุดคือบางคนเอาคำของปราชญ์ วิปลาสมาสอนปราชญ์ วิปลาส โดยลืมไปว่าผมเองที่เป็นคนพูดกับเขา แล้วเขาก็เอามันมาพูดกับผมโดยหวังจะสอนผม ด้วยท่าทางที่คิดว่าคำพูดนั้นมันเจ๋ง พูดแล้วหล่อ ประหนึ่งตัวเขาคิดมันได้เองและพูดมันออกมาเอง ผมเองไม่ได้ใส่ใจอะไรที่เขาไม่ Quote และไม่ได้คิดด้วยว่าที่ตัวเองเคยพูดไปนั้นมันหล่อ แต่มันตลกตรงที่พอผมบอกว่า “มึงคิดเหมือนกูเลย!!” แล้วเขาทำหน้าเหมือนกับนึกออก ว่า “โอ๊ะ!! มึงนี่หว่าที่สอนกูไป”

ผมเชื่อว่า ในการยกอ้างนั้น ย่อมเป็นไปได้ที่เขาจะอ้าง เพื่อบอกว่าตัวเองกำลังคิดเชื่ออย่างไร แต่แน่นอนว่ามีอีกไม่น้อย ที่อ้างเพื่อหาพวก หาพวกมาช่วยรุมเพื่อเอาชนะ โดยเชื่อว่าปราชญ์นักคิดเหล่านั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีความคิดที่ถูกต้อง และน่าจะสร้างน้ำหนักให้กับคำพูดของตัวผู้อ้างได้ และโดยไม่ทันได้คิดไปว่า ตัวผู้ถูก Quote นั้น อาจเพียงคิดความนั้นมาเพื่อแสดงทรรศนะส่วนบุคคล ไม่ได้เพื่อฟาดฟันเอาชนะกับใครแต่อย่างไร ซึ่งการอ้างเพื่อเอาชนะนั้น ถือเป็นการใช้เครื่องมือผิดวัตถุประสงค์หลักวิธีหนึ่ง และเป็นการไม่เคารพต่อผู้พูดได้อย่างน่ารังเกียจที่สุด

ผมว่า...พระราชดำรัสคงโดนบ่อยสุด

ก็ไม่ได้บอก ว่าการอ้างในลักษณะดังกล่าวนั้นผิดถูกแต่อย่างใด เพราะมันเป็นความต้องการแย่งชิงพื้นที่การปกครองของตน การที่คนผู้หนึ่งมุ่งมั่น และเชื่อว่าความคิดของตนถูกต้อง และอยากให้ผู้อื่นเชื่อตาม การที่ผู้อื่นไม่เชื่อตาม ย่อมหมายถึงเขาได้สูญเสียพื้นที่การปกครองทางความคิด หรือแม้กระทั่งต้องสูญเสียพื้นที่ของความเคารพ ในความคิดเชื่อของตัวเองไป

แม้ข้อเขียนนี้อาจจะแลดูเลื่อนเจื้อน ล่องลอยในเชิงประเด็นเนื้อหาไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร พึงรู้สักนิด ว่ากำลังทำ “เพราะอะไร” และกำลังทำ “เพื่ออะไร”

เพราะนั่นไม่เพียงจรรยาของการ Quote แต่น่าจะเป็นจรรยาของการกระทำใดใดก็ตาม ที่พึงมีโดยถ้วนทั่วทุกตัวคน

“แล้วมึงล่ะเบิร์ด?” เสียงไอ้ทาโร่ลอยมา “มึ้งโขดถ่ำพรื่อ?”

โดยส่วนตัว ผม Quote ด้วยเหตุผลสองประการ คือหนึ่ง เพื่อบอกว่าผมเห็นด้วยกับความคำดังกล่าวนั้น และสอง เพื่อบอกว่าผมมีความคิดแบบเดียวกับเจ้าของคำความนั้น โดยผมจะลงท้ายคำ Quote ไปเลยว่า ผมคิดเช่นนั้นมาก่อนที่จะเจอความคำดังกล่าว เพื่อไม่ให้ไอ้บ้าที่ไหนมาบอกได้ว่า ผมเอาคำคนอื่นมาพูด ทั้งๆที่จริงๆผมคิดเช่นนั้นมาก่อนจะได้ยินคนอื่นพูด

ถามว่าเพื่ออะไร อะไรคือเหตุผลของเหตุผลประการที่สอง คำตอบก็คือ ผมยังคงมีอัตตา อัตตาที่ต้องการคงไว้ซึ่งพื้นที่ในการปกครองตัวเอง คงไว้ซึ่งพื้นที่ความเชื่อที่ว่า “คิดก่อน” หรือ “คิดหลัง” ย่อมไม่สำคัญเท่า “คิดได้”

“เข้าใจบ่?”

Comments: Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?